Thursday, 2 May 2024
THE STUDY TIMES

‘TCSA-CSSAT’ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ คนรุ่นใหม่ไทย-จีน จัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ พานักเรียนจีนท่องวิถีชุมชนไทย

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 66 สมาคมนักเรียนไทย-จีน (TCSA) ร่วมสมาคมนักศึกษาและนักวิชาการจีนแห่งประเทศไทย (CSSAT) จัดกิจกรรม ‘One day trip กระชับมิตรไทย-จีน’ สนับสนุนโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มุ่งเดินทางบนเส้นทางการท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปยังจังหวัดสมุทรสงคราม ณ ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคลน

กิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ผ่านการเดินทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อชุมชน และการทำจิตอาสาปลูกจิตสำนึก ถึงคุณค่าของป่าชายเลน ซึ่งสำคัญต่อระบบนิเวศในองค์รวม นอกจากนี้ ยังเป็นกิจกรรมที่ได้นำพาเพื่อนๆ นักเรียนนักศึกษาชาวไทยและชาวจีนมาพบเจอกัน รู้จัก แลกเปลี่ยนทางภาษา เป็นสะพานในการสานความสัมพันธ์ในระดับนักเรียนนักศึกษา เพื่อสร้างโอกาสทางเครือข่าย อันจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในมุมของอนาคตความสัมพันธ์ไทย-จีน

กิจกรรม One day trip ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมเป็นนักเรียนไทย-จีน จำนวน 40 คน เป็นคนจีน 24 คน คนไทย 16 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ศ.ดร.หวัง ฮวน ภริยา ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และนางเฝิง จวิ้นอิง อัคราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษา 

ภิริยาทูตจีนฯ กล่าวว่า “รู้สึกประทับใจกับกิจกรรมในวันนี้ และอยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีกในอนาคต ตัวท่านได้เปิดประสบการณ์และเรียนรู้หลาย ๆ อย่างในวันนี้”

อาจารย์หวังฯ ยังกล่าวอีกว่า “กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่มีความหมายเป็นอย่างมาก เพราะทำให้นักเรียนจีนในไทย ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ และได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทย ที่สำคัญ ได้ทำกิจกรรมอาสา ที่เป็นการให้ประโยชน์กลับสู่ชุมชนด้วยเช่นกัน ต้องขอชื่นชมทีมงานผู้จัดกิจกรรม ที่จัดออกมาได้อย่างแปลกใหม่ และเข้ากับยุคสมัย”

 

‘โรงเรียนภาคค่ำ’ สถานที่รวมตัว ‘พนักงานออฟฟิศเซี่ยงไฮ้’ ใช้เวลาหลังเลิกงาน เรียนรู้วัฒนธรรม-ดนตรี-ศิลปะของจีน

เมื่อวานนี้ (3 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หลังจากถึงเวลาเลิกงาน เหล่าพนักงานออฟฟิศจำนวนมากในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีนต่างเร่งรีบไป ‘โรงเรียนภาคค่ำ’ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกเขาใช้เรียนรู้วิชาศิลปะหลากหลายแขนง นอกเหนือจากการเรียนรู้อ่านเขียนดังเช่นในอดีต

เครื่องดนตรีแบบดั้งเดิม การวาดภาพสีน้ำและหมึก อุปรากรปักกิ่ง และการสานไม้ไผ่ ล้วนแล้วแต่เป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่หลักสูตรศิลปะจีนหลากหลายประเภท

การรวมกลุ่มคน 9-5 คนเพื่อมาโรงเรียนภาคค่ำกำลังกลายเป็นไลฟ์สไตล์ทันสมัยสำหรับหนุ่มสาวในเซี่ยงไฮ้

“โรงเรียนภาคค่ำแห่งนี้อยู่ใกล้บ้านมาก ๆ ค่ะ มันช่วยให้พนักงานออฟฟิศอย่างฉันได้เรียนชั้นเรียนเหล่านี้ด้วยราคาสมเหตุสมผล” หวัง นักเรียนโรงเรียนภาคค่ำคนหนึ่งกล่าว

คณะอาจารย์ในโรงเรียนภาคค่ำส่วนใหญ่มีประสบการณ์และอาจเป็นถึงศิลปินที่มีชื่อเสียง เช่น อาจารย์สอนอุปรากรปักกิ่งบางคนที่เป็นนักแสดงระดับชาติ ขณะชั้นเรียนงานฝีมือบางวิชาถูกสอนโดยผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

“ผมเริ่มสอนจงร่วน (เครื่องดนตรีสายประเภทหนึ่งของจีน) ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ผมเล่นเครื่องดนตรีหลายประเภทได้ดี เลยสอนกลองแอฟริกัน อูคูเลเล่ และกีตาร์ในโรงเรียนภาคค่ำด้วย นักเรียนทั่วไปของที่นี่มีอายุ 18-50 ปี และส่วนใหญ่มีอายุ 25-35 ปี” หลิวอวิ๋นฉี อาจารย์ประจำโรงเรียนภาคค่ำกล่าว

การเข้าเรียนชั้นเรียนภาคค่ำซึ่งผสมผสานการศึกษาเข้ากับวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม ไม่ได้เป็นเพียงวิธีการสร้างความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีหนึ่งในการดื่มด่ำกับประวัติศาสตร์และเข้าใจคุณค่าของมันด้วย

หลักสูตรที่ครอบคลุมหมวดหมู่ศิลปะมากกว่าสิบประเภท พร้อมด้วยเหล่าอาจารย์ผู้สอนระดับมืออาชีพ ทำให้โรงเรียนภาคค่ำในเซี่ยงไฮ้กำลังเป็นกระแสจนยากจะจับจองที่นั่ง โดยช่วงสูงสุดมีผู้ลงทะเบียนเพื่อจองเรียนออนไลน์พร้อมกันกว่า 650,000 คน

“ชาวเน็ตหลายคนบอกว่าโรงเรียนภาคค่ำกลายเป็น ‘ไนต์คลับ’ สำหรับพนักงานออฟฟิศในเซี่ยงไฮ้ไปแล้ว ผมคิดว่านอกเหนือจากการไปโรงหนัง บาร์ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอื่น ๆ พวกเราสามารถเลือกมาโรงเรียนภาคค่ำที่ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ด้วย ที่นี่พวกเราสามารถทำความรู้จักเพื่อนใหม่ไปพร้อมกับสร้างความบันเทิงให้กับตัวเอง ขณะเดียวกันเราก็สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ไปด้วย” หลิวบอกเล่า

“เซี่ยงไฮ้เป็นมหานครระดับนานาชาติ ผมเลยคิดว่าชั้นเรียนพวกนี้มีประโยชน์มาก ๆ ต่อการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงพวกเครื่องดนตรีแบบดั้งเดิมด้วยนะครับ” สวี นักเรียนโรงเรียนภาคค่ำคนหนึ่งกล่าว

‘นักวิจัยไทย’ ค้นพบ ‘ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ’ ดวงใหม่รอบระบบดาวคู่ สะท้อน!! ศักยภาพ ‘นักดาราศาสตร์ไทย-กล้องโทรทรรศน์ NARIT’

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า...

นักวิจัย NARIT ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่รอบระบบดาวคู่

ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัย NARIT ร่วมทีมนักวิจัยไทย ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่ที่โคจรรอบระบบดาวคู่ RR Cae ถือเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงที่ 2 ที่ถูกค้นพบในระบบดังกล่าว และนับเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกที่ถูกค้นพบโดยนักวิจัยชาวไทยทั้งหมด

ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจำนวนมากกว่า 5,000 ดวง ส่วนใหญ่เป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรรอบดาวฤกษ์เพียงดวงเดียว มีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเพียงประมาณ 20 ดวงเท่านั้นที่ถูกค้นพบว่าโคจรรอบระบบดาวคู่ โดยในการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบระบบดาวคู่ส่วนใหญ่ จะถูกค้นพบด้วยเทคนิค การเปลี่ยนแปลงเวลาการบังกันของดาวคู่ (Eclipse timing variation) ซึ่งเป็นการสังเกตการณ์การบังกันของดาวคู่อุปราคา ถ้าในระบบดาวคู่ดังกล่าวมีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ แรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์จะทำให้ตำแหน่งของดาวคู่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ช่วงเวลาที่เกิดการบังกันที่สังเกตการณ์ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปไม่สม่ำเสมอ

ระบบดาวคู่ RR Cae เป็นระบบดาวคู่ที่ประกอบด้วยดาวแคระขาว และดาวฤกษ์มวลน้อยสีแดง อยู่ห่างจากโลก 69 ปีแสง ก่อนหน้านี้ทีมนักดาราศาสตร์จีนค้นพบว่า ระบบดาวคู่ RR Cae มีการเปลี่ยนแปลงเวลาการบังกันของดาวคู่ ซึ่งเกิดจากผลของแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์มวลประมาณ 4.2 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี ที่โคจรรอบระบบดาวคู่ด้วยคาบ 11.9 ปี

ในงานวิจัยนี้ทีมนักวิจัยไทยได้มีการสังเกตการณ์ระบบดาวคู่ RR Cae ด้วยกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติของ NARIT ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6 เมตร PROMPT-8 ณ หอดูดาว Cerro Tololo Inter-American ประเทศชิลี และกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติขนาด 0.7 เมตร ณ หอดูดาว Spring brook ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับฐานข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope (VLT) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS (Transiting Exoplanet Survey Satellite) ระหว่างปี พ.ศ.2561-2563 ได้กราฟแสงขณะเกิดการบังกันของระบบดาวคู่ RR Cae ทั้งหมด 430 ครั้ง

จากข้อมูลกราฟแสงการบังกันดังกล่าว ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูล และสร้างแบบจำลองทางกายภาพของระบบดาวคู่ RR Cae ด้วย ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ‘ชาละวันคลัสเตอร์’ (Chalawan High Performance Computing Cluster) ของ NARIT พบว่าดาวฤกษ์มวลน้อยสีแดงในระบบดาวคู่ มีจุดมืดและจุดสว่างขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เคยค้นพบในงานวิจัยมาก่อนหน้านี้ และเมื่อนำข้อมูลการบังกันมาวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงเวลาการบังกันของดาวคู่ RR Cae พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเวลาการบังกันที่เกิดจากผลของแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 2 ดวง โดยดาวเคราะห์ดวงแรกมีมวล 3.0 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี โคจรรอบดาวคู่ด้วยคาบประมาณ 15 ปี และดาวเคราะห์ดวงที่สองซึ่งเป็นดาวเคราะห์ใหม่ที่พึ่งถูกค้นพบ มีมวลประมาณ 2.7 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี และมีคาบการโคจรประมาณ 39 ปี

ดาวเคราะห์นอกระบบใหม่ที่ถูกค้นพบในงานวิจัยนี้ นับเป็นดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ถูกค้นพบโดยทีมนักวิจัยคนไทยทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักดาราศาสตร์ไทย และกล้องโทรทรรศน์ NARIT ในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่ ซึ่งจะช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกต่อไป

เรียบเรียง : ดร. ศุภชัย อาวิพันธุ์ - นักวิจัย กลุ่มวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและชีวดาราศาสตร์ สดร.

อาชีวศึกษา ‘ไทย-จีน’ จับมือพัฒนา ‘โครงการ 210 สาขาวิชา’ หวังบ่มเพาะทักษะวิชาชีพผู้เรียน - เสริมแกร่งภาคอุตสาหกรรม

เมื่อวานนี้ (30 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การประชุมความร่วมมือทางอุตสาหกรรมและการศึกษาระหว่างประเทศ หัวข้อการสร้างความเป็นดิจิทัลแก่การศึกษา ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งของจีนเมื่อไม่นานนี้ รายงานแผนการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาของจีน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและความต้องการทางอุตสาหกรรมของจีนและไทย เข้ากับระบบอาชีวศึกษาของไทย

รายงานระบุว่าแผนการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาของจีนเข้าสู่ระบบอาชีวศึกษาของไทย จำนวน 210 สาขา มีเป้าหมายช่วยเหลือไทยให้สามารถบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถทางทักษะวิชาชีพเพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมการยกระดับทางอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ (27 ต.ค.) มีการจัดพิธีลงนามโครงการความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาจีน-ไทย 210 หรือ ‘โครงการ 210 จีน-ไทย’ โดยคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้ลงนามข้อตกลงกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากสถาบันอาชีวศึกษาของจีน 4 แห่ง และบริษัท ถังเฟิง อินเตอร์เนชันแนล เอ็ดดูเคชัน กรุ๊ป

โครงการ 210 จีน-ไทย มุ่งร่วมสร้างสาขาวิชาอาชีวศึกษาอันทันสมัย จำนวน 210 สาขา ภายใต้การทำงานร่วมกันของคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของไทย และบริษัทฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกระหว่างกลุ่มสถาบันอาชีวศึกษาของสองประเทศในการกำหนดหลักสูตร การฝึกอบรมครูอาจารย์ และการผลิตนักศึกษาวุฒิคู่ขนาน

สาขาวิชาส่วนหนึ่งของโครงการ 210 จีน-ไทย ซึ่งจะถูกปรับใช้เป็นชุดแรก ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ เทคโนโลยียานยนต์พลังงานใหม่ เทคโนโลยีการประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) เทคโนโลยีการซ่อมบำรุงทางรถไฟความเร็วสูงแบบครบวงจร อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ

สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของไทย กล่าวว่าอาชีวศึกษามีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก โดยความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระหว่างจีนและไทยนี้เกื้อหนุนการสร้างความเป็นดิจิทัล รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย ทั้งเชื่อมโยงกับแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) อย่างลึกซึ้ง

นอกจากนั้นความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวศึกษาและผู้ประกอบการจะช่วยให้ภาคอาชีวศึกษาสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น ก่อให้เกิดการบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถในไทยเพิ่มขึ้น ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันด้านการจ้างงานและรายได้ของเยาวชนไทยรุ่นใหม่ มีส่วนส่งเสริมการพัฒนาและเสถียรภาพของสังคมไทย

สดช. เดินหน้าต่อยอดความสำเร็จ ‘กองทุนดีอี’ พร้อมโชว์ 10 โครงการเด่น ยกระดับดิจิทัลเพื่อสังคม

สดช. แถลงผลการดำเนินงานกองทุนดีอี มีโครงการแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 89.93 ทุกโครงการเดินหน้าขยายผลโครงการเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม พร้อมจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงาน 10 โครงการเด่น 

(25 ต.ค. 66) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดกิจกรรมสัมมนาและนิทรรศการผู้รับทุนกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปี พ.ศ. 2566 (กองทุนดีอี) โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเป็นเกียรติเข้าร่วมกิจกรรมฯ และนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวรายงานและแถลงผลการดำเนินงานในภาพรวมของการให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนดีอี คือ การส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการให้ทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลฯ มีบทบาทผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยให้ความรู้ สร้างสิ่งใหม่แก่สาธารณชน โดยรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการพัฒนาระบบ Digital ของประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต่อโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศในระยะถัดไป โดยเรื่องแรกที่จะดำเนินการ คือ Go Cloud First ซึ่งได้วางกรอบในการขยายเชิงโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 

ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีโครงสร้างดึงบริษัทชั้นนำทั่วโลกเข้ามาลงทุนด้าน Cloud Data Center ในประเทศไทย ในส่วนของ Digital ID มีกรอบที่ชัดเจนมากขึ้นและขณะนี้กฎหมายได้มีมาตรฐานที่รับรองไว้แล้ว สำหรับเรื่องเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การพัฒนาพื้นที่หรือระดับเมือง ได้ส่งเสริมการนำข้อมูล Big Data เข้ามาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลเมืองในแต่ชั้นข้อมูล พร้อมวิเคราะห์ผลผ่านแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform : CDP) 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ได้แก่ การจ่ายเงินภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ One Stop Service และการนำระบบ Blockchain มาใช้เพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรมกับภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็น Digital Government ต่อไป

ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า
ผลการดำเนินงานของกองทุนดีอี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมากองทุนฯ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเปิดรับข้อเสนอขอรับทุนสนับสนุน และระบบสนับสนุนภายในทั้งทางด้านการวิเคราะห์โครงการ และด้านการติดตามและประเมินผลโครงการ โดยมีการนำเอาผลสำรวจความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาจัดทำเป็นแผนปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการแก่ผู้ขอรับทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับการจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ กองทุนดีอีมีเป้าหมายที่จะนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานของผู้รับทุน พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการยื่นขอรับทุน รวมทั้งมีการจัดนิทรรศเพื่อการแสดงผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นไอเดียสำหรับผู้สนใจที่จะขอรับทุนต่อไป โดยมีการนำโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลมาจัดแสดงในงานนิทรรศการแสดงผลงาน จำนวน 10 โครงการ ได้แก่

1. โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอขอโดยสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในมาตรา 26 (1) ซึ่งได้รับการสนับสนุนในการใช้อากาศยานไร้คนขับ ในการสำรวจทางอุทยานแห่งชาติและชายฝั่ง ซึ่งในวันนี้กระทรวงฯ ได้มานำเสนอการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยใช้อากาศยานไร้คนขับในการลาดตระเวนสำรวจพื้นที่ และจัดทำแผนที่อุทยานแห่งชาติในรูปแบบภาพถ่ายทางอากาศ 

2. โครงการโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล เสนอขอโดยสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในมาตรา 26 (1) เป็นการจัดทำโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล (Digital Science Museum Guides program) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและเยาวชนของชาติ ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อีกทางหนึ่ง

3. โครงการจัดหาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face verification System) เสนอขอโดยกรมการปกครอง ในมาตรา 26 (1) เป็นการจัดทำระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service: FVS) ของประเทศเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยมีฟังชั่นก์ที่ให้บริการ อาทิ 

(1) แสดงบัตรประชาชน 
(2) แสดงข้อมูลทะเบียนบ้าน 
(3) ข้อมูลการฉีดวัคซีน โควิด-19 
(4) การคัดและรับรองเอกสารงานทะเบียน พร้อมทั้งยังมีระบบต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับระบบหลัก เช่น ระบบ Health link ระบบ Lands Maps ระบบจองหมายเลขทะเบียนรถยนต์ และระบบยื่นภาษีออนไลน์

4. โครงการพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสำหรับทุกคน เสนอขอโดยคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในมาตรา 26 (1) ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ 2 ระยะ เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบที่ใช้ในการรักษาบนรถโมบายสโตรคยูนิตรวมทั้งระบบการปรึกษาทางไกลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองผ่านระบบ Telestroke และพัฒนาระบบส่งต่อข้อมูลทางการแพทย์ ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โดยมีการขยายพื้นที่เป้าหมายใน 6 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราชบุรี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงราย และนครพนม 

5. โครงการให้บริการรายการข้อมูลภาครัฐ เสนอขอโดยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 
ในมาตรา 26 (1) เป็นการให้บริการรายการข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐ ในการจัดทำรายการข้อมูลภาครัฐ Data Catalog และ Data Government สำหรับ 50 หน่วยงาน โดยเป็นการเชื่อมต่อแหล่งข้อมูล และเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐที่ติดตั้งอยู่ในระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC)

6. โครงการระบบดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกคลัสเตอร์เส้นใยธรรมชาติเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับวิสาหกิจชุมชนไปสู่วิสาหกิจนวัตกรรม เสนอขอโดยภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาระบบ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายธุรกิจในการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาดระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนไปสู่ห่วงโซ่ อุปทานของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

7. โครงการการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง (Development of Chemistry Lab in Metaverse) เสนอขอโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในมาตรา 26 (2) เป็นการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงห้องปฏิบัติการทางเคมีให้กับนักเรียน/นักศึกษาโดยสามารถใช้ซอฟต์แวร์ทำการทดลองทางเคมีแบบมีผู้ใช้งานพร้อมกันได้หลายคนในสภาพแวดล้อมเหมือนห้องปฏิบัติการจริง ประกอบกับลดข้อจำกัดจากการทำห้องปฏิบัติการทางเคมีที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้อีกด้วย

8. โครงการศูนย์บริการประชาชน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เสนอขอโดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาระบบสนับสนุน เพื่อให้บริการประชาชนตั้งแต่รับแจ้ง แก้ไข ป้องกัน บังคับใช้กฎหมายจนคดีถึงที่สุด

9. โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย เสนอขอโดยกรมที่ดิน ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการเชื่อมโยงและให้บริการข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในรูปแบบของแอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์ม Data as a Service : DaaS

10. โครงการพัฒนาชุดฝึกอบรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริงเพื่อสร้างเสริมอาชีพให้แก่กลุ่มเยาวชนในวัยทำงานที่อยู่นอกระบบการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและอาชีพในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง เสนอขอโดยสำนักวิจัย และ บริการวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ในมาตรา 26 (2) เป็นการสร้างชุดฝึกอบรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง เพื่อเตรียมกำลังคนในกลุ่มเยาวชนในวัยทำงานที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ ในด้านยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งใช้ฝึกก่อนการปฏิบัติงานจริง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในขณะที่ปฏิบัติงาน 

“กองทุนดีอีได้สนับสนุนทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้อนุมัติโครงการมาตรา 26 (1) (2) และ (6) ซึ่งเป็นการให้ทุนในกรณีสถานการณ์โควิด-19 และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ไปแล้วจำนวน 244 โครงการ ซึ่งปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วกว่าร้อยละ 89.93 โดยทุกโครงการจะมีการนำไปขยายผลเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติต่อไป” นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

‘ทีมวิศวกร MIT’ ออกแบบระบบใช้ประโยชน์ ‘พลังงานสุริยะ’ ผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสะอาด แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

เมื่อวานนี้ 23 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทีมนักวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ในรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐฯ เปิดเผยผลงานการออกแบบใหม่ที่อาจควบคุมและใช้ประโยชน์จากความร้อนของดวงอาทิตย์สูงถึงร้อยละ 40 เพื่อผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสะอาด

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ผ่านวารสารโซลาร์ เอ็นเนอร์จี เจอร์นัล (Solar Energy Journal) ระบุว่าทีมวิศวกรของสถาบันฯ ได้ทำการออกแบบระบบที่สามารถผลิตไฮโดรเจนทางอุณหเคมีหรือเคมีความร้อน (thermochemical) จากพลังงานแสงอาทิตย์

ระบบดังกล่าวควบคุมและใช้ประโยชน์จากความร้อนของดวงอาทิตย์เพื่อแยกน้ำโดยตรงและผลิตไฮโดรเจน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่สามารถเป็นพลังงานขับเคลื่อนรถบรรทุก เรือ และเครื่องบินในระยะไกลโดยไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อนึ่ง ระบบการผลิตไฮโดรเจนแบบดั้งเดิมพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ระบบใหม่ใช้เพียงพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น

อาห์เมด โกเนิม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลของสถาบันฯ ซึ่งเป็นผู้เขียนผลการศึกษาลำดับแรก เผยว่าไฮโดรเจนถือเป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคต โดยมีความจำเป็นต้องผลิตไฮโดรเจนให้ได้ในต้นทุนที่ถูกและปริมาณมาก

วันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น ‘กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ’ ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น ‘กรมขุนพินิตประชานาถ’ บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 ทรงพระนามว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’

เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช

ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม

ในตอนนี้ยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา 2 ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย 1 ครั้ง การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครองที่ชาวยุโรปนำมาใช้ปกครองเมืองขึ้นของตน เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทยให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าในพระราชฐานก็ใช้ยืน และนั่งตามโอกาสสมควร ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานเหมือนแต่ก่อน

เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ได้ทรงผนวชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน

ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่าง ๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา ครองราชสมบัติมานานถึง 42 ปี

ในรัชสมัยของพระองค์ สยามประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความวัฒนาให้กับชาติเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้า การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ ฯลฯ ด้วยพระราชกรณียกิจที่ยังความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชน ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงน้อมใจแสดงความจงรักภักดี ด้วยการถวายพระนามว่า ‘พระปิยมหาราช’ หรือพระพุทธเจ้าหลวง และกำหนดให้ทุกวันที่ 23 ตุลาคม เป็น ‘วันปิยมหาราช’

‘พรูเด็นเชียล-ยูนิเซฟ’ เล็งเห็นความสำคัญวัยเด็ก จัดกิจกรรม ‘เลี้ยงถูก ลูกดี’ เสริมเทคนิคเลี้ยงลูกให้พ่อแม่ยุคใหม่-ใช้เวลาในครอบครัวอย่างมีคุณภาพ

เด็กในช่วงวัย 0-6 ปี จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลานาทีทองที่จะส่งผลต่ออนาคตของเด็กไปตลอดชีวิต

เมื่อไม่นานนี้ ‘พรูเด็นเชียล ประเทศไทย พรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน’ และ ‘องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย’ จับมือกันเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลเด็กในช่วงปฐมวัย เพื่อสร้างรากฐานชีวิตที่ดีให้แก่คนในสังคม ผ่านกิจกรรม ‘เลี้ยงถูก ลูกดี’ ที่เปิดโอกาสให้พ่อแม่ยุคใหม่ได้เติมเต็มความรู้ในการเลี้ยงลูกและได้ใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกันในครอบครัว

อ.ดร.นุชนาฏ รักษี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงความสำคัญของเด็กในวัย 0-6 ปี ว่า เป็นช่วงเวลาที่สมองพัฒนาสูงสุด โดยเด็กในวัยนี้จะเหมือนกับฟองน้ำที่พร้อมดูดซับความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้จากการอบรมเลี้ยงดู ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและสมอง อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ต่อยอดไปถึงทักษะการเรียนรู้ การควบคุมอารมณ์ และการเข้าสังคมของเด็ก รวมทั้งยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติ บุคลิกภาพ และพฤติกรรมในอนาคตเมื่อเป็นผู้ใหญ่

สำหรับ 5 หลักการดูแลเด็กอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นหลักการดูแลเอาใจใส่เด็กทั้ง 5 ด้าน ที่องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟได้จัดการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เพื่อวางกรอบการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยให้สามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย

1.) สุขภาพที่ดี หมายถึงสุขภาพที่ดีทั้งของเด็กและของผู้ดูแล ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

2.) โภชนาการที่เพียงพอ ทั้งร่างกายและสมองต่างต้องการสารอาหารที่ครบถ้วนและพอเหมาะ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในการเติบโต หากเด็กได้รับสารอาหารน้อยหรือมากเกินไป อาจมีภาวะทุพโภชนาการได้

3.) คุ้มครองให้ความปลอดภัยและมั่นคง หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและครอบครัว เพราะเด็กเล็กไม่สามารถป้องกันตนเองได้และมีความเปราะบางต่ออันตรายต่างๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงการเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย เพราะการปกป้องให้ลูกรู้สึกปลอดภัยเพียงพอ รับรู้ถึงความรัก ความผูกพันมั่นคง เน้นการให้กำลังใจ จะสร้างความพร้อมให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีในอนาคต

4.) ให้โอกาสในการเรียนรู้ ในขวบปีแรกๆ เด็กจะเรียนรู้และได้รับทักษะและความสามารถจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นผ่านรอยยิ้ม การสบตา การพูดคุย ร้องเพลง การเลียนแบบ และการละเล่นง่ายๆ

5.) มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก การที่พ่อแม่คอยตอบสนองลูกอย่างเอาใจใส่ และรับฟังความต้องการของลูกอย่างใกล้ชิด เปรียบเสมือนการวางรากฐานชีวิตที่มั่นคงแข็งแรงให้กับลูก ทำให้พัฒนาการด้านต่างๆ ตามวัยสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งสำคัญที่ไม่อาจหาได้จากที่ไหนคือ ความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจที่จะหลอมรวมกันจนกลายเป็นตัวตนของเด็ก และติดตัวจนโตเป็นผู้ใหญ่ไปตลอดชีวิต

กลุ่ม ปตท. จัดงาน ‘PTT Group CG Day 2023’ ครั้งที่ 15 ผนึกกำลังยกระดับความโปร่งใสสู่การเป็น ‘วัฒนธรรมองค์กร’

เมื่อไม่นานมานี้ นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทในกลุ่ม ปตท. ประกอบด้วย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP), บริษัท พีทีที  โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP), บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC), บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) และ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ร่วมแสดงพลังขับเคลื่อนธุรกิจด้วยหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในงาน PTT Group CG Day 2023 ครั้งที่ 15 ภายใต้แนวคิด ‘Good to Great : CG Empowering for the Future ผสานพลังร่วม รวมพลังสร้าง สู่อนาคตยั่งยืน’ ซึ่งเป็นการแสดงพลังร่วมของกลุ่ม ปตท. ที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ

นายนพดล เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. ร่วมกันจัดงาน PTT Group CG Day อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีแสดงพลังร่วมของกลุ่ม ปตท. ในการมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล พร้อมส่งเสริมบุคลากรในกลุ่ม ปตท. ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ และนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีไปปรับใช้ในการทำงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร  

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของกลุ่ม ปตท. ลูกค้า คู่ค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี เตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืน และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ งาน PTT Group CG Day 2023 จัดขึ้นในรูปแบบ Hybrid เพื่อตอบสนองต่อรูปแบบการทำงานในปัจจุบัน มีผู้ร่วมงาน ณ ห้อง Synergy Hall ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคาร C กว่า 400 คน และมีผู้ร่วมงานผ่านระบบออนไลน์จากทั่วประเทศ โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงของกลุ่ม ปตท. การประกวดผลงานด้าน CG ของพนักงานกลุ่ม ปตท. และการเสวนาหัวข้อ CG Talk : Great of Trust โดย ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ 

นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ รวมไปถึงกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี แก่ผู้บริหาร พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า แขกรับเชิญจากหน่วยงานต่าง ๆ และสื่อมวลชน อีกด้วย

‘นักวิจัยพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง’ ติด TOP 2% นักวิจัยระดับโลก!! จากการจัดอันดับโดย ‘Stanford University’ ดันไทยสู่ชั้นแนวหน้าของโลก

ขอแสดงความยินดีกับ ‘นักวิจัยไทย’ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ติดอันดับ TOP 2% นักวิจัยระดับโลก!! 🌍 Top-Cited Scientists - Single Recent Year Impact 🏆✨

ถือเป็นความภูมิใจของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประเทศไทย!! 🇹🇭🧡

เมื่อมีการจัดอันดับ ‘The World Scientists’ โดย Stanford University อ้างอิงจากข้อมูล Citations และ H-index ของผลงานวิจัยใน 22 สาขาวิชาหลัก และ 174 สาขาวิชาย่อย ซึ่งมีนักวิจัยชั้นแนวหน้าทั่วโลกกว่า 100,000 คน เข้าร่วมการจัดลำดับในครั้งนี้ อ้างอิงจากฐานข้อมูล Scopus

(ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2566)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top