KEETA' โปรเจคอนาคต ! ทีมเยาวชนไทยเข้ารอบ NASA ผลิตอาหารจากแมลง !

ทีม “กีฏะ” หรือ KEETA ทีมคนไทย ที่สมควรได้รับเสียงเชียร์จากคนไทยทั้งประเทศ เพราะมีดีกรีความสามารถระดับโลก จนก้าวสู่รอบ 9 ทีมสุดท้าย จากกว่า 300 ทีมทั่วโลก บนเวที โครงการพัฒนาระบบผลิตอาหารอัตโนมัติและครบวงจรสำหรับนักบินอวกาศ หรือ Deep Space Food Challenge จัดโดย องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) และ องค์การอวกาศแคนาดา

.

ดร .โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งทีมกีฏะ เล่าว่า การแข่งขันนี้เพื่อแก้ปัญหา 100 ปีของ NASA เพราะแม้วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศจะก้าวหน้าแค่ไหน แต่ปัญหาหลักยังคงอยู่เสมอ คือการผลิตอาหารให้เพียงพอสำหรับมนุษย์ที่ขึ้นไปสำรวจ และใช้ชีวิตบนอวกาศ ครั้งนี้ NASA ให้โจทย์สำหรับการผลิตอาหารให้นักบินอวกาศ 4 คน ระยะเวลา 3 ปี

.

“ผม และ ดร.วเรศ จันทร์เจริญ ผู้ร่วมก่อตั้งทีม ทำงานวิจัยด้านอวกาศอยู่แล้ว พอมีการแข่งขันนี้ ก็คุยถึงการต่อยอดจากเรื่องที่มีองค์ความรู้กันอยู่แล้วอย่างเรื่อง 3D Food Printer เพื่อนำมาเป็นเครื่องปรินท์อาหารบนอวกาศ หากเอามาประกอบกับวัตถุดิบที่เหมาะสม น่าจะตอบโจทย์การแก้ปัญหานี้ได้ เรา 2 คน และน้องๆ นิสิตฝึกงานที่ Space Zab สตาร์ทอัพวิจัยด้านอวกาศของ ดร.วเรศ จึงเริ่มต้นสร้างทีม ร่วมมือกันแก้โจทย์” ดร.โพธิวัฒน์ กล่าว

.

วัตถุดิบหลักที่ทีมนึกถึงคือ “หนอนแมลง” เพราะคนไทยนิยมทาน รสชาติอร่อย คุณค่าทางอาหารสูง และเป็นสิ่งมีชีวิตที่ขยายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่องครั้งละจำนวนมาก ทีมค่อยๆ ตัดช้อยส์แมลงชนิดต่างๆ จนเหลือหนอนด้วงสาคู ซึ่งเป็นแมลงปลอดภัย ไม่มีผลกระทบเรื่องเสียง หรือการบินในอวกาศ การเลือกวัตถุดิบเป็นแมลง ทำให้ทีมตั้งชื่อว่า “กีฏะ” ที่แปลว่าแมลง

.

เมื่อต้องคิดระบบผลิตอาหารสำหรับการใช้ชีวิต 3 ปี สิ่งที่มองว่าจำเป็น คือการสร้าง “ระบบนิเวศ” ที่ทำให้ผลิตอาหารได้ต่อเนื่อง ยั่งยืน และใช้พื้นที่น้อยที่สุด เพื่อให้ขนส่งระบบไปบนอวกาศได้จริง จึงออกแบบระบบนิเวศให้มี 3 ส่วน ได้แก่ 1.ระบบเพาะปลูกพืช เพื่อเป็นอาหารแมลง 2.ระบบปศุสัตว์แมลง เพื่อเพาะเลี้ยงแมลง และนำมูลไปเป็นปุ๋ยเพาะปลูกพืช และ 3.ระบบผลิตอาหาร นำแมลงมาผ่านกระบวนการผลิตอาหาร พิมพ์ออกมาผ่าน 3D Food Printer ในตู้กดอาหารอัตโนมัติ เมนูหน้าตาคล้ายนักเก็ต 1-2 เมนู โดยทั้ง 3 ระบบ ทำในพื้นที่ 30 ตารางเมตร

.

“เป้าหมายสูงสุดของทีม คือคว้าชัยชนะบนเวที เพราะเป็นก้าวสำคัญพาไทยขึ้นแท่นผู้นำในเศรษฐกิจอวกาศแบบใหม่ ตอบโจทย์การผลิตอาหารอวกาศ เพื่อหลากธุรกิจใหม่ที่ทยอยเกิดขึ้น กระทั่งการขึ้นไปใช้ชีวิตจริงบนดาวต่างๆ สิ่งที่ทำถือว่าแปลกใหม่ ต่างจากอาหารอวกาศยุคก่อนต้องเป็นแคปซูล หรือผลิตด้วยระบบฟรีซดราย หากได้รับแรงสนับสนุน อาจทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำธุรกิจอาหารอวกาศของโลก” ดร.โพธิวัฒน์ กล่าว

.

ด้าน สิทธิพล คูเสริมมิตร หรือ ตุลย์ บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกทีมกีฏะ เสริมว่า ผลงานนี้ไม่เป็นประโยชน์กับการใช้ชีวิตบนอวกาศเท่านั้น แต่ยังประยุกต์ใช้กับการผลิตอาหารเพื่อพื้นที่ทุรกันดารบนโลกได้ด้วย ตามโจทย์ของ NASA

.

“เรากำลังทำเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน ต้องรวมพลังคนหลายกลุ่ม ทั้งวิศวกร หมอ นักวิทยาศาสตร์ ทำงานร่วมกัน และเรื่องที่เป็นโอกาสผลักดันจุดเด่นของไทยจากครัวโลก สู่ครัวอวกาศ จะทำเต็มที่ อยากให้ทุกคนสนับสนุน และเป็นกำลังใจให้ด้วย” สิทธิพล ย้ำ

.

สำหรับการแข่งขัน อยู่ในเฟสที่ 2 การสาธิตครัวอวกาศ โดยช่วงกลางเดือนธันวาคม ทีมที่เหลืออยู่ต้องส่งรายงานความคืบหน้าโครงการ พร้อมวิดีโอสรุป และจะคัดเหลือ 5 ทีมสุดท้าย ที่ NASA จะเดินทางมาดูด้วยตัวเองในช่วงต้นปี 2566

.

ที่มา : มติชน