Friday, 19 April 2024
THESTUDYTIMES

ปตท. จับมือไออาร์พีซี ดันผลิตวัสดุประสิทธิภาพชั้นสูง Li-ion แบตเตอรี่

นนี้ (7 พฤศจิกายน 2565) – นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ยืนกลาง) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาการลงทุนตามกลยุทธ์ Advanced Business Integration (ABI) ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) โดยนายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ที่ 2 จากซ้าย) และนายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (ที่ 2 จากขวา) พร้อมด้วย นายจตุรงค์ วรวิทย์สุรวัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แผนกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ซ้าย) และนายสมเกียรติ เลิศฤทธิ์ภูวดล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (ขวา) ร่วมเป็นสักขีพยาน
 
ปตท. และ ไออาร์พีซี จะร่วมกันพัฒนา 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจผลิตวัสดุประสิทธิภาพชั้นสูง (High Performance Materials) ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนสำคัญของ Li-ion แบตเตอรี่ (Battery Component) ธุรกิจการทำให้สารบริสุทธิ์ (Purification) และธุรกิจเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์เพื่อชีวิต (Chemical for Life) ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. Powering Life with Future Energy and Beyond โดยในช่วงเริ่มต้นจะเน้นการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจเกี่ยวกับแผ่นกรองอากาศและน้ำ (Air และ Water Purification) สอดรับกับแนวโน้มของผู้บริโภคที่ดูแลรักษาสุขอนามัยมากขึ้น พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ต่อยอดผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก Polypropylene (PP) และ Acrylonitrile Butadiene Styrene (ABS) ของ ไออาร์พีซี ได้เป็นอย่างดี

เอาใจสายเรียนฟรี จุฬาฯเปิดคอร์สเรียนออนไลน์แพทย์กว่า 100 คอร์ส

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้จัดทำแพลตฟอร์ม “MDCU MedUMore” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางการแพทย์ โดยมีวัตถุประสงค์สร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการศึกษา เพราะไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือประชาชนทั่วไปก็สามารถลงทะเบียนเข้าเรียนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งบนแพลตฟอร์มนี้จะมีทั้งคอร์สที่เรียนฟรีและคอร์สที่มีค่าใช้จ่าย รายละเอียดดังนี้ 
 
จุดเด่นของแพลตฟอร์ม
-สามารถเลือกระดับและหัวข้อที่สนใจได้ 
-เรียนออนไลน์ ได้ทุกที่ทุกเวลา ประกอบด้วยรูปแบบคอร์สออนไลน์ (บางคอร์สสำหรับแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ นิสิต และนักศึกษาแพทย์ เมื่อเรียนจบคอร์สนั้น ๆ จะมีใบประกาศนียบัตรบางคอร์ส), Infographic, การ์ตูนสั้น รวมถึงเนื้อหาจากการวิจัยและการจัดประชุมวิชาการที่สำคัญอีกด้วย
 
ไฮไลต์
-คอร์สมาแรง : ประจำสัปดาห์/เดือน และเทรนด์ที่น่าจับตามองในวงการแพทย์ จะมีคอร์สใหม่ ๆ ประจำสัปดาห์ทุกวันศุกร์
-หมอขอเล่า : รู้เท่าทันกระแส อัพเดตทุกสถานการณ์สำคัญที่ทุกคนต้องรู้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะมาอัพเดตสถานการณ์ปัจจุบัน แชร์ความรู้และประสบการณ์ตรงให้ฟังแบบเข้าใจง่าย เช่น วัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับเด็กเล็ก, RSV ติดต่อในฤดูฝน, เชื้อแบคทีเรียกินคน…จากน้ำทะเล&น้ำกร่อย?, เคลียร์ให้ชัด ไข้หวัดมะเขือเทศ, วัคซีนป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด ไม่มีอยู่จริง ฯลฯ 
-Virtual Reality : นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคต ทำให้ทุกคนสามารถเรียนแพทย์ได้แบบ 360 องศา เสมือนจริง
 
วิธีลงทะเบียน
1.เข้าสู่เว็บไซต์ https://www.medumore.org/ แล้วเลือก “Login/Register” ที่มุมขวาบนกรณีใช้งานครั้งแรก ให้เลือกเมนู “สมัครสมาชิก” และกรอกข้อมูล (อย่าลืมศึกษานโยบายความเป็นส่วนตัว ข้อกำหนดเงื่อนไขแพทย์ต่าง ๆ อย่างละเอียดก่อนกดยอมรับ)
2.เข้าสู่ระบบ (Login)
3.เลือกคอร์สเรียนที่สนใจ
4.คลิก “เริ่มเรียน” เพื่อลงทะเบียนคอร์สนั้น ๆ
5.เข้าชมวิดีโอเพื่อเริ่มเรียน
กรณีผู้สมัครเป็นแพทย์, นิสิต-นักศึกษา คณะแพทย์ จุฬาฯ หรือบุคลากรโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ใช้อีเมล์ student.chula.ac.th (เฉพาะคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ) @chulahospital.org @chula.md @chula.ac.th เพื่อรับส่วนลดพิเศษและคอร์สฟรี
 
คอร์สฟรีกว่า 100 คอร์ส
สำหรับคนทั่วไปมีคอร์สให้เรียนฟรีมากกว่า 100 คอร์ส อยากอัพสกิลความรู้สายแพทย์เรื่องไหนสามารถเลือกเรียนได้ตามใจชอบ เช่น
-รู้จักสิวก่อนใช้ยา
-ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
-การมีบุตรยาก
-จอกระจกตาลอก
-มะเร็งสมองในเด็ก
-เข้าใจวัยทอง
-การทำกายภาพฟื้นฟู
-การปวดศีรษะไมเกรน
-กินอย่างไรให้ปลอดโรค
 
คอร์สเจาะลึกสำหรับสายแพทย์
-หากกำลังเรียนหรือทำงานในแวดวงการแพทย์ MDCU MedUMore รวมความรู้เฉพาะทางไว้แบบแน่น ๆ คอร์สเรียนเนื้อหาระดับ Advanced อัพเกรดความรู้เฉพาะทาง รวมถึงมีประชุมวิชาการให้เข้าถึงได้กว่า 100 เรื่อง
-เจาะลึกความรู้หัตถการทางการแพทย์ (การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อตรวจวินิจฉัยความปกติและความผิดปกติ รวมถึงวิธีดูแลรักษาผู้ป่วย)
 
คอร์สที่มีค่าใช้จ่าย สมัคร 1,200 บาท/ปี
1.แพ็กเกจบุฟเฟต์รายปี (Yearly Member) 
-สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ & นิสิต-นักศึกษาแพทย์ จ่ายครั้งเดียว 1,200 บาท/ปี (เฉลี่ยเพียงเดือนละ 100 บาท)
-รับชมเนื้อหาจากการประชุมวิชาการชั้นนำ MDCU Congress 2021/2022 รวมกว่า 100 คอร์ส และเข้าเรียนคอร์สที่ราคาต่ำกว่า 1,200 บาทได้ฟรี (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)
2.ซื้อรายคอร์ส (Single Course) สำหรับบุคคลทั่วไปหรือผู้ที่สนใจเรียนรายคอร์ส (ซื้อครั้งเดียว เรียนได้ตลอดชีพไม่จำกัดจำนวนครั้ง)
 
ซื้อคอร์สเป็นของขวัญได้
-เข้าไปที่หน้าคอร์สที่ต้องการ
-เลือก “ซื้อเป็นของขวัญ”
-กรอกอีเมล์ผู้รับ พร้อมข้อความที่ต้องการส่ง
-จากนั้นกด “ดำเนินการชำระเงิน”
สามารถดูรายชื่อคอร์สทั้งหมดได้ที่ https://www.medumore.org/category/knowledge

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

PTT – OR – TOYOTA - BIG ต่อยอด “พลังงานแห่งอนาคต” สร้างสถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจน แห่งแรกของไทย

“พลังงานแห่งอนาคต” PTT – OR – TOYOTA - BIG  ผนึกกำลังเสริมแกร่ง พร้อมรองรับรถยนต์ไฟฟ้า เดินหน้าเปิดสถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจน แห่งแรกของประเทศไทย

.

(8 พฤศจิกายน 2565) - นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วย นายวิศาล ชวลิตานนท์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) นายปาซานา กาเนซ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TDEM) และ นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) ร่วมเปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) แห่งแรกของประเทศไทย (Hydrogen Station) ณ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

.

โดยการนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า มาเพื่อทดสอบการใช้งานในประเทศไทย ให้บริการในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จังหวัดชลบุรี (U-Tapao Limousines) สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา - ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมทำการเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริง เพื่อสร้างการรับรู้และเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคต

.

ทั้งนี้นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จึงมุ่งผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ ปตท. เล็งเห็นว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างไฮโดรเจน เป็นพลังงานที่มีศักยภาพ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

อย่างไรก็ตามการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับประเทศไทยที่จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และการลงทุนมูลค่าสูง ความร่วมมือของ 5 พันธมิตรชั้นนำในกลุ่มพลังงานและยานยนต์ครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทั้งในด้านมาตรฐานระดับสากล และความปลอดภัยสูงสุดที่จะส่งมอบให้กับผู้ใช้บริการในอนาคต โดย ปตท. ได้ร่วมสนับสนุนการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบอัดบรรจุก๊าซไฮโดรเจน และข้อมูลเชิงเทคนิคที่จำเป็น ร่วมผลักดันการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปด้วยกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน

.

ด้านนายวิศาล ชวลิตานนท์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) กล่าวว่า จากแนวโน้มการใช้พลังงานในการเดินทางและการขนส่งในปัจจุบันที่รถไฟฟ้าเริ่มได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น และหนึ่งในพันธกิจของ OR คือการสร้าง Seamless Mobility โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะต้องการพลังงานชนิดใดสำหรับการเดินทาง เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งมุ่งมั่นผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับการเดินทางและการขนส่งให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศ ตลอดจนพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) อย่างครบวงจร ซึ่งการสร้างสถานีบริการไฮโดรเจนเพื่อเติมไฮโดรเจนในรถยนต์ FCEV ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญซึ่งจะช่วยเติมเต็มศักยภาพของโออาร์ในการมุ่งสู่การเป็นผู้นำ EV Ecosystem ในทุกมิติ 

.

โดยผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์ FCEV ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเติมเชื้อเพลิง เนื่องจากการเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ รูปแบบ Passenger Car ใช้เวลาเพียง 5 นาที ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ชอบการบริการที่สะดวกรวดเร็ว อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคผู้ใช้หรือมีแผนที่จะใช้รถ FCEV และพันธมิตรผู้ค้าในคุณภาพและมาตรฐานการบริการ ซึ่งเป็นผลดีกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV และในอนาคตจะมีการพัฒนาการใช้พลังงานไฮโดรเจนในกลุ่มรถ FCEV ขนาดใหญ่ เช่น รถบัสและรถบรรทุก ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาในการเติมเชื้อเพลิง สามารถเพิ่มรอบการขนส่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรให้แก่ธุรกิจอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายปี 2030 ของ โออาร์ ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-neutrality) ภายในปี 2030 ซึ่งจะเป็นรากฐานที่นำไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Carbon Zero) ในปี 2050 ต่อไปอีกด้วย

.

ขณะที่นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) เปิดเผยว่า บีไอจีตั้งเป้าเป็นผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Company) ด้วยนวัตกรรมไฮโดรเจนซึ่งถือเป็นเทรนด์ของโลกในการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในครั้งนี้ บีไอจีจึงได้ร่วมกับ 5 พันธมิตรในการนำนวัตกรรมจากก๊าซไฮโดรเจนมาใช้จริงในอุตสาหกรรมยานยนต์

.

ซึ่งถือเป็นสถานีเติมไฮโดรเจนเข้าสู่ยานยนต์แห่งแรกของประเทศไทย โดยไฮโดรเจนจากบีไอจีเป็นพลังงานสะอาดและมาจากเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้บีไอจียังมีแผนพัฒนาไฮโดรเจนทั้งในแบบคาร์บอนต่ำและปราศจากคาร์บอน ร่วมกับองค์กรชั้นนำในประเทศในอนาคต โดยบีไอจีได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับไฮโดรเจนมาจากแอร์โปรดักส์ (บริษัทแม่ของบีไอจีในสหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับก๊าซไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำและปราศจากคาร์บอนอันดับหนึ่งของโลก จึงมั่นใจได้ทั้งในด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่าง ๆ

.

นอกจากนี้บีไอจียังมุ่งเน้นสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการกระจายความรู้และนวัตกรรมเกี่ยวกับไฮโดรเจนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์การเป็นผู้นำนวัตกรรมจากไฮโดรเจนของประเทศไทย การนำก๊าซไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคยานยนต์ในครั้งนี้ถือความก้าวที่สำคัญที่ช่วยประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions

.

ส่วนนายปาซานา กาเนซ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TDEM) เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของโตโยต้าที่มีต่อความเป็นกลางทางคาร์บอน เราเป็นหนึ่งในบริษัทที่ริเริ่มในการกำหนดเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 (2593) ด้วยความเชื่อมั่นในแนวทางเทคโนโลยีที่หลากหลาย (multiple pathways) ของเรา โตโยต้ามุ่งมั่นที่จะนำเสนอรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีสะอาดที่แตกต่างกันเพื่อทำให้การลดคาร์บอนสามารถทำได้ในปริมาณมากและเร็วขึ้น

.

โดยเราจะดำเนินตามพันธกิจของเราในการลดคาร์บอนตลอดวัฏจักรผลิตภัณฑ์ของรถยนต์ เราเห็นศักยภาพที่ดีในไฮโดรเจนจากการใช้งานและประโยชน์ที่หลากหลาย ตั้งแต่การผลิตจนถึงการจัดเก็บ การขนส่งไปจนถึงการใช้งานในภาคส่วนต่างๆ โตโยต้าได้เปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) Mirai ซึ่งหมายถึงอนาคต ในปี 2557และรุ่นที่ 2 ในปี 2564 วิสัยทัศน์ของโตโยต้าต่อสังคมปลอดคาร์บอนและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนย้ายที่ปราศจากคาร์บอนสำหรับทุกคน จะเป็นความจริงได้ก็ต่อเมื่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดรวมตัวและร่วมมือกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน และเนื่องจากผมเป็นหนึ่งในสองสมาชิกผู้ก่อตั้ง Hydrogen Council ในปี 2559 ผมมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาสู่ความเป็นจริงในการขับเคลื่อนในชีวิตประจำวัน และอยากจะส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดทำงานร่วมกันในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับไฮโดรเจน

.

และนายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) กล่าวปิดท้ายว่า โตโยต้ามีความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 โดยมีกลยุทธหลักว่าด้วยการเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ในหลากหลายแนวทาง หรือ Multi Pathway เพื่อนำเสนอทางเลือกในการเดินทางที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่มที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน ด้วยยานยนต์หลากหลายระบบขับเคลื่อน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดในการตอบสนองการขับเคลื่อนของทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

.

ทั้งนี้ เพื่อให้เทคโนโลยียานยนต์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ถูกนำไปใช้งานได้จริง เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจถึงรูปแบบการใช้งานที่เหมาะสมกับประเทศไทย จึงได้ริเริ่มโครงการ”การจัดตั้งเมืองที่ยั่งยืนโดยปราศจากมลภาวะ Decarbonized Sustainable City” โดยมีรถยนต์รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง โตโยต้า มิไร เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดลองนี้ เนื่องจากเป็นยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนอันเป็นพลังงานทางเลือกที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น โตโยต้ามิอาจบรรลุพันธกิจดังกล่าวได้เพียงลำพัง แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน ดังเช่น โครงการความร่วมมือฯ อันนำมาซึ่งกิจกรรมการเปิดสถานีไฮโดรเจนแห่งแรกในเมืองไทยในวันนี้ ผมหวังว่าความร่วมมือในวันนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มแผนยุทธศาสตร์ Multi Pathway ของเรา ตลอดจนเป็นการร่วมเติมเต็มวิสัยทัศน์ของประเทศในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อไป

2 เด็กไทยคนเก่ง สร้างสรรค์โครงการเพื่อสังคม ได้รับรางวัลจากเวทีระดับนานาชาติ

นอกจากความรู้ด้านวิชาการแล้ว อีกส่วนที่ พ่อ-แม่ ผู้ปกครองหลายคนยังเล็งเห็นความสำคัญนั้นคือ การปลูกฝังให้เด็ก ๆ สามารถนำความรู้ที่มี สร้างประโยชน์เพื่อสังคมได้ อย่างน้อง ๆ 2 เด็กไทยคนเก่งจาก โรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษา (RIS-Ruamrudee International School)

.

เด็กไทยคนเก่งคนแรก น้องแมทธิว – สารัช โลว์ ประธานสภานักเรียน (Student Council) ที่ส่งโครงการ GoBabyGo ไปคว้ารางวัลเหรียญทอง เเละ Best Young Inventor Award จากการประกวดเวที iCan Competition มาได้ เล่าว่า “ผมทำโครงการ GoBabyGo ร่วมกับเพื่อน ๆ ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มต้นจาก University of Delaware เป็นการนำรถของเล่นไฟฟ้ามาดัดเเปลงให้เด็กทุพพลภาพสามารถใช้ได้ ซึ่งมีสาขามากกว่า 90 สาขาทั่วโลก และผมก่อตั้งขึ้นเป็นที่แรกในประเทศไทย และได้ต่อยอดขยายสู่โรงเรียนนานาชาติอื่นอีกกว่า 5 แห่งในประเทศไทย”

.

หลังจากริเริ่มโครงการ GoBabyGo น้องแมทธิว ยังต่อยอดโครงการฯ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ สู่สังคม โดยบอกว่าคุณครูท่านหนึ่งได้แนะนำให้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถช่วยเหลือคนพิการที่เป็นผู้ใหญ่ จึงประดิษฐ์ Boost-Walker ขึ้นมา เป็นเครื่องพยุงเดินกายภาพบำบัดเเบบอัจฉริยะ ที่ช่วยผู้ป่วยที่บกพร่องทางการเคลื่อนไหวในการหัดเดิน ซึ่งมีเเผนที่จะส่งมอบเครื่อง Boost-Walker ให้กับเเผนกกายภาพบำบัดในโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่ยากไร้ต่อไป

.

ส่วนคนเก่ง คนที่ 2 น้องแพร – มัญญสิริ โชติบูรณ์วงศ์ ประธานสมาคมเกียรติยศแห่งชาติ (National Honor Society) องค์กรที่ได้รับการยอมรับในอเมริกา ซึ่งผู้ที่จะเข้าร่วมได้จะต้องมีคุณสมบัติ 4 ประการ คือ

.

Service มีใจช่วยเหลือสังคม

.

Leadership มีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำ

.

Character มีคุณลักษณะที่โดดเด่น

.

Scholarship มีผลการเรียนดีเยี่ยม

.

ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานด้วยผลงานที่ได้รับการยอมรับทั้งจากโครงการ The Union International และโครงการ HER (HER Period Dignity) เป็นโครงการส่งเสริมสุขอนามัยสำหรับผู้หญิง รวมถึงหนังสือพิมพ์โรงเรียนที่เป็นสื่อกระจายข่าวสารภายใน RIS และกับโรงเรียนนานาชาติอื่น ๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอีกด้วย

.

“โครงการของแพรต้องบอกว่าต่อยอดมาจากปัญหาส่วนตัวที่แพรพบเจอ นั่นก็คือเรื่องของประจำเดือนซึ่งเป็นปัญหาของผู้หญิงทุกคน แพรเลยริเริ่มโครงการ HER ขึ้นโดยใช้สื่อสิ่งพิมพ์ที่แพรมีอยู่ในมือสื่อสารความตั้งใจในการสร้างโครงการของเราให้เพื่อนๆ ทั้งในโรงเรียนร่วมฤดีเองและโรงเรียนนานาชาติอื่น ๆ ในประเทศไทยได้รับรู้และมาร่วมมือกัน

.

โครงการ HER คือการผลิตผ้าอนามัยแบบผ้าที่สามารถซักใช้ซ้ำได้ เเละผ้าอนามัยที่ผลิตจากกากชานอ้อยที่เหลือใช้จากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล ซึ่งย่อยสลายเองได้ ซึ่งแพรและเพื่อน ๆ ช่วยกันออกแบบและพัฒนาผ้าอนามัยนี้ขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะส่งมอบให้แก่ผู้หญิงที่ขาดเเคลน เช่น ผู้ต้องขังหญิง นักเรียนหญิงในชนบท เเละผู้หญิงในสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ” น้องแพรเล่า

.

นอกจากนำความรู้มาพัฒนาผ้าอนามัยที่ทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลน น้องแพรยังมีส่วนให้การผลักดันเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนอีกด้วย “แพรมีโอกาสเสนอแนวคิดให้กับคุณครูที่ RIS ได้เพิ่มเติมหลักสูตรเกี่ยวกับเพศศึกษาให้นักเรียนทั้งชายและหญิง เพื่อจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องเพศได้อย่างเปิดเผยและถูกต้องมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นความประทับใจอย่างยิ่งที่คุณครูของ RIS เปิดกว้างและรับฟังความคิดเห็นของเราอย่างเท่าเทียม จนโครงการนี้ประสบความสำเร็จได้รับรางวัล Diana Award ในนามของเจ้าหญิงไดอาน่าจากประเทศอังกฤษค่ะ”

.

หนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ น้องแพรยกเครดิตให้กับโรงเรียน “สำหรับแพร ต้องยอมรับว่าโชคดีมาก ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่เลือกให้แพรเรียนที่โรงเรียนนานาชาติ ร่วมฤดี ตั้งแต่เด็ก ให้เราได้รับการปลูกฝังที่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ทำให้ซึมซับสิ่งดี ๆ มากมาย

.

เด็กทุกคนที่เขามาตั้งแต่อายุน้อย ๆ ก็เหมือนผ้าขาวที่พร้อมจะเรียนรู้และถูกบ่มเพาะให้เห็นความสุขของการทำดี แพรเชื่อว่าเราทุกคนต่างมีสองบทบาทด้วยกัน คือการเป็นผู้รับเเละการเป็นผู้ให้ ในการเป็นผู้รับเเพรได้รับความรู้ทางวิชาการที่มีคุณภาพจาก RIS ในส่วนของการเป็นผู้ให้นั้น RIS ก็สอนให้แพรเป็นผู้ให้ที่ดีรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” น้องแพร ปิดท้าย.

.

ที่มา : https://th.hellomagazine.com/education/schools/social-projects-from-ris-student-leaders/

สวยแถมเก่ง!!! น้องซาร่า ศิษย์เก่าคณะพยาบาล ม.ขอนแก่น คว้ามงฯ นางนพมาศ งานสีฐาน เคเคยู เฟสติวัล 2565

"น้องซาร่า" น.ส.สุภัสสรา สุปัญญา ศิษย์เก่าคณะพยาบาล มข.คว้ามงฯ นางนพมาศ งานสีฐาน เคเคยู เฟสติวัล ปี 65 ไปครอง ขณะที่ Miss Popular Vote กับรางวัลชุดรักษ์น้ำ หมายเลข 6 น.ส.กนกขวัญ ชุมแวงวาปี
เมื่อคืนวันที่ 8 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดงานลอยกระทง หรืองานสีฐานเฟสติวัล “บุญสมมาบูชานาค” ประจำปี

ซึ่งเป็นการจัดงานเต็มรูปแบบครั้งแรกหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เพื่อช่วยทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับนานาชาติในอนาคต ที่บริเวณริมบึงสีฐาน สถานที่จัดงานลอยกระทงและงานสีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชานาค ประจำปี 2565 และมีการจัดการประกวดนางนพมาศ (Miss Aqua) งานสีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชานาค (Sithan KKU Festival 2022) ในคืนที่ผ่านมา ผลการประกวดนางนพมาศ งานสีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชานาค (Sithan KKU Festival 2022)


สำหรับผลการตัดสิน รางวัลชนะเลิศ หมายเลข 3 นางสาวสุภัสสรา สุปัญญา ชื่อเล่น ซาร่า ปัจจุบันทำงานเป็นพยาบาลวิชาชีพ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นศิษย์เก่าคณะพยาบาลศาสตร์ ม.ขอนแก่น จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรวันที่ 18-19 ธันวาคม 2565 นี้ ทั้งยังเป็นอดีตรองนางงามไหมอันดับ 1 ปี 2561 ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมมงกุฎ และสายสะพาย


รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 หมายเลข 19 นางสาวศิริญาพร พรมีฤกธิ์ ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท และสายสะพาย รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 หมายเลข 11 นางสาวณัฎฐลินีย์ บาดาล ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท และสายสะพาย รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัล รางวัลละ 5,000 บาท และสายสะพาย ได้แก่ หมายเลข 12 นางสาวมยุรี ศรีวิวัฒน์ และหมายเลข 20 นางสาวผกาพันธ์ รุ่งเรืองศรี รางวัล Miss Popular Vote ได้แก่ หมายเลข 6 น้องไนท์ นางสาวกนกขวัญ ชุมแวงวาปี ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท และสายสะพาย
รางวัล Miss Social Media ได้แก่ หมายเลข 20 นางสาวผกาพันธ์ รุ่งเรืองศรี ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท และสายสะพาย รางวัลชุดรักษ์น้ำ ได้แก่ หมายเลข 6 นางสาวกนกขวัญ ชุมแวงวาปี ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท และสายสะพาย.

DPU ผนึกกำลัง สถาบันการศึกษาอินโดฯ พัฒนาการศึกษาให้แข็งแกร่ง คาดเพิ่มรายได้ให้ประเทศ

มธบ.จับมือ 55 สถาบันการศึกษาอินโดฯ-กลุ่มประเทศ CLMV ร่วมพัฒนาการศึกษานานาชาติ
ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายภาคีสัมพันธ์ และคณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า มธบ.นำโดย ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี และคณะผู้บริหาร ร่วมกับสมาคมชุมชนมุสลิมอาเซียน (Associate of Muslim Community in ASEAN: AMCA) ได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติภายใต้หัวข้อ “Challenges of Community Development in Disruption Era” พร้อมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับสถาบันการศึกษาจากอินโดนีเซีย จำนวน 55 แห่ง เวียดนาม กัมพูชา และลาว เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาในระดับนานาชาติให้แข็งแกร่ง พร้อมทั้งพัฒนาการศึกษาเพื่อสันติภาพในภูมิภาคอาเซียน

ภายในงานมีผู้บริหารของสถาบันการศึกษาพันธมิตรเข้าร่วมงานกว่า 100 คน และภายใต้การร่วมมือดังกล่าว ยังเป็นการร่วมฉลองครบรอบ 55 ปี ของการก่อตั้ง มธบ.ผศ.ดร.ศิริเดชกล่าวต่อว่า ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษาร่วมกันระหว่าง มธบ.และมหาวิทยาลัยจากอินโดนีเซีย รวมทั้ง ประเทศ CLMV อีกกว่า 20 แห่งแล้ว ยังถือเป็นการเปิดตลาดการศึกษาให้กับนักศึกษาชาวมุสลิมของทั้ง 2 ฝ่ายอีกด้วย เบื้องต้นมหาวิทยาลัยจากอินโดนีเซียเสนอทุนเรียนฟรีตลอดหลักสูตรในระดับปริญญาโทให้กับนักศึกษาของ มธบ.ขณะเดียวกัน มธบ.ก็พร้อมรับนักศึกษามุสลิมจากเครือข่ายพันธมิตร โดยทาง CIBA มีหลักสูตรนานาชาติในหลายสาขาวิชา โอกาสนี้ ถือเป็นการขยายตลาดการศึกษาไปยังกลุ่มนักศึกษามุสลิม ซึ่งนับเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และยังถือเป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้ประเทศอีกด้วย


“การบุกตลาดการศึกษาไปยังอินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศอาเซียน นับเป็นอีกช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งมีมหาวิทยาลัยอยู่จำนวนมาก และมีบางแห่งเสนอให้ทุนเรียนฟรี 100% ในระดับปริญญาโทให้กับนักศึกษาเรา ทั้งนี้ เบื้องต้นตั้งเป้านักศึกษาจากอินโดนีเซียมาเรียนกับ มธบ.อย่างน้อยปีละ 100 คน” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว

ผลักดัน Net Zero!!! ปตท. ขับเคลื่อนปท.ไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน สังคม และประเทศในอนาคต

กลุ่ม ปตท. ผนึกกำลัง รุกธุรกิจน้ำมันเครื่องบินเพื่อสิ่งแวดล้อม สร้างสังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero ดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2565) นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียม
ขั้นปลาย  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการศึกษา พัฒนาและลงทุนผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย นายจตุรงค์ วรวิทย์สุรวัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แผนกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (Thai Oil) โดย นายรัฐกร กัมปนาทแสนยากร 
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกลยุทธ์องค์กร  บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) โดย          

นางวราวรรณ  ทิพพาวนิช  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์องค์กร บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) โดย นายสมเกียรติ เลิศฤทธิ์ภูวดล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่  กลยุทธ์ แผนและพัฒนาธุรกิจองค์กร และ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) โดย นายทรงพล เทพนำโสมนัสส์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจเอนเนอร์ยี่โซลูชัน ร่วมลงนาม 


การลงนามในครั้งนี้ผนวกรวมองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของกลุ่ม ปตท. ในการประกอบธุรกิจโรงกลั่น พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการพัฒนากระบวนการกลั่นผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีประสิทธิภาพสูงจาก Thai Oil, GC และ IRPC ตลอดจนความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันอากาศยานมาอย่างยาวนานทั้งในประเทศและต่างประเทศของ OR  มาต่อยอดการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มาตรฐานระดับโลก ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิต Hydroprocessed Esters and Fatty Acids (HEFA) และ Alcohol to Jet (ATJ) มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก

 
“กลุ่ม ปตท. มุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผลักดันเป้าหมาย Net Zero ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชีวภาพในประเทศ ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงเศรษฐกิจ  ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมพลังงานที่ยั่งยืน พร้อมรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน สังคม และประเทศในอนาคต สอดคล้องวิสัยทัศน์  Powering Life with Future Energy and Beyond” นายนพดล ปิ่นสุภา กล่าวในตอนท้าย

เผยหลักสูตรคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล หลังค้นสเปรย์กัน RSV ได้ครั้งแรกของโลก

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ฯลฯ ได้พัฒนา “สเปรย์พ่นจมูกเบซูโตะ เคลียร์ (Besuto Qlears)” ภายใต้โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ที่ช่วยยับยั้งและป้องกันเชื้อไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจ เช่น SARs-COV-2 (โควิด19) ไข้หวัดใหญ่(H1N1) และRSV ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก เป็นสิ่งที่น่าสนใจคือนี่ไม่ใช่ผลงานการวิจัยหนึ่งเดียวของคณะเวชศาสตร์เขตร้อนฯ แต่มีอีกหลายงานวิจัยที่ดังในระดับโลก นักเรียนและผู้ปกครองอาจสงสัยว่าคณะนี้เรียนเกี่ยวกับอะไร มีหลักสูตรอะไรบ้าง สามารถติดตามอ่านได้เลย


คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล  จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาโรคต่าง ๆ ในเขตร้อน เป็นคณะด้านนี้แห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นคณะที่มีผลงานวิจัยจำนวนมากตีพิมพ์ในวารสารระดับโลก นอกจากนี้ คณะยังมีโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ที่เปิดให้การรักษาพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคเขตร้อน อายุรกรรมทั่วไป และอายุรกรรมเฉพาะทางหลากหลายสาขา

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน   เป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งขึ้นโดยการริเริ่มของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์จำลอง หะริณสุต และศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงคุณหญิงตระหนักจิต หะริณสุต จากแนวคิดที่ว่า หลักสูตรแพทยศาสตร์ของประเทศไทยในสมัย 50 ปีก่อน ไม่มีการเรียนการสอนเฉพาะทางโรคเขตร้อน แพทย์ผู้ที่สนใจจะศึกษาต่อเฉพาะทางโรคเขตร้อนต้องเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีสถาบันที่มีชื่อเสียงเรื่องโรคเขตร้อนตั้งอยู่ ทั้ง ๆ ที่แพทย์ไทยมีความจำเป็นต้องให้บริการตรวจและรักษาคนไข้ด้วยโรคเขตร้อนอยู่เสมอ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แนวคิดของท่านทั้งสองที่จะจัดให้มีสถาบันโรคเมืองร้อนขึ้นในประเทศไทยนั้น มีผู้เห็นด้วยและได้รับการสนับสนุนจากบุคคลสำคัญหลายท่านในขณะนั้น ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ศาสตราจารย์ บี จี มีเกรท คณบดีสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ดร.กำแหง พลางกูร เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

ในที่สุดจึงได้มีการก่อตั้งคณะอายุรศาสตร์เขตร้อน (ชื่อเดิม) ขึ้นในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (หรือมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2503 โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อ "สอนและอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความรู้ความชำนาญในการบำบัด รักษา และป้องกันโรคเขตร้อน ทำการศึกษาวิจัยค้นคว้าเพื่อการแก้ปัญหาโรคเขตร้อน ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ พร้อมทั้งให้บริการรักษาผู้ป่วย รับปรึกษาให้คำแนะนำแก่แพทย์ และสถาบันการแพทย์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องโรคเขตร้อน"

ในช่วงแรกของการก่อตั้ง คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนมีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่โรงเรียนเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปีต่อมาเมื่อการก่อสร้างตึกเวชกรรมเมืองร้อนที่ถนนราชวิถีแล้วเสร็จ จึงได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบัน โดยให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยควบคู่ไปกับการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัย เริ่มแรกจัดตั้งมีเพียง 5 แผนกวิชา และแผนกธุรการ ได้แก่ แผนกอายุรศาสตร์เขตร้อน แผนกพยาธิโปรโตซัว แผนกปรสิตหนอนพยาธิ แผนกกีฏวิทยาการแพทย์ แผนกสุขวิทยาเขตร้อน และแผนกธุรการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 ได้เปิดอาคารโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนเพื่อให้บริการผู้ป่วย โดยเริ่มจากโรงพยาบาลขนาด 20 เตียง ต่อมาขยายเป็น 100 เตียง จนเป็น 250 เตียงในปัจจุบัน

ในระยะ 7 ปี แรกของการเรียนการสอน คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนเปิดรับสมัครแพทย์ชาวไทยเข้าเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรอายุรศาสตร์เขตร้อนและสุขวิทยา (Graduate Diploma in Tropical Medicine and Hygiene หรือ D.T.M.&H.) ในปี พ.ศ. 2508 มีการก่อตั้งองค์การรัฐมนตรีศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization หรือ SEAMEO เรียกชื่อย่อเป็นภาษาไทยว่า องค์การซีมีโอ) ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาหลังปริญญาในสาขาอายุรศาสตร์เขตร้อน ดังนั้นในปี พ.ศ. 2510 รัฐบาลไทยจึงตั้งให้คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนเป็นศูนย์อายุรศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (The National Center for Tropical Medicine and Public Health) เพื่อทำหน้าที่เป็นจศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนและฝึกอบรมด้านโรคเขตร้อนให้แก่ประเทศสมาชิกขององค์การซีมีโอ ขณะเดียวกันคณะเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นที่ตั้งของศูนย์ประสานงานโครงการภูมิภาคเวชศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุขของซีมีโอ (SEAMEO-TROPMED Network) การจัดการเรียนการสอนจึงได้เปลี่ยนไปเป็นระดับนานาชาติ โดยเฉพาะหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตอายุรศาสตร์เขตร้อนและสุขวิทยา (Graduate Diploma in Tropical Medicine and Hygiene หรือ D.T.M.&H.) ได้มีการแก้ไขและปรับปรุงโดยผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์จากสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งสหราชอาณาจักร (Liverpool School of Tropical Medicine) ทำให้คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นโรงเรียนแพทย์เวชศาสตร์เขตร้อนในระดับนานาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะเวชศาสตร์เขตร้อน" ในปี พ.ศ. 2518 และต่อมาในปี พ.ศ. 2536 คณะฯ ได้รับการยกฐานะเป็นศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อนของซีมีโอ (SEAMEO Regional Center for Tropical Medicine) โดยมีหน้าที่รับผิดชอบสำคัญด้านการสอนในระดับหลังปริญญา ให้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศสมาชิกของซีมีโอ รวม 10 ประเทศ

นอกจากนี้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้รับมอบหมายจากองค์การระหว่างประเทศให้เป็นที่ตั้งของศูนย์ร่วมมือทางวิชาการ ดังนี้

 
  1. SEAMEO-TROPMED Network
  2. Mahidol-Oxford Tropical Medicine Research Unit (MORU)
  3. WorldWide Antimalarial Resistance Network (WWARN) - Asia Regional Centre
  4. Mahidol-Osaka Center for Infectious Disease (MOCID)
  5. Malaria Consortium - Regional Office for Asia
  6. Silom Community Clinic at Trop Med (SCC@TropMed)
 
คณะเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นสถาบันวิชาชีพชั้นสูงในมหาวิทยาลัย ให้การศึกษาวิชาเวชศาสตร์เขตร้อนแก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสนองความต้องการของสังคมด้านสาธารณสุขของประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มุ่งเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์การแพทย์ประยุกต์ รวบรวม เผยแพร่ และถ่ายทอดความรู้เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขานี้ ในด้านการบริการชุมชน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ทำการตรวจวินิจฉัยรักษาป้องกันโรคเขตร้อนและส่งเสริมสุขอนามัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อนมีจุดมุ่งหมายที่จะปลูกฝัง ให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาเวชศาสตร์เขตร้อน สามารถนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาสาธารณสุขของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนบท มีความรอบรู้ ความคิดริเริ่ม ใฝ่รู้อยู่เสมอ รอบคอบ รู้จักตนและหน้าที่รับผิดชอบ มีศีลธรรมและเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม
 

ในปัจจุบันคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ภายใต้การนำของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อนเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นจากการจัดการประชุมนานาชาติเวชศาสตร์เขตร้อน หรือ Joint International Tropical Medicine Meeting (JITMM) ที่ได้รับความร่วมมือจากแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ไทยและต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมเป็นจำนวนมาก มีหัวข้อเรื่องในการประชุมน่าสนใจ โดยจัดการประชุมประมาณต้นเดือนธันวาคมของทุกปี Joint International Tropical Medicine Meeting (JITMM) ในปี 2563 คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ The 20th International Congress for Tropical Medicine and Malaria (ICTMM 2020) โดยมีหลักสูตรดังนี้
 
หลักสูตรระดับนานาชาติ: ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต 2 หลักสูตร
 
 1.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาอายุรศาสตร์เขตร้อนและสุขวิทยา (Graduate Diploma in Tropical Medicine and Hygiene; D.T.M.&H.)
 2.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาสารสนเทศศาสตร์ชีวเวชและสุขภาพ (Graduate Diploma in Biomedical and Health Informatics; D.B.H.I.)
 
ระดับปริญญาโท 5 หลักสูตร
 
 1.หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน [Master of Science in Tropical Medicine; M.Sc.(Trop.Med.)]
 2.หลักสูตรอายุรศาสตร์เขตร้อนคลินิกมหาบัณฑิต (Master of Clinical Tropical Medicine; M.C.T.M.)
 3.หลักสูตรอายุรศาสตร์เขตร้อนคลินิกมหาบัณฑิต สาขากุมารเวชศาสตร์เขตร้อน [Master of Clinical Tropical Medicine in Tropical Pediatrics; M.C.T.M.(Trop.Ped.)]
 4.หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสารสนเทศศาสตร์ชีวเวชและสุขภาพ {Master of Science in Biomedical and Heath Informatics; [M.Sc.(B.H.I.]}
 5.หลักสูตรวิทยาศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาอนามัยโรงเรียน [Master of Science (School Health)]
 
ระดับปริญญาเอก 2 หลักสูตร
 
 1.หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน [Doctor of Philosophy in Tropical Medicine; Ph.D.(Trop.Med.)]
 2.หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอายุรศาสตร์เขตร้อนคลินิก [Doctor of Philosophy in Clinical Tropical Medicine; Ph.D.(Clin.Trop.Med.)]
 
 
หลักสูตรระดับชาติ:
 
 1.หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว (TropMed Residency Training in Preventive Medicine (Travel Medicine)) เป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย ปัจจุบันกำลังปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้สามารถรับแพทย์ประจำบ้านชาวต่างประเทศให้มาเรียนแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเพิ่มศักยภาพความเป็นนานาชาติด้านการบริการสุขภาพและการศึกษา

 2.หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้รับมอบหมายให้จัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 3 ร่วมกับศูนย์แพทยศึกษา โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จำนวน 4 รายวิชา
 3.หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล โรงเรียนผู้ช่วยพยาบาล เป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล ระยะเวลาศึกษา 1 ปี

ที่มา:  คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

เรียนสายนี้ไม่ตกงานแน่ เปิด 5 สายเรียนเสี่ยงตกงานน้อย จบแล้วมีงานทำแน่ในอีก 5 ปีหน้า

ยุคนี้เลือกเรียนอะไรไม่ตกงาน? ถ้าลูก ๆ ของเราจะเรียนจบมหาวิทยาลัยในอีก 4-5 ปีข้างหน้า จะมีคณะสาขาไหนบ้างที่ตลาดงานยังมีความต้องการสูง ความเสี่ยงตกงานต่ำ คณะที่จบแล้วมีงานทํา วันนี้ The Study Times จะพามาแนะนำให้รู้จัก

 
สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ 

เป็นสาขาที่ได้รับการการันตีว่า เสี่ยงตกงานต่ำมากกกก จะกี่ยุคกี่สมัยสายงานนี้ก็เป็นที่ต้องการอยู่ตลอด ความต้องการแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ในตลาดงานทั่วโลกไม่เคยเพียงพอ ถ้าน้อง ๆ คนไหนเรียนดีและอยากทำงานอาชีพที่เป็นหลักสูตรเฉพาะทาง ไม่โดนแย่งงานง่าย แนะนำเลยว่าต้องเลือกเรียนในสายนี้ อย่าง คณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ ชีวการแพทย์ เภสัชศาสตร์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมถึงคณะสาขาที่เกี่ยวกับการแพทย์และการดูแลสุขภาพ


สายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมข้อมูล

อีกสาขายืนหนึ่งที่ไม่ตกงานแน่นอน ทั้งในตอนนี้ และอีก 4-5 ปีข้างหน้า เพราะสายอาชีพนี้ยังคงมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ที่สำคัญ “เงินเดือนหรือค่าตอบแทน” ก็สูงมากกก เป็นสายงานที่เด็กจบใหม่จะได้ฐานเงินเดือนสูงอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับคณะสาขาอื่นเลยโดยเฉพาะในสายงาน Mobile Application Developer , Web Developer , Software Developer , Software Tester , Data Science , Data Analytics และสายออกแบบอย่าง UX/UI Designer ซึ่งคณะสาขาที่จะสามารถปูทางไปสู่อาชีพเหล่านี้ได้ ก็อย่างเช่น คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ, คณะวิทยาศาสตร์, คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์, วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี, วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม


สายการเงิน การลงทุน และอสังหาริมทรัพย์

สายงานด้านธุรกิจการเงินการลงทุน เป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาชีพด้านการให้คำปรึกษา ในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คนที่เรียนมาทางด้านนี้มีตลาดงานรองรับทั้งกว้างและเฉพาะทาง รวมถึงสาขาใหม่แต่โดดเด่นอย่าง "สาขาอสังหาริมทรัพย์" ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน แถมสายงานนี้ยังรายได้สูงดิน Top 5 เมื่อเทียบกับทุกสายอาชีพ ใครอยากทำงานสายการเงิน อนาคตดี มีคณะสาขาที่ช่วยพาไปสู่ฝันหลายสาขา อย่างเช่น คณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน, คณะวิทยาการจัดการ สาขาการเงิน, คณะการบัญชีและการจัดการ, คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สาขาการเงินและการธนาคาร, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาการเงินและการคลัง


4.สายธุรกิจ การตลาดดิจิทัล และดิจิทัลมีเดีย

อย่างที่รู้กันดีว่า ยุคนี้ไม่ว่าธุรกิจไหน ก็ต้องปรับตัวมาสู่การขายและทำธุรกิจในโลกออนไลน์ นั่นทำให้ตลาดงานมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญ ที่มีทักษะความรู้เฉพาะทางด้านธุรกิจและการตลาดดิจิทัลมาช่วย ซึ่งแน่นอนว่าความต้องการสายงานนี้จะยังคงพุ่งสูงขึ้นไปอีกหลายปี เพราะตลาดออนไลน์นั้นเปลี่ยนแปลงแทบจะทุกวันและไม่มีวันหยุดนิ่ง ใครที่ชอบงานออนไลน์ อยากทำงานด้านการตลาดดิจิทัล นักวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด นักจัดกิจกรรมทางการตลาด นักสร้างสรรค์เนื้อหาทางการตลาด หรือนักผลิตสื่อดิจิทัล บอกเลยว่าการสมัครเรียนในคณะสาขาเหล่านี้ จะเป็นใบเบิกทางที่ดีในอนาคตได้ อย่างเช่น คณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาดดิจิทัล, คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน สาขาสื่อดิจิทัล, คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการออกแบบสื่อดิจิทัล, คณะนิเทศศาสตร์ สาขาสื่อสารการตลาด


5.สายการจัดการโลจิสติกส์ และวิศวกรรมโลจิสติกส์

อย่างที่รู้กันว่าสายงานวิศวะฯ เป็นที่ต้องการอย่างมากในแทบทุกสาขา แต่สาขาที่แรงสุดๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็คือ “สาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์” จากการเติบโตด้านโลจิสติกส์และโทรคมนาคมภายในประเทศ ทำให้ความต้องการแรงงานในสายนี้เพิ่มสูงขึ้นตาม แต่สถาบันที่ผลิตคนในสายนี้ก็ยังมีไม่มากพอกับตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นั่นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มั่นใจได้เลยว่าในอีกหลายปีก็จะยังเป็นที่ต้องการ มีตลาดงานรองรับอย่างแน่นอน ซึ่งคณะสาขาที่เกี่ยวข้องโดยตรงในสายงานนี้คือสาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์, สาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน, สาขาเทคโนโลยีโลจิสติกส์, สาขาโลจิสติกส์และการขนส่ง, สาขาการจัดการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ


ที่มา: school hug

ปี 1 มรภ.เชียงใหม่ กับกล้องคู่ใจ รับถ่ายภาพ นทท. งานประเพณีเชียงใหม่

โอ้ววว เก่งจริงเจ๋งจริง เด็กดีมีของต้องยกให้เธอ

.

หลายวันก่อนเรื่องนี้กลายเป็นกระแส หลังจากมีคนนำภาพสาวน้อย นศ.ปี1 เธอยืนถือป้ายอยู่งานประเพณีที่คลองแม่ข่าของจังหวัดเชียงใหม่ โดยในป้ายเขียนว่า

.

รับจ้างถ่ายภาพ เริ่มต้น 30 ภาพ 50 บาท หากไม่ชัวร์ ถ่ายให้ฟรีก่อน 5 ภาพ ค่อยตัดสินใจ แต่งโทนให้ฟรีไม่คิดเพิ่ม ขอไฟล์แต่งภาพเองได้”

.

ก่อนที่น้องจะทิ้งช่องทางติดต่อไว้

.

ภาพนี้ถูกแชร์ออกไป มีทั้งคนชื่นชมและสนับสนุนน้อง พร้อมกับบอกว่า น้องคิดราคาถูกเกินไป อยากให้ขึ้นราคาอีกนิด เพราะคุณภาพที่น้องถ่ายมาก็ไม่ได้ไก่กาเลย

.

แต่บางมุมก็บอกว่าน้องเรียกราคาที่ถูกเกินไปทำให้วงการช่างภาพเสียราคา

.

ล่าสุดในเฟซบุ๊กส่วนตัวของน้องชื่อ Chon Tongjarm ได้โพสต์ชี้แจงว่า ที่น้องคิดราคาถูกเพราะถือเป็นการฝึกฝีมือการถ่ายภาพไปด้วย และอีกอย่างไม่อยากคิดราคาสูงเพราะตนก็ยังไม่เก่งมาก

.

และบอกอีกว่า

.

-รับถ่ายประจำที่คลองแม่ข่า 30 รูป 50 บาท

-ถ่ายนอกสถานที่ แค่เฉพาะในเชียงใหม่

(ให้คุยตกลงในแชทส่วนตัว)

.

****ยังไม่รับงานถ่ายสินค้า อาหาร หรือ

งานต่างจังหวัดนะคะ ไม่สะดวกไปค่ะ****

.

การส่งภาพ

จะส่งรูปเป็นไฟล์ที่แต่งภาพให้แล้วค่ะ

หากต้องการรูปไฟล์ RAW แจ้งด้วยนะคะ

ช่องทางการติดต่อ

.

***น้องขออนุญาตงดโทรตั้งแต่เวลา 19:00

.

IG : stupid_cat_phot เป็นต้นไปนะคะ ไม่สะดวกรับจริงๆค่ะ***

Facebook : Chon Tongjarm

Line : 094-621-4441

.

หากสงสัยสอบถามแชทถามเพิ่มเติมได้นะคะ

.

ใครแวะไปเชียงใหม่ อย่าลืมไปสนับสนุนคนเก่งนะคะ

.

แหล่งที่มา : https://www.ejan.co/ejanjaxlax/msrko4ut98?fbclid=IwAR1p4rDav3p0XyWv3D9UT1xYGRciXaii74yBC_fWTK94nhUNgEBoQej4b4A


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top