Friday, 26 April 2024
NEWS

‘ปลัด มท.’ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม 'โรงเรียนดรุณวิทยา' จ.น่าน ต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพเด็กระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

(14 พ.ย. 66) ที่โรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน (บ้านสวนตาล) อ.เมืองน่าน จ.น่าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการโรงเรียนสุขภาพดีระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (The AIA Healthiest Schools Regional Challenge (Primary School Category)) โดยนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวราพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง นายช่างใหญ่ กรมที่ดิน นายสุเมธ มีนาภา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยผู้บริหารกรมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ นายนิวัฒน์ งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 15 อำเภอ นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาลเมืองน่าน หัวหน้าส่วนราชการ นางสาวนวพรรณ อินต๊ะวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน (บ้านสวนตาล) ร่วมให้การต้อนรับและนำตรวจเยี่ยม

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เยี่ยมชมกิจกรรมดรุณฯ เพาะรักปลูกผักอินทรีย์ (Healthy Farm) เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ กิจกรรมศูนย์การเรียนรู้ 3Rs พาพอเพียง (กิจกรรมการแปรรูปขยะ) กิจกรรมธนาคารโรงเรียน (กิจกรรมการออมทรัพย์) กิจกรรมส่งเสริมการสร้างสุขอนามัยให้แก่เด็กเติบโตอย่างถูกต้องตามเกณฑ์มาตรฐานสุขลักษณะตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ชาวกระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยจากทุกกรมได้มาศึกษาเรียนรู้ความสำเร็จของการจัดการศึกษาโรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน (บ้านสวนตาล) ซึ่งเป็นต้นแบบของโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำผลสำเร็จนี้ไปขยายผลให้กับข้าราชการในหน่วยงานตลอดจนให้กับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘กรมการปกครอง’ ที่มีกลไก ‘นายอำเภอ’ เป็นผู้นำของข้าราชการตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีในพื้นที่อำเภอที่จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ (Know-how) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ และในระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดก็เป็นประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ที่ต้องอาศัยการเป็นผู้นำบูรณาการเสริมสร้างกระบวนการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับคนทุกช่วงวัย ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งมีหน้าที่ในด้านการเสริมสร้างมิติป้องกันสาธารณภัย ก็จะได้หาแนวทางในการขยายผลกิจกรรมดี ๆ ในด้านการป้องกันภัยที่โรงเรียนดรุณวิทยาได้ทำจนเกิดความสำเร็จ เช่น หมวกกันน็อค 100% ที่มีมานานแล้ว เพื่อไม่ให้ของดีมีน้อย แต่ต้องช่วยกันขยายสิ่งที่ดีให้เกิดประโยชน์และเกิดการขับเคลื่อนพร้อมกันทั่วทั้งประเทศ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่ปฐมวัย นั่นคือ ‘อาหาร’ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาร่างกาย สมอง จิตใจ อารมณ์ ของเด็กวัย 0 - 12 ขวบ ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตช่วงต้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ต้องร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้ความรู้กับคู่สมรสในการวางแผนการมีบุตร การดูแลทารกในครรภ์ เพื่อที่จะให้ได้รับการดูแลครรภ์อย่างถูกต้องตามหลักสาธารณสุข เพื่อที่เมื่อทารกเกิดมาจะได้มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ขณะเดียวกันเราก็ต้องส่งเสริมสุขอนามัยด้วยการเติมเต็มให้เด็กได้มีสารอาหารเพื่อได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย และจิตใจ พร้อมสำหรับการเติบโตและการเรียนรู้ตามช่วงวัย โดยสิ่งสำคัญที่สุดที่เป็นภูมิปัญญาการเลี้ยงดูบุตรที่ตั้งแต่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ได้ใช้เป็นแนวทางเลี้ยงดูบุตรหลานที่ตรงกับหลักพัฒนามนุษย์ ทั้งให้เล่นดินเล่นทราย ปีนป่ายต้นไม้ โหนเชือก สไลเดอร์ เล่นขายขนมครก ทำกับข้าวที่กองทราย ฝึกความกล้าหาญ เล่นสะพานเชือก พัฒนากล้ามเนื้อ ทำให้เกิดพัฒนาการทางสมอง นั่นคือ การเลี้ยงดูลูกหลานให้อยู่กับธรรมชาติ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์ต่อลูก ๆ นักเรียนโดยเฉพาะเด็กเล็ก จึงขอเชิญชวนเทศบาลเมืองน่านได้ร่วมกับมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เพิ่มพื้นที่ให้เด็กมีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งร่างกาย สมอง อารมณ์ จิตใจ วินัย จากการเล่น เพราะบริบทเด็กในเมืองไม่จำเป็นต้องอยู่ในรั้วโรงเรียน โดยเทศบาลเมืองน่าน สามารถเปิดพื้นที่สาธารณะอื่นให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กได้

"ดีใจทุกครั้งที่ได้มาเห็นความสำเร็จของโรงเรียนดรุณวิทยาแห่งนี้ แต่ทว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ในฐานะผู้นำของพื้นที่ ผู้ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องมีหน้าที่ที่สำคัญในฐานะ ‘คนที่เกิดมาก่อน’ ต้องคิดทำสิ่งที่ดี ช่วยกัน Change for Good โดยคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะพัฒนาลูกหลาน พัฒนาคน พัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาบ้านเมือง ให้ไปสู่ความดีที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยการขวนขวายรักษาสิ่งที่ดี และการนำเอาสิ่งที่ดีกลับมา ด้วยการช่วยกันอุดช่องว่างที่อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาในด้านอาหารของเด็กขึ้นในโรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน ‘อาหารกลางวัน’ ทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch) โดยทางโรงเรียนสามารถสร้างพลังการมีส่วนร่วมทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้มีส่วนร่วมในการเลือกเมนู ต้องวางระบบให้ครบทุกขั้นตอน และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ได้แต่งตั้งทีมงานขึ้นมาสุ่มตรวจอาหารกลางวันตามโรงเรียนต่าง ๆ โดยไม่ต้องบอกล่วงหน้า อันเป็นการป้องกันการทุจริต ไม่ให้เกิดเหตุดั่งภาษิต ‘วัวหายล้อมคอก’ และยังผลให้เด็กมีอาหารกลางวันที่มีมาตรฐาน และมีปริมาณเพียงพอเหมาะสม เฉกเช่นที่โรงเรียนดรุณวิทยาแห่งนี้ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องอาหาร กล่าวคือ เด็กต้องปลอดภัยจากสารเคมี สารพิษ ควบคู่การได้รับสารอาหารครบ เพราะในบริเวณโรงเรียนมีแปลงผักสวนครัว มีถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีการคัดแยกขยะ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดผลสำเร็จและยั่งยืนได้ เราต้องทำให้ลึกซึ้งเกินโรงเรียน ลึกซึ้งเกินบ้าน โดยครูต้องยอมเหนื่อยเพิ่มขึ้น ด้วยการมอบหมายให้เด็กไปฝึกฝน ให้เด็กเอาสิ่งที่คิดว่าทำแล้วดีไปทำที่บ้าน ไปใช้เวลาร่วมกับผู้ปกครอง ปรับพื้นที่โดยรอบบ้านให้เป็นแปลงผักสวนครัว ให้มีถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีการคัดแยกขยะ พร้อมทั้งยุยงส่งเสริมให้เด็กเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ เขียด เลี้ยงไก่ไข่ไว้มีไข่สำหรับบริโภค ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า สุดท้ายนี้ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ส่งเสริมให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดตั้ง ‘ธนาคารขยะ’ แล้วนำเงินจากธนาคารขยะมาให้ชุมชนจัดการเป็นสวัสดิการชุมชน เช่นที่องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ที่ทุกวันนี้ประชาชนในพื้นที่ต่างช่วยกันคัดแยกขยะและนำขยะมาจำหน่ายที่ธนาคารขยะ กลายเป็นกองทุนสวัสดิการ ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ จากการที่ผู้คนเป็นมนุษย์ 3Rs ทั้งนี้ ถ้าเราร่วมกันทำทุกอย่างด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ก็จะเกิดการ Change for Good ได้ เริ่มตั้งแต่พัฒนาคน รักษาสิ่งที่ดีงาม และรื้อฟื้นสิ่งที่ดีงามของประเทศ ของเมืองน่านให้กลับมา และอีกประการที่สำคัญ คือ ต้องทำให้เด็กกล้าแสดงออก และขอให้ทุกคนได้เชื่อมั่นว่า สิ่งที่ดีจะเกิดขึ้นได้ด้วยการ Change for Good บนพื้นฐานของการรักษาสิ่งที่ดีงามเอาไว้ เพื่อให้ลูกหลานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ในสังคมแห่งความสุขที่ยั่งยืนตลอดไป

นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวว่า เทศบาลเมืองน่านมุ่งเน้นการพัฒนาคน เปลี่ยนคนสู่การเปลี่ยนเมือง 7.6 ตารางกิโลเมตร เพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนประเทศ ทำให้เมืองเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิต โดยน้อมนำแนวทางการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยมุ่งพัฒนาเยาวชน นักเรียน และศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ เพื่อเปลี่ยนคนให้เป็นคนที่มีคุณภาพ เพื่อการเปลี่ยนเมือง เปลี่ยนประเทศ ทั้งนี้ เทศบาลเมืองน่านให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรของเมืองที่มีค่าที่สุด คือ ‘คน’ จึงได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเมือง สร้างพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) ให้เป็นพลเมืองคุณภาพ มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีทัศนคติ วิธีคิด เกิดความต้องการเรียนรู้ เปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน พลเมืองมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีวัฒนธรรมความปลอดภัย มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ยึดมั่นในความถูกต้อง ธรรมาภิบาล สร้างความสามารถในการทำงานเป็นทีม เข้าถึงและสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาตามหลักภูมิสังคม

"เทศบาลเมืองน่าน มุ่งสร้าง ‘เด็กเล็กพัฒนาการดี’ เพื่อรากฐานที่แข็งแรงของชีวิต สร้าง ‘โรงเรียนดีใกล้บ้าน’ เพื่อนักเรียนคุณภาพ มีทักษะพร้อมทุกด้าน สร้าง ‘แหล่งเรียนรู้เพิ่มทักษะอาชีพ’ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้าง ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ชุมชนแห่งปัญญา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง สร้าง ‘ทัศนคติด้านสุขภาพและวัฒนธรรมความปลอดภัย’ ให้แก่พลเมือง และสร้าง ‘การมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม’ เพื่อให้เมืองน่าอยู่" นายสุรพลฯ กล่าวเพิ่มเติม

นางสาวนวพรรณ อินต๊ะวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน (บ้านสวนตาล) กล่าวว่า โรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน (บ้านสวนตาล) เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีบุคลากร 30 คน นักเรียน 215 คน บริหารการศึกษาด้วยการมุ่งจัดการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 บูรณาการกับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติ ทำให้เด็กเป็น Active Citizen 5G คนดีที่มีความสุข ให้ความสำคัญการพัฒนาคนรอบด้าน เพราะสิ่งที่จะตอบโจทย์เป้าหมายการศึกษา คือ "ถ้าจัดการศึกษาดี SDGs ทุกข้อก็ประสบความสำเร็จ"

'แม่บุญล้ำ' หนุน 500,000 บาท ก่อสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯ สานต่อภารกิจบริษัทฯ 'ดูแลสังคม-ส่งเสริมมาตรฐานชีวิตผู้คน' ให้ดียิ่งขึ้น

(14 พ.ย. 66) จิรวัฒน์ เดชาเสถียร ที่ปรึกษาธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย การตลาด และการจัดการค้าปลีกค้าส่งในภูมิภาคอาเซียน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

วันนี้ผมได้มีโอกาสเป็นตัวแทนของคณะผู้บริหาร เพื่อนพนักงาน และลูกค้า บริษัท เพชรดำฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำปลาร้าตราแม่บุญล้ำ เพื่อส่งมอบเงินจำนวน 500,000 บาท ในการก่อสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้า

ผมเองในฐานะลูกพระจอมคนหนึ่ง ขอขอบพระคุณท่าน ศ.ดร สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งโครงการ และท่านศาสตราจารย์นายแพทย์อนันต์ ศรีเกียรติขจร ท่านคณบดี คณะแพทยศาสตร์ รวมถึงท่าน รศ.นายแพทย์ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และเทคโนโลยีสุขภาพ ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และเป็นกันเอง

ถามว่าทำไมเราเลือกที่นี่ คำตอบคือ รพ.แห่งนี้ จะเป็นโรงพยาบาลแห่งอนาคตที่จะสามารถผลิตเครื่องมือแพทย์ด้วยนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ที่ลาดกระบังไม่เป็นรองที่ไหนในฟ้าเมืองไทย     

ในขณะที่เราเองยังเดินหน้าช่วยพี่น้องในต่างจังหวัดซึ่งจะทยอยส่งมอบเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกลต่อไปอีกสามโรงพยาบาลในปีนี้     

ทั้งนี้เป็นไปตามวิถีในการดำเนินธุรกิจของแม่บุญล้ำ ที่มุ่งมั่นที่จะดูแลสังคมและบุคคลรอบข้างให้มีมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับ

อยู่กับองค์กรที่มีจริยธรรม อารมณ์ในการทำงานมันก็จะดีตามเช่นนี้นี่เองหละครับ มาช่วย ๆ กันนะครับ

‘กลุ่ม ปตท.’ จัดงาน ‘2023 Green Technology Expo’ โชว์นวัตกรรมเพื่อโลกอนาคต-จุดทุกพลังเพื่อสังคมที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน 2023 Green Technology Expo ภายใต้แนวคิด ‘Future Greenology นวัตกรรมสีเขียวแห่งอนาคต’ โดยมี นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นำทัพ กลุ่ม ปตท. ร่วมจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อโลกในอนาคต พร้อมเปิดเผยว่า การจัดแสดงนิทรรศการและผลิตภัณฑ์ธุรกิจใหม่กลุ่ม ปตท. ประกอบด้วย 

1. Green Mobility Zone ระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า จากกลุ่มอรุณ พลัส อาทิ ผลิตภัณฑ์และบริการด้าน EV ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มของ อีวี มี ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ EV ในทุกมิติ เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน นวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานในธุรกิจแบตเตอรี่รวมถึงแพลตฟอร์มสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ จาก สวอพ แอนด์ โก 

2. Green Technology Zone การสร้างธุรกิจแห่งโลกอนาคตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ผ่านธุรกิจพลังงานสะอาดและผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำ จาก เมฆา วี การใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคอุตสาหกรรม จาก พีทีที เรส รวมทั้งเทคโนโลยีระบบการบำรุงรักษาเครื่องจักรเชิงพยากรณ์ จาก พี-ดิกเตอร์ 

และ 3. Green Product Zone ผลิตภัณฑ์ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างสังคมที่ยั่งยืน จาก อินโนบิก (เอเซีย) กลุ่มผลิตภัณฑ์โภชนาการและอาหารโปรตีนจากพืชครบวงจรสนับสนุนวิถีการมีสุขภาพดีของคนรุ่นใหม่ จาก เอ็นอาร์พีที รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุเหลือใช้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จาก มอร์ อีกด้วย

“ตลอด 45 ปีที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดรับกับเทรนด์การใช้ชีวิตของผู้คน และพร้อมเดินหน้าต่อยอดธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และธุรกิจที่ไกลกว่าพลังงาน เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศให้เติบโต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 9 - 12 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) Hall EH 98”

‘บุญรอดฯ - ปตท. - IRPC’ ร่วมพัฒนานวัตกรรมผลิตวัสดุหมุนเวียน มุ่งใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า - ต่อยอดธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ลงนามความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมต่อยอดวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต สร้างผลิตภัณฑ์หมุนเวียน (Returnable Equipment) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เดินหน้าโครงการนำร่องรีไซเคิลพลาสติกผ่านผลิตภัณฑ์ต้นแบบอย่างลังน้ำและโซดาขวดเปลี่ยน ผลิตจาก rPET และ rHDPE พาเลท (Pallet) ผลิตจาก rHDPE และกากมอลต์  

นายปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า หนึ่งในแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ให้ความสำคัญ คือ การดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด ‘องค์กร ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมต้องมีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน’

ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในกลุ่มบริษัทบุญรอดฯ ทั้งหมด เช่น เสื้อยูนิฟอร์มพนักงานจากผ้าที่ผลิตจากขวด PET การแยกขยะ การใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนโครงการที่ทำกับชุมชนและสังคมอีกหลายโครงการ และล่าสุดได้ร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นของไทยที่เป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่นทั่วโลกอย่าง PIPATCHARA ดีไซน์กระเป๋ารุ่นพิเศษที่ผลิตจากผ้าที่ Upcycling มาจากขวดพลาสติก PET 100% 

ทั้งนี้ ในแต่ละปี เรามีวัสดุเหลือจากระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก น่าจะสามารถนำมาสร้างประโยชน์ต่อยอดได้อย่างคุ้มค่า จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือกับบริษัทฯ ปตท. และ ไออาร์พีซี ในครั้งนี้ เราเชื่อว่า ด้วยความรู้ความชำนาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัยของทั้งแต่ละบริษัทฯ จะสามารถร่วมกันพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่จากวัสดุในกระบวนการผลิตให้เป็นประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. ยึดมั่นในพันธกิจรักษาความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ผ่านการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 โดยส่วนหนึ่งได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานให้เกิดเป็นรูปธรรม มุ่งปฏิวัติรูปแบบการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณของเสียตลอดกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และรักษาสิ่งแวดล้อม 

ความร่วมมือในครั้งนี้ กลุ่ม ปตท. โดย PRISM (Petrochemical and Refining Integrated Synergy Management) แพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างบริษัทในกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ผลักดันให้เกิดการผสานองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรจากทั้ง 3 หน่วยงาน นำวัสดุเหลือใช้ ในกระบวนการผลิตมาต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพ และเจตนารมย์องค์กรชั้นนำของไทย ที่จะจุดพลังและขยายความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนอนาคตที่ดีให้แก่โลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า IRPC ดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์องค์กร “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว” ด้วยการใช้นวัตกรรมสร้างการเติบโต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้ เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างสูงสุด โดยบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้ว ประเภทใช้ครั้งเดียวสู่ผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ผ่านผลิตภัณฑ์แบรนด์ “POLIMAXX” สร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั้งในกลุ่มรีไซเคิลและพลาสติกที่มีพืชเป็นส่วนผสมหลักในการผลิต (Bio-Based) ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) 

นอกจากนี้ IRPC ยังได้ร่วมผลักดันการสร้างความสมดุลและความยั่งยืน หรือ ESG โดยตั้งเป้าหมายและกำหนดแนวทางองค์กรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2603 เพื่อก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน 

นับเป็นหมุดหมายสำคัญในการเดินหน้าธุรกิจภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนของบริษัทไทย ชั้นนำอย่าง บุญรอดบริวเวอรี่ ปตท. และ ไออาร์พีซี ที่จับมือพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์หมุนเวียนจากวัสดุเหลือใช้ภายในโรงงาน ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่กำหนดไว้ในปี 2608 ได้ต่อไป

‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรสถาบันวิทยสิริเมธี พร้อมติดตามการพัฒนาธุรกิจ ‘กลุ่ม ปตท.’ ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง

(7 พ.ย. 66) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี ระดับดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2565 จำนวน 35 ราย พร้อมพระราชทาน ‘ทุนพระราชทานศรีเมธี’ แก่นิสิตที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม จำนวน 4 ราย และพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2565 โดยมีนายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมคณะผู้บริหารจากกลุ่ม ปตท. ร่วมกับผู้บริหารสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เฝ้าฯ รับเสด็จฯ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จึงร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2558 ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ปัจจุบัน สถาบันวิทยสิริเมธี ประกอบไปด้วย ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า และ 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สำนักวิชาวิทยาการชีวโมเลกุล สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพสูงด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม และส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาและวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก สามารถต่อยอดใช้ประโยชน์ได้จริงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมสร้างการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และส่งเสริมความยั่งยืนแก่สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ

สำหรับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนรุ่นที่ 6 สำเร็จการศึกษา จำนวน 69 คน แบ่งเป็นนักเรียนที่ได้ศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) จำนวน 48 คน ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและอื่น ๆ จำนวน 21 คน โดยได้รับทุนศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ และได้รับทุนการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธีเพื่อศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี ระดับปริญญาตรีภายในประเทศด้วยเช่นกัน

ในวันเดียวกัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินไปยังสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี จัดตั้งจากการสนับสนุนของธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) ติดตามความก้าวหน้าด้านงานวิจัยและพัฒนา พร้อมทอดพระเนตรห้องปฏิบัติการและนิทรรศการผลงาน เช่น ห้องปฏิบัติการวิจัย Wangchan Advanced Industrial Labs โครงการกลุ่มวิจัย Interfaces Lab โครงการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โครงการกลุ่มวิจัย Brain Lab เป็นต้น 

ต่อมาทรงทอดพระเนตรผลงาน โรงเรือนสาธิตเทคโนโลยีชีวภาพ ที่นำเสนอภาพรวมโครงการเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อ Net Zero เกษตรยั่งยืน และอาหารปลอดภัยรวมถึงโครงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอุตสาหกรรมชีวภาพและชุมชนที่ยั่งยืน จ.น่าน ที่นำโครงการต้นแบบไปพัฒนาสู่การใช้งานจริงในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านนวัตกรรมของวังจันทร์วัลเลย์และกลุ่มธุรกิจใหม่ ปตท. ณ ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center : IOC) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทรงทอดพระเนตรการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจใหม่ ปตท. โดยขับเคลื่อนจากการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใน 4 ด้าน ได้แก่…

1.ด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่ม ปตท. ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายใน พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050)
2.ด้านนวัตกรรมเพื่อยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่โลกแห่งยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร มุ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าในระดับสากล 
3.ด้านนวัตกรรมเพื่อโลกยุคใหม่ (AI and Robotics) มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและขยายขีดความสามารถสู่สากล 
4.ด้านนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตและสังคม (Life Science) สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน ผ่านการดำเนินธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจยา กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ และ กลุ่มธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ 

อนึ่ง โครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ โครงการวังจันทร์วัลเลย์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะพัฒนาพื้นที่โครงการฯ ให้มีระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ในระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เข้าด้วยกัน

‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ เสด็จฯ ทรงเปิด ‘ศูนย์เลิศพนานุรักษ์’ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ป่าและพันธุ์พืช ใน จ.ระยอง

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 66 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์เลิศพนานุรักษ์ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยมีนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), นายวุฒิกร สติฐิต ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด, นายรัตติกูล ปิยะวงค์วาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด พร้อมข้าราชการและคณะผู้บริหารเฝ้ารับเสด็จฯ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เปิดเผยว่า ศูนย์เลิศพนานุรักษ์ สร้างขึ้นในพื้นที่สถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุด   แห่งที่ 2 โดย บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานและพื้นที่สีเขียวของชุมชนในจังหวัดระยอง โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานชื่อศูนย์การเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ป่าและพันธุ์พืชในนาม ‘ศูนย์เลิศพนานุรักษ์’ หมายถึง ศูนย์เรียนรู้อันเป็นเลิศด้านการอนุรักษ์ป่า และทรงพระราชทานชื่ออาคารโดมจัดแสดงพืชเมืองหนาวว่า ‘อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา’ หมายถึง อาคารจัดแสดงพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณศูนย์เลิศพนานุรักษ์แห่งนี้ โดยพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญพระอักษรพระนามาภิไธย ‘ส.ธ.’ ประดับที่ป้ายชื่อทั้งสองอาคาร ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563

‘ศูนย์เลิศพนานุรักษ์’ พัฒนาพื้นที่โครงการบนพื้นฐานของการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมของภูมิทัศน์โดยรอบ จึงออกแบบให้มีระบบนิเวศที่หลากหลาย มีป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทต่าง ๆ สอดคล้องกับระบบนิเวศดั้งเดิมของจังหวัดระยอง พร้อมสะท้อนแนวคิดหลักของการประสานกันอย่างลงตัวระหว่างอุตสาหกรรม ธรรมชาติ และชุมชน รวมไปถึงการใช้พลังงานทดแทน อาทิ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่โครงการ และมี อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา เป็นพื้นที่จัดแสดงไม้เมืองหนาวที่ปลูกและดูแลรักษาให้เจริญเติบโตจากการนำพลังงานความเย็นเหลือใช้จากกระบวนการแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LIQUEFIED NATURAL GAS (LNG) มาใช้ในการปลูกไม้เมืองหนาว เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพต่อยอดด้านการเกษตร อาทิ ดอกทิวลิป ดารารัตน์ ไฮเดรนเยีย ได้อย่างมีคุณภาพ มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดแสดงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามแต่ละเดือนและเปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งปี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการคืนประโยชน์ให้แก่สังคมและเสริมสร้างการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดระยอง ปัจจุบันมียอดผู้เข้าเยี่ยมชมสะสม ณ เดือนกันยายน 2566 จำนวน 273,440 ราย (ข้อมูลระหว่างวันที่ 3 มกราคม - 22 กันยายน 2566)

‘น้องอิน-น้องเอม’ 2 พี่น้องเยาวชนไทยหัวใจนักอนุรักษ์ ผู้ริเริ่มโครงการอิ่มท้องน้องเต่า ช่วยชีวิตเต่าทะเล

จากโลกยุคสมัยใหม่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเทคโนโลยีอนาคตเข้ามาและขยายวงกว้างขึ้นจนผู้คนห่างเหินธรรมชาติ สัตว์ป่าสัตว์ทะเลเริ่มลดน้อยลงเนื่องจากเด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เกาะติดวัตถุนิยมกันมากกว่าใช้ชีวิตสัมผัสกับธรรมชาติ จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีการรณรงค์ให้รักและหวงแหนธรรมชาติมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เด็กหรือเยาวชนไม่สนใจเลย เช่น นายอริณชย์ หรือน้องอิน ทองแตง อายุ 16 ปี และ ด.ญ.อริสา น้องเอม ทองแตง อายุ 14 ปีสองพี่น้องที่ถือได้ว่าเป็นเยาวชนหัวใจนักอนุรักษ์ ที่ร่วมกันทำโครงการชื่อ Below the Tides: Zero Starving Sea Turtles (อิ่มท้องน้องเต่า)

โดยการเชิญชวนพี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคนร่วมกันอนุบาลลูกเต่าทะเล เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของเต่าทะเลจาก 0.1% กรณีที่ปล่อยไปตามธรรมชาติให้สูงขึ้นถึง 70% ปัจจัยหลักในการมีชีวิตรอดคือไม่ตกเป็นเหยื่อสัตว์นักล่าอื่น ๆ ซึ่งโอกาสรอดจะอยู่ที่ขนาดและน้ำหนักที่เหมาะสมของลูกเต่าทะเล ซึ่งน้ำหนักต้องไม่ต่ำกว่า 2 กิโลกรัม และความยาวไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ขณะปล่อยคืนสู่ท้องทะเล

นายอริณชย์ เปิดเผยว่า เกิดจากพวกตนสองพี่น้องมีความชื่นชอบสัตว์เลื้อยคลานโดยเฉพาะเต่า ที่บ้านจะเลี้ยงเต่า ทั้งเต่าบก และเต่าน้ำจืด ประกอบกับเมื่อปีที่ผ่านมาคุณแม่ได้พาไปเกาะมันใน จ.ระยอง  เป็นที่ตั้งของศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นสถานที่อนุบาลลูกเต่าทะเลก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเล แห่งแรกของประเทศไทย พอได้ไปเจอและรับทราบถึงปัญหาของเต่าทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ที่กำลังเป็นวิกฤติระดับโลก รวมถึงเรื่องของการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของลูกเต่าหลังฟักออกมาจากไข่ ซึ่งทางผอ.ศูนย์วิจัยชายฝั่งทะเลฯ ตอนนั้นบอกอยากได้เงินมาอุดหนุนเพิ่มเติมมาอนุบาลเต่า ตรงนี้เลยเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ‘อิ่มท้องน้องเต่า’

นายอริณชย์ เผยอีกว่า ส่วนที่ชื่นชอบเต่าทะเลเพราะชอบและแปลกใจที่เต่าทะเลเกิดมาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ อายุ 110 ล้านปี ซึ่งเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์เพราะไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้วแต่เต่ามันสามารถมีอายุยืนและปรับตัวจนกระทั่งอยู่มาจนถึงปัจจุบัน เป็นอะไรที่น่าพิศวงเลยทำให้สนใจ โดยเฉพาะเต่าทะเล มีความสัมพันธ์กับระบบนิเวศใต้น้ำมาก อย่างอาทิที่ชอบกินแมงกะพรุน กินในจำนวนที่มาก ๆ ก็จะคุมระบบนิเวศไม่ให้มีแมงกะพรุนมากเกินไป ช่วยกินหญ้าทะเล เป็นควบคุมปริมาณหญ้าทะเล เพราะหากมีมากเกินไปก็จะมีผลต่อระบบน้ำทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นได้ นอกจากนั้นยังช่วยกินพวกฟองน้ำแถว ๆปะการังทำให้ตัวปะการังไม่โดนเบียดเบียนพื้นที่ทำให้เติบโตได้อย่างสวยงาม ทำให้ระบบใต้น้ำมันสมดุลย์ อีกอย่างการที่มันกินทุกอย่างเสร็จแล้วมันก็จะว่ายน้ำไปทั่วแล้วไปขยายพืชพันธุ์อย่างหญ้าทะเล ฟองน้ำในพื้นที่อื่นให้มีการเจริญเติบโตอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีก

ด้านด.ญ.อริสา เผยว่า รู้สึกดีใจภูมิใจที่ผู้ใหญ่ให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของโครงการ ได้มีโอกาสเข้าพบ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยท่านบอกชื่นชมเยาวชนเด็กรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสาสนใจประโยชน์ส่วนรวม สิ่งแวดล้อม แล้วมาแอคทีฟ เปิดโครงการแบบนี้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างแม้จะเป็นโครงการที่ไม่ใหญ่ แต่ท่านก็มองว่าการที่เด็ก ๆ ขึ้นมาคิดทำสิ่งนี้แบบทำเองโดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางโรงเรียน ทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ตระหนักสนใจในเรื่องของสภาพสิ่งแวดล้อมที่กำลังมีปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันนี้ จึงมองว่าเป็นสิ่งที่กระทรวงทรัพย์ฯ อยากจะสนับสนุนเยาชนให้เยอะเกี่ยวกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร

ด.ญ.อริสา ยังเผยอีกว่า ทั้งนี้ท่านยังได้ถามด้วยว่าอยากให้กระทรวงฯช่วยเรื่องอะไรมากขึ้น ได้บอกไปว่าอยากให้ทางกระทรวงเพิ่มความตระหนักรู้ เพิ่มความเข้าใจในเรื่องของการดูแล รักษาเต่าทะเลให้กับประชาชนให้มากขึ้น เพราะมองว่าตอนนี้คนเข้าใจผิดว่าการปล่อยลูกเต่าทะเลตัวเท่าเหรียญบาทคืนสู่ท้องทะเลเป็นการทำบุญ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ กลับกลายเป็นการทำบาปเพราะปล่อยไปอย่างไรก็ตาย จึงอยากให้ทางกระทรวงฯช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนว่าถ้าจะให้เต่าทะเลรอดชีวิตได้ จำเป็นต้องเป็นอย่างไร ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการอิ่มท้องน้องเต่าของพวกตน คือต้องอนุบาลเต่าทะเลให้ได้ขนาดและน้ำหนักตามที่ต้องการคือ 2 กิโลกรัมเป็นอย่างน้อย หรือมีขนาดความยาว 30 ซม. หรือเลี้ยงประมาณ 200 วัน ก่อนปล่อยสู่ทะเ

“เพราะเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงร่วมกันคิดโครงการขึ้นมาเพื่อเปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูลูกเต่าทะเล ให้มีขนาดน้ำหนัก ความยาวตามความเหมาะสม ก่อนปล่อยคืนสู่ทะเลเพื่อความอยู่รอด โดยค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกเต่าจนได้ตามขนาดที่ต้องการ เป็นค่าอาหาร และค่ายา ในการอนุบาลลูกเต่า 100 ตัว เฉลี่ยตัวละ 30 บาทต่อวัน หรือ 6,000 บาทต่อตัว ตลอดระยะเวลาประมาณ 200 วัน เพื่อให้น้อง ๆ แข็งแรงพอที่จะกลับคืนสู่บ้านใต้ท้องทะเลอีกครั้ง โดยจะนำเงินบริจาคส่งมอบให้กับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งภาคใต้กระทรวงทรัพยากร เพื่อนำไปใช้เป็นค่าอาหาร ยา และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุบาลลูกเต่า 100 ตัว ต่อไป” ด.ญ.อริสา ระบุ

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถร่วมสนับสนุนโครงการ ‘อิ่มท้องน้องเต่า’ - Below the Tides: Zero Starving Sea Turtles ผ่านเว็บไซต์ เทใจ เพื่อคืนความสมดุล ของห่วงโซ่อาหารในโลกใต้ทะเลได้ที่ https://taejai.com/th/d/below-the-tides-zero-starving-sea-turtles_an/

ชื่นชม!! 'น้องฮาคิม' นักเรียนสุดเก่งจาก รร.สหวิทย์ วัย 10 ขวบ คว้า 2 เหรียญทอง 1 รางวัลรองชนะเลิศ แข่งขันดนตรีไทย ประเภทเครื่องตี

(7 พ.ย. 66) น้องฮาคิม หรือ ด.ช.นักปราชญ์​ พัฒนะ​พีระ​พงศ์​ หนุ่มน้อยวัย 10 ขวบ ปัจจุบันศึกษาอยู่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสหวิทย์ เป็น 1 ในเยาวชน จาก 1,065 คนทั่วประเทศไทย ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศและคว้ารางวัลจากการประกวดดนตรีไทยชิงถ้วยพระราชทานฯ ‘Big C โสตศิลป์ สืบสาน ดนตรีไทย’ มาได้สำเร็จ

ซึ่ง ‘น้องฮาคิม’ เล่าว่า “โจทย์ในครั้งนี้สุดหิน เพราะเป็นการแข่งขันดนตรีไทยสร้างสรรค์ มีทั้งเครื่องดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านหลากหลายรูปแบบจากทั่วประเทศ”

แต่ถึงจะยากแค่ไหน ‘น้องฮาคิม’ ก็คว้ามาได้ถึง 2 เหรียญทอง กับ 1 รางวัลใหญ่ ประกอบด้วย…

- รางวัลเหรียญทอง รายการเครื่องตี ประเภทเดี่ยว รุ่นอายุ 6-12 ปี
- รางวัลเหรียญทอง และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 รายการเครื่องตี ประเภทคู่ รุ่นอายุ 6-12 ปี

“การแข่งขันครั้งนี้ยากและท้าทายมากทั้งแบบประเภทคู่และประเภทเดี่ยว ผมใช้เวลาฝึกซ้อมนานและเหนื่อยมากๆ แต่พอได้รางวัลก็รู้สึกภูมิใจ ต้องขอขอบคุณครอบครัวที่สนับสนุนในสิ่งที่ผมรัก ขอบคุณครูเก่ง พรเทพ สุขอุดม ที่ทำทางเพลงและฝึกซ้อมให้ คุณครู ผม และเพื่อน ตั้งใจทำโชว์นี้ออกมาให้ดีที่สุดแล้วมันก็ดีมากๆ หลายคนชมหลายคนชอบมันคือรางวัลจริงๆ แต่อยากบอกเพื่อนๆ อีกหลายคนที่ไม่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่าไม่เสียใจ เพราะการที่ได้เข้ารอบมาในครั้งนี้ไม่ง่าย ทุกคนเก่งมากๆ แล้วครับ และอยากฝากให้เยาวชนไทยหันมาเล่นดนตรีไทยกันเยอะๆ เพราะดนตรีไทยเป็นสมบัติของชาติไทยครับ” น้องฮาคิม กล่าว

‘TCSA-CSSAT’ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ คนรุ่นใหม่ไทย-จีน จัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ พานักเรียนจีนท่องวิถีชุมชนไทย

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 66 สมาคมนักเรียนไทย-จีน (TCSA) ร่วมสมาคมนักศึกษาและนักวิชาการจีนแห่งประเทศไทย (CSSAT) จัดกิจกรรม ‘One day trip กระชับมิตรไทย-จีน’ สนับสนุนโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มุ่งเดินทางบนเส้นทางการท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปยังจังหวัดสมุทรสงคราม ณ ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคลน

กิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ผ่านการเดินทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อชุมชน และการทำจิตอาสาปลูกจิตสำนึก ถึงคุณค่าของป่าชายเลน ซึ่งสำคัญต่อระบบนิเวศในองค์รวม นอกจากนี้ ยังเป็นกิจกรรมที่ได้นำพาเพื่อนๆ นักเรียนนักศึกษาชาวไทยและชาวจีนมาพบเจอกัน รู้จัก แลกเปลี่ยนทางภาษา เป็นสะพานในการสานความสัมพันธ์ในระดับนักเรียนนักศึกษา เพื่อสร้างโอกาสทางเครือข่าย อันจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในมุมของอนาคตความสัมพันธ์ไทย-จีน

กิจกรรม One day trip ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมเป็นนักเรียนไทย-จีน จำนวน 40 คน เป็นคนจีน 24 คน คนไทย 16 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ศ.ดร.หวัง ฮวน ภริยา ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และนางเฝิง จวิ้นอิง อัคราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษา 

ภิริยาทูตจีนฯ กล่าวว่า “รู้สึกประทับใจกับกิจกรรมในวันนี้ และอยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีกในอนาคต ตัวท่านได้เปิดประสบการณ์และเรียนรู้หลาย ๆ อย่างในวันนี้”

อาจารย์หวังฯ ยังกล่าวอีกว่า “กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่มีความหมายเป็นอย่างมาก เพราะทำให้นักเรียนจีนในไทย ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ และได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทย ที่สำคัญ ได้ทำกิจกรรมอาสา ที่เป็นการให้ประโยชน์กลับสู่ชุมชนด้วยเช่นกัน ต้องขอชื่นชมทีมงานผู้จัดกิจกรรม ที่จัดออกมาได้อย่างแปลกใหม่ และเข้ากับยุคสมัย”

 

‘โรงเรียนภาคค่ำ’ สถานที่รวมตัว ‘พนักงานออฟฟิศเซี่ยงไฮ้’ ใช้เวลาหลังเลิกงาน เรียนรู้วัฒนธรรม-ดนตรี-ศิลปะของจีน

เมื่อวานนี้ (3 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หลังจากถึงเวลาเลิกงาน เหล่าพนักงานออฟฟิศจำนวนมากในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีนต่างเร่งรีบไป ‘โรงเรียนภาคค่ำ’ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกเขาใช้เรียนรู้วิชาศิลปะหลากหลายแขนง นอกเหนือจากการเรียนรู้อ่านเขียนดังเช่นในอดีต

เครื่องดนตรีแบบดั้งเดิม การวาดภาพสีน้ำและหมึก อุปรากรปักกิ่ง และการสานไม้ไผ่ ล้วนแล้วแต่เป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่หลักสูตรศิลปะจีนหลากหลายประเภท

การรวมกลุ่มคน 9-5 คนเพื่อมาโรงเรียนภาคค่ำกำลังกลายเป็นไลฟ์สไตล์ทันสมัยสำหรับหนุ่มสาวในเซี่ยงไฮ้

“โรงเรียนภาคค่ำแห่งนี้อยู่ใกล้บ้านมาก ๆ ค่ะ มันช่วยให้พนักงานออฟฟิศอย่างฉันได้เรียนชั้นเรียนเหล่านี้ด้วยราคาสมเหตุสมผล” หวัง นักเรียนโรงเรียนภาคค่ำคนหนึ่งกล่าว

คณะอาจารย์ในโรงเรียนภาคค่ำส่วนใหญ่มีประสบการณ์และอาจเป็นถึงศิลปินที่มีชื่อเสียง เช่น อาจารย์สอนอุปรากรปักกิ่งบางคนที่เป็นนักแสดงระดับชาติ ขณะชั้นเรียนงานฝีมือบางวิชาถูกสอนโดยผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

“ผมเริ่มสอนจงร่วน (เครื่องดนตรีสายประเภทหนึ่งของจีน) ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ผมเล่นเครื่องดนตรีหลายประเภทได้ดี เลยสอนกลองแอฟริกัน อูคูเลเล่ และกีตาร์ในโรงเรียนภาคค่ำด้วย นักเรียนทั่วไปของที่นี่มีอายุ 18-50 ปี และส่วนใหญ่มีอายุ 25-35 ปี” หลิวอวิ๋นฉี อาจารย์ประจำโรงเรียนภาคค่ำกล่าว

การเข้าเรียนชั้นเรียนภาคค่ำซึ่งผสมผสานการศึกษาเข้ากับวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม ไม่ได้เป็นเพียงวิธีการสร้างความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีหนึ่งในการดื่มด่ำกับประวัติศาสตร์และเข้าใจคุณค่าของมันด้วย

หลักสูตรที่ครอบคลุมหมวดหมู่ศิลปะมากกว่าสิบประเภท พร้อมด้วยเหล่าอาจารย์ผู้สอนระดับมืออาชีพ ทำให้โรงเรียนภาคค่ำในเซี่ยงไฮ้กำลังเป็นกระแสจนยากจะจับจองที่นั่ง โดยช่วงสูงสุดมีผู้ลงทะเบียนเพื่อจองเรียนออนไลน์พร้อมกันกว่า 650,000 คน

“ชาวเน็ตหลายคนบอกว่าโรงเรียนภาคค่ำกลายเป็น ‘ไนต์คลับ’ สำหรับพนักงานออฟฟิศในเซี่ยงไฮ้ไปแล้ว ผมคิดว่านอกเหนือจากการไปโรงหนัง บาร์ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอื่น ๆ พวกเราสามารถเลือกมาโรงเรียนภาคค่ำที่ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ด้วย ที่นี่พวกเราสามารถทำความรู้จักเพื่อนใหม่ไปพร้อมกับสร้างความบันเทิงให้กับตัวเอง ขณะเดียวกันเราก็สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ไปด้วย” หลิวบอกเล่า

“เซี่ยงไฮ้เป็นมหานครระดับนานาชาติ ผมเลยคิดว่าชั้นเรียนพวกนี้มีประโยชน์มาก ๆ ต่อการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงพวกเครื่องดนตรีแบบดั้งเดิมด้วยนะครับ” สวี นักเรียนโรงเรียนภาคค่ำคนหนึ่งกล่าว

‘นักวิจัยไทย’ ค้นพบ ‘ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ’ ดวงใหม่รอบระบบดาวคู่ สะท้อน!! ศักยภาพ ‘นักดาราศาสตร์ไทย-กล้องโทรทรรศน์ NARIT’

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า...

นักวิจัย NARIT ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่รอบระบบดาวคู่

ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัย NARIT ร่วมทีมนักวิจัยไทย ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่ที่โคจรรอบระบบดาวคู่ RR Cae ถือเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงที่ 2 ที่ถูกค้นพบในระบบดังกล่าว และนับเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกที่ถูกค้นพบโดยนักวิจัยชาวไทยทั้งหมด

ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจำนวนมากกว่า 5,000 ดวง ส่วนใหญ่เป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรรอบดาวฤกษ์เพียงดวงเดียว มีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเพียงประมาณ 20 ดวงเท่านั้นที่ถูกค้นพบว่าโคจรรอบระบบดาวคู่ โดยในการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบระบบดาวคู่ส่วนใหญ่ จะถูกค้นพบด้วยเทคนิค การเปลี่ยนแปลงเวลาการบังกันของดาวคู่ (Eclipse timing variation) ซึ่งเป็นการสังเกตการณ์การบังกันของดาวคู่อุปราคา ถ้าในระบบดาวคู่ดังกล่าวมีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ แรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์จะทำให้ตำแหน่งของดาวคู่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ช่วงเวลาที่เกิดการบังกันที่สังเกตการณ์ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปไม่สม่ำเสมอ

ระบบดาวคู่ RR Cae เป็นระบบดาวคู่ที่ประกอบด้วยดาวแคระขาว และดาวฤกษ์มวลน้อยสีแดง อยู่ห่างจากโลก 69 ปีแสง ก่อนหน้านี้ทีมนักดาราศาสตร์จีนค้นพบว่า ระบบดาวคู่ RR Cae มีการเปลี่ยนแปลงเวลาการบังกันของดาวคู่ ซึ่งเกิดจากผลของแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์มวลประมาณ 4.2 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี ที่โคจรรอบระบบดาวคู่ด้วยคาบ 11.9 ปี

ในงานวิจัยนี้ทีมนักวิจัยไทยได้มีการสังเกตการณ์ระบบดาวคู่ RR Cae ด้วยกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติของ NARIT ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6 เมตร PROMPT-8 ณ หอดูดาว Cerro Tololo Inter-American ประเทศชิลี และกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติขนาด 0.7 เมตร ณ หอดูดาว Spring brook ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับฐานข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope (VLT) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS (Transiting Exoplanet Survey Satellite) ระหว่างปี พ.ศ.2561-2563 ได้กราฟแสงขณะเกิดการบังกันของระบบดาวคู่ RR Cae ทั้งหมด 430 ครั้ง

จากข้อมูลกราฟแสงการบังกันดังกล่าว ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูล และสร้างแบบจำลองทางกายภาพของระบบดาวคู่ RR Cae ด้วย ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ‘ชาละวันคลัสเตอร์’ (Chalawan High Performance Computing Cluster) ของ NARIT พบว่าดาวฤกษ์มวลน้อยสีแดงในระบบดาวคู่ มีจุดมืดและจุดสว่างขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เคยค้นพบในงานวิจัยมาก่อนหน้านี้ และเมื่อนำข้อมูลการบังกันมาวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงเวลาการบังกันของดาวคู่ RR Cae พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเวลาการบังกันที่เกิดจากผลของแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 2 ดวง โดยดาวเคราะห์ดวงแรกมีมวล 3.0 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี โคจรรอบดาวคู่ด้วยคาบประมาณ 15 ปี และดาวเคราะห์ดวงที่สองซึ่งเป็นดาวเคราะห์ใหม่ที่พึ่งถูกค้นพบ มีมวลประมาณ 2.7 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี และมีคาบการโคจรประมาณ 39 ปี

ดาวเคราะห์นอกระบบใหม่ที่ถูกค้นพบในงานวิจัยนี้ นับเป็นดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ถูกค้นพบโดยทีมนักวิจัยคนไทยทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักดาราศาสตร์ไทย และกล้องโทรทรรศน์ NARIT ในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่ ซึ่งจะช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกต่อไป

เรียบเรียง : ดร. ศุภชัย อาวิพันธุ์ - นักวิจัย กลุ่มวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและชีวดาราศาสตร์ สดร.

อาชีวศึกษา ‘ไทย-จีน’ จับมือพัฒนา ‘โครงการ 210 สาขาวิชา’ หวังบ่มเพาะทักษะวิชาชีพผู้เรียน - เสริมแกร่งภาคอุตสาหกรรม

เมื่อวานนี้ (30 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การประชุมความร่วมมือทางอุตสาหกรรมและการศึกษาระหว่างประเทศ หัวข้อการสร้างความเป็นดิจิทัลแก่การศึกษา ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งของจีนเมื่อไม่นานนี้ รายงานแผนการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาของจีน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและความต้องการทางอุตสาหกรรมของจีนและไทย เข้ากับระบบอาชีวศึกษาของไทย

รายงานระบุว่าแผนการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาของจีนเข้าสู่ระบบอาชีวศึกษาของไทย จำนวน 210 สาขา มีเป้าหมายช่วยเหลือไทยให้สามารถบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถทางทักษะวิชาชีพเพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมการยกระดับทางอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ (27 ต.ค.) มีการจัดพิธีลงนามโครงการความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาจีน-ไทย 210 หรือ ‘โครงการ 210 จีน-ไทย’ โดยคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้ลงนามข้อตกลงกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากสถาบันอาชีวศึกษาของจีน 4 แห่ง และบริษัท ถังเฟิง อินเตอร์เนชันแนล เอ็ดดูเคชัน กรุ๊ป

โครงการ 210 จีน-ไทย มุ่งร่วมสร้างสาขาวิชาอาชีวศึกษาอันทันสมัย จำนวน 210 สาขา ภายใต้การทำงานร่วมกันของคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของไทย และบริษัทฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกระหว่างกลุ่มสถาบันอาชีวศึกษาของสองประเทศในการกำหนดหลักสูตร การฝึกอบรมครูอาจารย์ และการผลิตนักศึกษาวุฒิคู่ขนาน

สาขาวิชาส่วนหนึ่งของโครงการ 210 จีน-ไทย ซึ่งจะถูกปรับใช้เป็นชุดแรก ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ เทคโนโลยียานยนต์พลังงานใหม่ เทคโนโลยีการประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) เทคโนโลยีการซ่อมบำรุงทางรถไฟความเร็วสูงแบบครบวงจร อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ

สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของไทย กล่าวว่าอาชีวศึกษามีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก โดยความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระหว่างจีนและไทยนี้เกื้อหนุนการสร้างความเป็นดิจิทัล รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย ทั้งเชื่อมโยงกับแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) อย่างลึกซึ้ง

นอกจากนั้นความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวศึกษาและผู้ประกอบการจะช่วยให้ภาคอาชีวศึกษาสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น ก่อให้เกิดการบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถในไทยเพิ่มขึ้น ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันด้านการจ้างงานและรายได้ของเยาวชนไทยรุ่นใหม่ มีส่วนส่งเสริมการพัฒนาและเสถียรภาพของสังคมไทย

สดช. เดินหน้าต่อยอดความสำเร็จ ‘กองทุนดีอี’ พร้อมโชว์ 10 โครงการเด่น ยกระดับดิจิทัลเพื่อสังคม

สดช. แถลงผลการดำเนินงานกองทุนดีอี มีโครงการแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 89.93 ทุกโครงการเดินหน้าขยายผลโครงการเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม พร้อมจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงาน 10 โครงการเด่น 

(25 ต.ค. 66) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดกิจกรรมสัมมนาและนิทรรศการผู้รับทุนกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปี พ.ศ. 2566 (กองทุนดีอี) โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเป็นเกียรติเข้าร่วมกิจกรรมฯ และนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวรายงานและแถลงผลการดำเนินงานในภาพรวมของการให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนดีอี คือ การส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการให้ทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลฯ มีบทบาทผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยให้ความรู้ สร้างสิ่งใหม่แก่สาธารณชน โดยรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการพัฒนาระบบ Digital ของประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต่อโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศในระยะถัดไป โดยเรื่องแรกที่จะดำเนินการ คือ Go Cloud First ซึ่งได้วางกรอบในการขยายเชิงโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 

ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีโครงสร้างดึงบริษัทชั้นนำทั่วโลกเข้ามาลงทุนด้าน Cloud Data Center ในประเทศไทย ในส่วนของ Digital ID มีกรอบที่ชัดเจนมากขึ้นและขณะนี้กฎหมายได้มีมาตรฐานที่รับรองไว้แล้ว สำหรับเรื่องเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การพัฒนาพื้นที่หรือระดับเมือง ได้ส่งเสริมการนำข้อมูล Big Data เข้ามาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลเมืองในแต่ชั้นข้อมูล พร้อมวิเคราะห์ผลผ่านแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform : CDP) 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ได้แก่ การจ่ายเงินภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ One Stop Service และการนำระบบ Blockchain มาใช้เพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรมกับภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็น Digital Government ต่อไป

ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า
ผลการดำเนินงานของกองทุนดีอี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมากองทุนฯ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเปิดรับข้อเสนอขอรับทุนสนับสนุน และระบบสนับสนุนภายในทั้งทางด้านการวิเคราะห์โครงการ และด้านการติดตามและประเมินผลโครงการ โดยมีการนำเอาผลสำรวจความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาจัดทำเป็นแผนปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการแก่ผู้ขอรับทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับการจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ กองทุนดีอีมีเป้าหมายที่จะนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานของผู้รับทุน พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการยื่นขอรับทุน รวมทั้งมีการจัดนิทรรศเพื่อการแสดงผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นไอเดียสำหรับผู้สนใจที่จะขอรับทุนต่อไป โดยมีการนำโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลมาจัดแสดงในงานนิทรรศการแสดงผลงาน จำนวน 10 โครงการ ได้แก่

1. โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอขอโดยสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในมาตรา 26 (1) ซึ่งได้รับการสนับสนุนในการใช้อากาศยานไร้คนขับ ในการสำรวจทางอุทยานแห่งชาติและชายฝั่ง ซึ่งในวันนี้กระทรวงฯ ได้มานำเสนอการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยใช้อากาศยานไร้คนขับในการลาดตระเวนสำรวจพื้นที่ และจัดทำแผนที่อุทยานแห่งชาติในรูปแบบภาพถ่ายทางอากาศ 

2. โครงการโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล เสนอขอโดยสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในมาตรา 26 (1) เป็นการจัดทำโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล (Digital Science Museum Guides program) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและเยาวชนของชาติ ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อีกทางหนึ่ง

3. โครงการจัดหาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face verification System) เสนอขอโดยกรมการปกครอง ในมาตรา 26 (1) เป็นการจัดทำระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service: FVS) ของประเทศเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยมีฟังชั่นก์ที่ให้บริการ อาทิ 

(1) แสดงบัตรประชาชน 
(2) แสดงข้อมูลทะเบียนบ้าน 
(3) ข้อมูลการฉีดวัคซีน โควิด-19 
(4) การคัดและรับรองเอกสารงานทะเบียน พร้อมทั้งยังมีระบบต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับระบบหลัก เช่น ระบบ Health link ระบบ Lands Maps ระบบจองหมายเลขทะเบียนรถยนต์ และระบบยื่นภาษีออนไลน์

4. โครงการพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสำหรับทุกคน เสนอขอโดยคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในมาตรา 26 (1) ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ 2 ระยะ เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบที่ใช้ในการรักษาบนรถโมบายสโตรคยูนิตรวมทั้งระบบการปรึกษาทางไกลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองผ่านระบบ Telestroke และพัฒนาระบบส่งต่อข้อมูลทางการแพทย์ ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โดยมีการขยายพื้นที่เป้าหมายใน 6 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราชบุรี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงราย และนครพนม 

5. โครงการให้บริการรายการข้อมูลภาครัฐ เสนอขอโดยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 
ในมาตรา 26 (1) เป็นการให้บริการรายการข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐ ในการจัดทำรายการข้อมูลภาครัฐ Data Catalog และ Data Government สำหรับ 50 หน่วยงาน โดยเป็นการเชื่อมต่อแหล่งข้อมูล และเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐที่ติดตั้งอยู่ในระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC)

6. โครงการระบบดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกคลัสเตอร์เส้นใยธรรมชาติเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับวิสาหกิจชุมชนไปสู่วิสาหกิจนวัตกรรม เสนอขอโดยภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาระบบ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายธุรกิจในการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาดระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนไปสู่ห่วงโซ่ อุปทานของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

7. โครงการการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง (Development of Chemistry Lab in Metaverse) เสนอขอโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในมาตรา 26 (2) เป็นการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงห้องปฏิบัติการทางเคมีให้กับนักเรียน/นักศึกษาโดยสามารถใช้ซอฟต์แวร์ทำการทดลองทางเคมีแบบมีผู้ใช้งานพร้อมกันได้หลายคนในสภาพแวดล้อมเหมือนห้องปฏิบัติการจริง ประกอบกับลดข้อจำกัดจากการทำห้องปฏิบัติการทางเคมีที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้อีกด้วย

8. โครงการศูนย์บริการประชาชน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เสนอขอโดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาระบบสนับสนุน เพื่อให้บริการประชาชนตั้งแต่รับแจ้ง แก้ไข ป้องกัน บังคับใช้กฎหมายจนคดีถึงที่สุด

9. โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย เสนอขอโดยกรมที่ดิน ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการเชื่อมโยงและให้บริการข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในรูปแบบของแอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์ม Data as a Service : DaaS

10. โครงการพัฒนาชุดฝึกอบรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริงเพื่อสร้างเสริมอาชีพให้แก่กลุ่มเยาวชนในวัยทำงานที่อยู่นอกระบบการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและอาชีพในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง เสนอขอโดยสำนักวิจัย และ บริการวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ในมาตรา 26 (2) เป็นการสร้างชุดฝึกอบรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง เพื่อเตรียมกำลังคนในกลุ่มเยาวชนในวัยทำงานที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ ในด้านยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งใช้ฝึกก่อนการปฏิบัติงานจริง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในขณะที่ปฏิบัติงาน 

“กองทุนดีอีได้สนับสนุนทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้อนุมัติโครงการมาตรา 26 (1) (2) และ (6) ซึ่งเป็นการให้ทุนในกรณีสถานการณ์โควิด-19 และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ไปแล้วจำนวน 244 โครงการ ซึ่งปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วกว่าร้อยละ 89.93 โดยทุกโครงการจะมีการนำไปขยายผลเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติต่อไป” นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

‘ทีมวิศวกร MIT’ ออกแบบระบบใช้ประโยชน์ ‘พลังงานสุริยะ’ ผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสะอาด แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

เมื่อวานนี้ 23 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทีมนักวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ในรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐฯ เปิดเผยผลงานการออกแบบใหม่ที่อาจควบคุมและใช้ประโยชน์จากความร้อนของดวงอาทิตย์สูงถึงร้อยละ 40 เพื่อผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสะอาด

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ผ่านวารสารโซลาร์ เอ็นเนอร์จี เจอร์นัล (Solar Energy Journal) ระบุว่าทีมวิศวกรของสถาบันฯ ได้ทำการออกแบบระบบที่สามารถผลิตไฮโดรเจนทางอุณหเคมีหรือเคมีความร้อน (thermochemical) จากพลังงานแสงอาทิตย์

ระบบดังกล่าวควบคุมและใช้ประโยชน์จากความร้อนของดวงอาทิตย์เพื่อแยกน้ำโดยตรงและผลิตไฮโดรเจน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่สามารถเป็นพลังงานขับเคลื่อนรถบรรทุก เรือ และเครื่องบินในระยะไกลโดยไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อนึ่ง ระบบการผลิตไฮโดรเจนแบบดั้งเดิมพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ระบบใหม่ใช้เพียงพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น

อาห์เมด โกเนิม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลของสถาบันฯ ซึ่งเป็นผู้เขียนผลการศึกษาลำดับแรก เผยว่าไฮโดรเจนถือเป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคต โดยมีความจำเป็นต้องผลิตไฮโดรเจนให้ได้ในต้นทุนที่ถูกและปริมาณมาก

วันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น ‘กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ’ ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น ‘กรมขุนพินิตประชานาถ’ บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 ทรงพระนามว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’

เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช

ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม

ในตอนนี้ยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา 2 ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย 1 ครั้ง การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครองที่ชาวยุโรปนำมาใช้ปกครองเมืองขึ้นของตน เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทยให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าในพระราชฐานก็ใช้ยืน และนั่งตามโอกาสสมควร ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานเหมือนแต่ก่อน

เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ได้ทรงผนวชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน

ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่าง ๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา ครองราชสมบัติมานานถึง 42 ปี

ในรัชสมัยของพระองค์ สยามประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความวัฒนาให้กับชาติเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้า การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ ฯลฯ ด้วยพระราชกรณียกิจที่ยังความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชน ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงน้อมใจแสดงความจงรักภักดี ด้วยการถวายพระนามว่า ‘พระปิยมหาราช’ หรือพระพุทธเจ้าหลวง และกำหนดให้ทุกวันที่ 23 ตุลาคม เป็น ‘วันปิยมหาราช’


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top