Tuesday, 16 April 2024
THE STUDY TIMES

‘CEO ปตท.’ คว้ารางวัลวิศวกรผลงานโดดเด่น จากสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี

เมื่อไม่นานมานี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) รับรางวัล Outstanding Engineer Award จาก ดร.ประเสริฐ  สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะวิศวกรที่มีผลงานโดดเด่นและน่ายกย่องในวิชาชีพวิศวกรรม รวมถึงการทำประโยชน์ต่อสังคม และส่งเสริมการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับด้านไฟฟ้าและพลังงาน ในงาน IEEE PES Dinner Talk 2023 ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) หรือ IEEE Power & Energy Society (Thailand) 

นอกจากนี้ นายอรรถพล ยังได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ การตอบสนองความต้องการด้านพลังงานในโลกที่ไม่หยุดนิ่ง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านนโยบายและทิศทางการพัฒนาพลังงานแก่ผู้เข้าร่วมงานอีกด้วย

‘ปตท.’ รับรางวัลสาขาความเป็นเลิศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน จากเวที ‘Thailand Corporate Excellence Awards 2023’

เมื่อไม่นานมานี้ นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล Thailand Corporate Excellence Awards 2023 ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) โดยมี นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน เป็นผู้แทน ปตท. เข้ารับรางวัลในสาขาความเป็นเลิศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Excellence) รางวัลดังกล่าวได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่องค์กรที่มีความเป็นเลิศทางด้านการบริหารจัดการในสาขาต่าง ๆ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ ปตท. ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย ตลอดจนดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป

กลุ่ม ปตท. จุดพลัง ‘สุดยอดนักขาย’ และ ‘สุดยอดไอเดียการตลาด’ มอบรางวัล ‘Young Influencer Challenge Thailand 2023’

เมื่อไม่นานมานี้ ณ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ นางกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานใน พิธีประกาศผลและมอบรางวัลโครงการ ‘Young Influencer Challenge Thailand 2023 : ชวน U สร้างรอยยิ้ม’ ภายใต้ความร่วมมือของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เทลสกอร์ จำกัด และ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีระยอง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เพื่อนำความรู้จากสถาบันการศึกษามาใช้วางแผนการตลาดให้กับสินค้าชุมชน และแข่งขันจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนในโครงการชุมชนยิ้มได้ ซึ่งมีเยาวชน 30 ทีม จาก 10 มหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการฯ โดย ปตท. และผู้สนับสนุน ร่วมมอบเงินรางวัลรวมมูลค่า 65,000 บาท เพื่อเป็นกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานของนิสิต นักศึกษา

นางกนกพร รอดรุ่งเรือง กล่าวว่า โครงการ ‘Young Influencer Challenge Thailand 2023 : ชวน U สร้างรอยยิ้ม’ เป็นกิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงพลังและปลุกไอเดียความคิดสร้างสรรค์ พร้อมนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้พัฒนาแผนการตลาดจำหน่ายสินค้าชุมชนในโครงการ ‘ชุมชนยิ้มได้ โดย กลุ่ม ปตท.’ ผ่านช่องทางออนไลน์ สร้างประสบการณ์จริง ซึ่งตลอดการแข่งขันในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เยาวชนทั้ง 30 ทีม กว่า 137 คน จาก 10 มหาวิทยาลัย ได้แสดงศักยภาพในการสื่อสารการตลาดทางออนไลน์ให้กับสินค้ากับชุมชน โดยศึกษาอัตลักษณ์สินค้าชุมชนร่วมกับชุมชนเจ้าของสินค้านั้น ๆ อย่างจริงจัง จนมาสู่การวางแผนการตลาด ทำให้สามารถสร้างรายได้ในการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทาง www.ชุมชนยิ้มได้.com รวมเป็นเงิน 547,048 บาท ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน ส่งเสริมให้สินค้าชุมชนในโครงการฯ เป็นที่รู้จักแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น 

อีกทั้ง เยาวชนยังได้มอบความรู้ทางการตลาด และสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนในการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ ขณะเดียวกัน โครงการฯ นี้ยังเป็นการจุดประกายความตระหนักในบทบาทของเยาวชนไทยในการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนยั่งยืนได้ พร้อมเป็นกำลังที่สร้างอนาคตของชาติต่อไปด้วย

สำหรับรางวัลในการแข่งขันโครงการ Young Influencer Challenge Thailand 2023 ประกอบด้วย รางวัลสุดยอดนักขาย (Best Seller Award) จำนวน 5 รางวัล โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มอบรางวัลทีมที่ยอดจำหน่ายสูงสุด มูลค่า 25,000 บาท และมอบ รางวัลสุดยอดไอเดียการตลาด (Best Idea Award) จำนวน 1 รางวัล มูลค่า 5,000 บาท ซึ่งมีการประชันไอเดียจาก 4 ทีมที่มีแผนการตลาดโดดเด่น โดยไม่เกี่ยวกับยอดขาย เพื่อตัดสินรางวัลภายในพิธีฯ โดยมีรายชื่อทีมผู้ชนะ ดังนี้

รางวัล Best Seller Award :  
• รางวัลชนะเลิศ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สินค้า ‘Mango Cornflake Cookie’ จ.สระบุรี 
• รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 : มหาวิทยาลัยศิลปากร สินค้า ‘หมี่กรอบน้ำมะดันผสมธัญพืช’ จ.นครนายก
• รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สินค้า ‘กล้วยเส้น’ จ.เลย
• รางวัลชมเชย (2 รางวัล) : มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สินค้า ‘กระเป๋าสานกระจูดหูยาว’ จ.ระยอง
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สินค้า ‘น้ำผึ้งแท้จากดอกลำไย’ จ.เชียงใหม่  

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันในโครงการนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่สามารถส่งเสริมการขายสินค้าชุมชนด้วยไอเดียการตลาดที่สอดรับเทรนด์การขายสินค้าออนไลน์ ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งช่องทางและแผนการตลาดที่พัฒนาผ่านโครงการฯ ครั้งนี้ สามารถส่งต่อแก่ชุมชน เพื่อส่งเสริมการขายและเป็นช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าในอนาคตได้ นับเป็นความภาคภูมิใจขององค์กรที่ได้สนับสนุนพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงฝีมือ และพร้อมที่จะผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรเพื่อเป็นพลัง ในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” นางกนกพร กล่าว

๗ ธันวาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

วันนี้ถือเป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทยอีกวันหนึ่ง โดยเป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ซึ่งปีนี้ทรงเจริญพระชันษา 45 ปี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในหลากหลายด้าน ทางด้านกฎหมาย ทรงส่งเสริมหลักการยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะสตรีและผู้ต้องขังหญิง อีกทั้งส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมในระดับนานาชาติ โดยทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมและระบบงานยุติธรรมทางอาญา สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ

อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจอันเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทย โดยทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ด้วยวัตถุประสงค์ในการบรรเทาความเดือดร้อน ตลอดจนช่วยเหลือประชาชนคนไทย ทั้งในยามประสบภัยพิบัติ และส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

เนื่องด้วยเป็นวันคล้ายวันประสูติ ขอพระองค์ทรงมีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เป็นมิ่งขวัญของประชาชนคนไทยสืบไป ทรงพระเจริญ

5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ

5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และภายหลังการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เรื่อง กำหนดวันสำคัญของชาติไทย มีใจความสำคัญให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติไทย ดังนี้ 

1. เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

2. เป็นวันชาติ 

3. เป็นวันพ่อแห่งชาติ

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป 

‘5 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ประชาชนคนไทยยังคงน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันประเสริฐ และเทิดทูนพระองค์ด้วยความรัก ความศรัทธา โดยตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

‘5 ธันวาคม เป็นวันชาติไทย’ แม้โดยทั่วไปมักจะหมายถึง วันเฉลิมฉลองที่ประเทศนั้น ๆ ได้รับอิสรภาพ เป็นเอกราช หรือเป็นวันสถาปนาประเทศ รัฐ ราชวงศ์ วันพระราชสมภพของกษัตริย์ วันเกิดประมุขของรัฐ หรืออาจจะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ แต่มักจะถือเป็นวันหยุดประจำของชาติ ซึ่ง ‘วันชาติ’ ของแต่ละประเทศจะเป็นวันใดขึ้นอยู่กับการกำหนดของประเทศนั้น ๆ โดยความเป็นมาของวันชาติไทยนั้น แต่เดิมกำหนดให้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน โดยวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติไทยได้ 21 ปี ต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 รัฐบาลในขณะนั้นมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศ และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติ จึงให้ถือวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น ‘วันชาติ’ มาจนถึงปัจจุบัน

‘5 ธันวาคม เป็นวันพ่อแห่งชาติ’ วันพ่อแห่งชาติ มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 เนื่องจากพ่อเป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ และเพื่อให้ผู้เป็นพ่อสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน ดังนั้นจึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น ‘วันพ่อแห่งชาติ’

‘อิสลา’ อัจฉริยะตัวจิ๋ว เข้าร่วม ’เมนซา‘ ตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง หลังวัดระดับไอคิวได้ 99 ทุบสถิติสมาชิกอายุน้อยสุดในโลก

(30 พ.ย. 66) ยูพีไอ รายงานเรื่องราวชีวิตชวนทึ่งของ ด.ญ.อิสลา แม็คแนบบ์ เด็กหญิงชาวอเมริกัน เจ้าของตำแหน่งเด็กที่อายุน้อยที่สุดในโลกที่ได้เป็นสมาชิกของ สถาบันอัจฉริยะแห่งอังกฤษ (เมนซา) ขณะมีอายุ 2 ขวบกับอีก 195 วัน

กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์ ระบุว่า อิสลาจากเมืองเครสวูด รัฐเคนทักกี กลายเป็นสมาชิกเมนซาที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก หลังวัดระดับเชาว์ปัญญาแบบไอคิวเปอร์เซ็นไทล์ได้ถึง 99 เมื่อเทียบกับเด็กในกลุ่มอายุเท่ากันด้วยการทดสอบความสามารถทางสติปัญญาแบบสแตนฟอร์ด บิเนต์

สำหรับบุคคลที่จะเข้าร่วมเมนซาได้ต้องมีคะแนนทดสอบไอคิวเปอร์เซ็นไทล์ที่ 98 หรือสูงกว่าขึ้นไปเท่านั้น ด้าน นายเจสัน และ นางอแมนดา แม็คแนบบ์ พ่อแม่ของหนูน้อยอัจฉริยะ กล่าวว่าอิสลาเริ่มฉายแววตั้งแต่วันที่พาออกจากโรงพยาบาลเพราะสังเกตเห็นว่าอิสลามีสมาธิสูง

เมื่ออายุได้ 7 เดือน อิสลาเลือกรูปภาพสิ่งของจากหนังสือภาพเมื่อพ่อแม่บอกให้หยิบสิ่งนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง อิสลาเริ่มเรียนเดี่ยวกับพยัญชนะ ตัวอักษร สี และตัวเลขเมื่ออายุได้ขวบครึ่ง ไม่นานจากนั้นก็สามารถอ่านหนังสือได้

นายเจสันให้สัมภาษณ์กับ นิวยอร์กโพสต์ ว่าวันเกิดครบรอบ 2 ขวบของอิสลา ตนเขียนคำว่า “แดง” บนกระดานไวท์บอร์ด ก่อนจะทึ่งกับความสามารถของลูกสาวเพราะอ่านออกและเมื่อลองเขียนคำอื่นๆ เช่น “เหลือง” “แมว” และ “หมา” ลูกสาวก็อ่านได้อย่างง่ายดาย พออายุได้ 2 ขวบครึ่ง นางอแมนดาพาลูกสาวไปทดสอบไอคิวที่เมนซาและกลายเป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในโลก

ด้าน นายเอ็ดเวิร์ด อาเมนด์ นักจิตวิทยาเด็กในรัฐเคนทักกีและผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กที่มีพรสวรรค์ กล่าวว่า การทดสอบไอคิวจะพิจารณาด้านความจำและการใช้เหตุผลของเด็กในวัยนั้นๆ รวมทั้งคำศัพท์ต่างๆ เช่น ถามให้เด็กตอบว่าสิ่งนี้คืออะไร มีความเหมือนหรือต่างกับสิ่งอื่นอย่างไร

นอกจากนี้ยังทดสอบอวัจนภาษาหรือไม่ใช้ภาษา แต่เน้นการแก้ไขปัญหา บอกรูปแบบและเมทริกซ์ต่างๆ โดยคำถามจะเริ่มจากง่ายแล้วค่อยๆ เพิ่มความยากขึ้น พ่อแม่ของอิสลายังประหลาดใจที่ลูกสาวเข้าใจภาษามือและรู้ในสิ่งที่พ่อกับแม่ซึ่งไม่ว่าลูกสาวไปเรียนมาจากไหน

ขณะนี้อิสลาอายุ 4 ขวบแล้วและกำลังเรียนรู้โปรแกรมการศึกษาแบบส่วนตัวที่เมนซา ซึ่งพ่อแม่หวังว่าจะพบแหล่งข้อมูลและคำแนะนำจากพ่อแม่เด็กอัจฉริยะคนอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความสามารถพิเศษของลูกสาว นายเจสันกล่าวว่าดีใจมากที่อิสลาได้ลงบันทึกในกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์ ลูกสาวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในช่วง 3 ปีแรกและแทบจะอดทนรอเห็นอนาคตของลูกไม่ไหวแล้ว

‘14 เด็กไทย’ ร่วมแข่งคณิตศาสตร์ ‘2023 WMTC’ ที่เกาหลีใต้ คว้าเหรียญรางวัลประเภทบุคคล ‘3 ทอง 6 เงิน 5 ทองแดง’

(29 พ.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะนักเรียน 14 คน ที่เดินทางไปแข่งขันในรายการแข่งขันคณิตศาสตร์นานาชาติ 2023 WMTC-World  Mathematics Team Championship ณ ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-28 พฤศจิกายน 66 ได้เดินทางกลับมาถึงยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเรียบร้อยแล้ว พร้อมผู้ฝึกสอนและผู้ปกครอง ท่ามกลางความยินดีจากผู้โดยสารที่มาใช้บริการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยรอบ

นายภูมิเทพ คลังอุไร ประธานโครงการ Thai Talent Training และ Coach ของทีมประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ตัวแทนเด็กไทยสร้างผลงานได้อย่างดีเยี่ยมเป็นที่น่ายินดียิ่ง โดยสามารถคว้ารางวัลแชมเปี้ยนจากการแข่งขันประเภทบุคคล ของรุ่น Junior และยังสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภททีม จากผู้เข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 20 ประเทศ ที่มาจากทุกทวีปทั่วโลก

อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน, สหรัฐอเมริกา, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม, ฮ่องกง, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, คาซัคสถาน, อียิปต์, พม่า,ได้หวัน, บัลกาเรีย, อุซเบกิสถาน, กัมพูชา และ ไทย 2023

WMTC เป็นรายการแข่งขันคณิตศาสตร์นานาชาติ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสมาคมจีนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน กับสมาคมเพื่อเฟ้นหาทีมสุดยอดระดับโลก สหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก พร้อมปลูกฝังจิตวิญญาณการทำงานเป็นทีม รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักคณิตศาสตร์จากทั่วโลก เพื่อช่วยกันพัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ให้มีความก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป

โดยมี Prof. Quan K. Lam from University of California (USA) เป็นประธานคณะกรรมการ WMTC
2023 WMTC เป็นการแข่งขันคณิตศาสตร์นานาชาติประเภททีม แต่ละทีมประกอบด้วยสมาชิก 6 คน ซึ่งมีการแข่งขันใน 3 รูปแบบ ได้แก่ Individual Round, Relay Round และ Team Round แบ่งการจัดการแข่งขันออกเป็น 3 รุ่น ได้แก่ Junior Level (ประถมศึกษาตอนปลาย), Intermediate Level (มัธยมศึกษาตอนต้น) และ Advanced Level (มัธยมศึกษาตอนปลาย)

สำหรับผลงานของตัวแทนประเทศไทย จากการแข่งขัน 2023 WMTC ซึ่งประเทศไทยได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมทั้ง 3 รุ่นนั้น มีดังนี้

1. Junior Level
• ได้รับรางวัลแชมเปี้ยน ประเภทบุคคล จากผลงานของ เด็กหญิงเพชรพริมา เศรษฐปิยานนท์ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ได้รับเงินรางวัล 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ

• ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภททีม จากผลงานของ

-เด็กหญิงเพชรพริมา เศรษฐปิยานนท์ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย
-เด็กชายดรณ์ นิสภาธร บ้านเรียนนิสภาธร
-เด็กชายวิชสิทธิ์ วิรัชศิลป์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
-เด็กชายอัฑฒ์ฐวิชณ์ ทองบัวศิริไล โรงเรียนอนุบาลสุธีธร
-เด็กชายศุภกร สิริธนกุล โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
-เด็กชายณทัช วรเศรษฐการกิจ Singapore International School Thonburi

• ได้รับรางวัลเหรียญทอง ประเภทบุคคล จากผลงานของ

-เด็กหญิงเพชรพริมา เศรษฐปิยานนท์ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย
-เด็กชายดรณ์ นิสภาธร บ้านเรียนนิสภาธร
-เด็กชายวิชสิทธิ์ วิรัชศิลป์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

• ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ประเภทบุคคล จากผลงานของ

-เด็กชายอัฑฒ์ฐวิชณ์ ทองบัวศิริไล โรงเรียนอนุบาลสุธีธร
-เด็กชายศุภกร สิริธนกุล โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

• รางวัลเหรียญทองแดง ประเภทบุคคล จากผลงานของ

-เด็กชายณทัช วรเศรษฐการกิจ Singapore International School Thonburi

2. Intermediate Level
• ได้รับรางวัลเหรียญเงินประเภทบุคคล จากผลงานของ

-เด็กชายกรณ์ สิริธนกุล โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
-เด็กชายปุณณวิช อรุณศิริวัฒนา โรงเรียนแสงทองวิทยา

• ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงประเภทบุคคล จากผลงานของ

-นายนรภัทร กมลรัตนกุล St. Stephen’s International school
-เด็กชายสุภาษิต ธรรมเภตรารักษ์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

3.Advanced Level• ได้รับรางวัลเหรียญเงินประเภทบุคคล จากผลงานของ

-นายสร้างสรรค์ ประสิทธิ์นฤทธิ์ Newton Sixth Form
-นายศุภเกียรติ มนัสศิริวิทยา Newton Sixth Form

• ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงประเภทบุคคล จากผลงานของ

-นายณัฐพัชร์ ฉันทโรจน์ศิริ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
-นายภูวเดช ประยุรธเนศ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

‘ศุภชัย’ บิ๊กใหญ่ ‘ซีพี’ ชงพลิกโฉมการศึกษาไทย รับมือโลกยุค 5.0 หนุนเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ เสริมทักษะดิจิทัล-ภาษาอังกฤษ

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 66 รายงานข่าวเผยว่า นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้แสดงวิสัยทัศน์เรื่อง ‘The Future of Education พลิกโฉมการศึกษาไทยเท่าทันอนาคต’ ภายในงาน ‘THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 FUTURE READY THAILAND’ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ นายศุภชัย ได้ฉายภาพรวมความท้าทายของโลกและเมกะเทรนด์ปี 2023 - 2030 โดยระบุว่า เด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายของโลกในหลายด้าน ดังนั้น เราต้องปรับตัวให้ทัน และต้องให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลมากขึ้น เพราะเราหยุดความก้าวหน้าของโลกไม่ได้ แม้ว่าในตอนนี้โลกอยู่ในยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคของการเข้าถึงข้อมูลเป็นดั่งน้ำมันในอากาศ

เวลานี้กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค 5.0 ซึ่งเป็นยุคของการผสมผสานเทคโนโลยี AI และกรอบความคิดของคน รวมถึงหลักความยั่งยืนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นยุคที่ให้ความสำคัญในการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูงให้กับคนในประเทศ

แต่ทั้งนี้ เมื่อมาดูผลสำรวจความสามารถทางทักษะดิจิทัล พบว่า เด็กไทยยังขาดทักษะดิจิทัลและภาษาอังกฤษที่ยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน และหากดูการจัดอันดับการแข่งขันในเวทีโลก GDP ไทยอยู่อันดับที่ 26 แต่ GDP/CAPITA อยู่อันดับที่ 84  ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยในการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ รวมไปถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาทำให้เด็กเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะประสิทธิภาพของทรัพยากรมนุษย์ คือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

นายศุภชัย ได้เสนอแนะสิ่งที่จะพลิกโฉมการศึกษาไทยให้เท่าทันความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคตว่า ระบบการศึกษาไทยควรต้องปรับการเรียนรู้จาก 2.0 เป็น 5.0 เข็มทิศสำคัญคือการให้ความรัก ให้ความมั่นใจกับเด็ก เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง โดยบทบาทของครูจะต้องปรับเปลี่ยนจากผู้สอนไปเป็น ‘โค้ช’ หรือผู้นำกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) ต้องสอนให้เด็กเป็น ‘นักค้นคว้า’ มีกรอบความคิดใหม่ และเกิดการปรับตัวให้อยู่รอดในโลกที่ท้าทายตอนนี้ เพราะฉะนั้น การเรียนรู้จึงต้องปรับให้เด็กเกิดการตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนา โดยทุกโรงเรียนต้องปรับเป็น ‘Learning Center’

พร้อมกันนี้ได้เสนอโมเดล ‘Sustainable Intelligence Transformation’ (SI Transformation Model) ผ่าน 5 ฐานสำคัญในการเปลี่ยนระบบการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ประกอบด้วย

1.) Transparency โรงเรียนต้องมีตัวชี้วัด School Grading พร้อมตัวชี้วัดใหม่ที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องมีสมุดพกดิจิทัล วิเคราะห์และพัฒนาศักยภาพรายบุคคล

2.) Market Mechanism สร้างกลไกตลาดและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงการส่งเสริมสื่อคุณธรรม

3.) Leadership &Talents ไม่จำกัดวิทยฐานะผู้อำนวยการ สร้างผู้นำและบุคลากรที่มีทักษะ 5.0

4. Empowerment เน้นการเรียนผ่านการลงมือทำในแบบ Action Based Learning บนสามขาความยั่งยืนคือเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และควรต้องมี Computer Science เป็นวิชาหลักครอบคลุมดิจิทัลเทคกับเอไอ

5.) Technology เสนอให้นักเรียนทุกคนมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต พร้อมส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพ และดันให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านนวัตกรรม

“เด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เพราะนั่นคือห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุด และต้องมีการส่งเสริมศักยภาพของคนรุ่นใหม่ เพื่อการพัฒนาประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งนี้ การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องใหญ่ หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงอนาคต เราต้องเปลี่ยนเจเนอเรชั่นถัดไป เพราะพวกเขาคือผู้ที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ และต้องสร้างทักษะดิจิทัลให้พวกเขามีศักยภาพในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างเท่าทัน” ซีอีโอเครือซีพี กล่าว
 

'ดร.เอ้' เปิดใจ!! ในฐานะนักเรียนทุนรัฐบาลจากภาษีประชาชน ต้องตอบแทน ‘ปชช.-สังคม-แผ่นดินแม่’ อย่างสุดความสามารถ

(27 พ.ย. 66) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า...

"เรา นักเรียนทุนรัฐบาล จากภาษีประชาชน ต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน"

ผมในฐานะ ‘นายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย’ จัดการประชุมประจำปี และมอบรางวัลนักเรียนทุนดีเด่น และนักเรียนทุนดาวรุ่ง ประจำปี 2566 เพื่อเป็นกำลังใจแก่ คนทำความดีเพื่อสังคมไทย

ผมขอแสดงความยินดีกับ ผู้ได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่นี้ และครอบครัว รวมทั้งหน่วยงานของท่านด้วยครับ

ทุกความสำเร็จ ย่อมมี ‘คนปิดทองหลังพระ’ ซึ่งก็คือ พี่น้องคณะกรรมการสมาคมนักเรียนทุนฯ ที่เป็นคนที่เสียสละที่สุด ทำงานเพื่อส่วนรวม มิหวังผลตอบแทน และไม่เคยได้อะไรตอบแทน น่าศรัทธายิ่ง

เรารู้ว่า บุญคุณของสังคมไทย ที่ส่งเราไปเรียนต่างประเทศ นั้นยิ่งใหญ่มากนัก เราจึงมีหน้าที่ต้องตอบแทนประชาชน สังคม และแผ่นดินแม่ อย่างสุดความสามารถ

รู้ครับว่า ไม่ง่าย เพราะคนเก่ง คนดี อาจไปไม่ไกลถึงดวงดาว เพราะสังคมไทยมีปัจจัยแฝงมากมายเหลือเกิน

แต่กำลังใจ ที่มอบให้กัน และการยกย่องคนเก่งคนดี อย่างน้อยจะเป็นพลังซึ่งกันและกัน ผลักดันสังคมไทยให้พัฒนาขึ้นได้แน่นอน

สู้ๆ นะครับ

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
นายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย (2562-2566)
#นักเรียนทุน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top