มูนา เบญญาภา นักแบตทีมชาติไทย จากรั้ว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดาวรุ่งดวงใหม่ ของวงการลูกขนไก่

จากเด็กเก็บลูกขนไก่สู่ดาวดวงใหม่ของวงการ

.

ช่วงวัยเด็กของมูนา คงไม่ต่างอะไรกับเด็กสาวทั่วไปที่เห็นอะไรก็ให้ความสนใจทั้งสิ้น หนึ่งในกิจกรรมที่เธอพยายามจับจ้องเป็นพิเศษคือกีฬาแบดมินตัน เพราะด้วยความที่พี่สาวร่วมสายเลือดของเธอเป็นนักแบดมินตันประจำโรงเรียนอยู่แล้วทำให้ความกระสันอยากที่จะลิ้มลองความรู้สึกของการตีลูกขนไก่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

.

“หนูเล่นแบตฯ ตามพี่สาว” เธอเท้าความถึงจุดเริ่มต้นด้วยรอยยิ้มแบบเขินๆ ก่อนจะเล่าต่อว่า

“เห็นพี่เล่นก็ขอเล่นด้วย แต่ว่าโค้ชของโรงเรียนมองว่าหนูไม่มีพื้นฐานของแบตฯ เลย จึงให้ไปเริ่มจากการเก็บลูกในเวลาที่เขาซ้อมกัน เอาจริงๆ หนูก็ไม่ได้ชอบอะไรมากเป็นพิเศษขนาดนั้น แต่ด้วยความที่เห็นพี่เล่นประจำก็เลยอยากลองบ้าง แต่พอหลังจากนั้นเหมือนได้ลงแข่งเรื่อยๆ เราได้เรียนรู้ในการแพ้ชนะ แล้วคุณพ่อก็อยากให้เข้าลงแข่งขันแบบจริงจัง ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการแบดมินตันเต็มตัวในวัย 11 ปี”

.

“ช่วงแรก ๆ ตอนอายุ 4-11 ปี หนูไม่มีรางวัลอะไรติดไม้ติดมือกลับมาเลย มันก็มีท้อบ้างจนรู้สึกว่าหรือมันอาจจะไม่ใช่กีฬาที่เหมาะกับเรา”

.

จากการเคี้ยวกรำของคุณพ่อ ทำให้มูนากลายมาเป็นนักกีฬาแบดมินตันในระดับเยาวชนได้สำเร็จ เธอผ่านเวทีการแข่งขันประเภทหญิงเดี่ยวมาโชกโชน แพ้บ้างชนะบ้าง กระทั่งท้ายที่สุดเธอก็เข้าไปสู่การดูแลของทางสมาคมฯ อย่างเต็มตัว

.

“ก่อนหน้าที่จะลงทำการแข่งขันในประเภทคู่ ในช่วงของการเป็นเยาวชนหนูเล่นมาหมดแล้วทุกประเภททั้งเดี่ยวและคู่หรือแม้แต่คู่ผสม ซึ่งทางสมาคมฯ ได้ให้โอกาสเนื่องจากมองเห็นว่าหนูมีความสามารถ แต่ในช่วงแรกยังไม่ได้เข้ามาอยู่กับทางสมาคมฯ แบบเต็มตัว ยังเป็นนักกีฬาฟาร์มมิ่ง หมายถึงตัวเราอยู่ที่สโมสรต้นสังกัด แต่การแข่งขันในต่างประเทศจะเป็นสมาคมฯ ที่ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ในช่วงแรกคุณพ่อท่านไม่ค่อยเต็มใจให้มาอยู่แบบเต็มตัว แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกันแล้วมันมองเห็นลู่ทางดูมีอนาคต จึงตกลงกันได้ ตอนนั้นหนูอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติมากๆ คุณพ่อก็เลยโอเคกับตรงนี้”

.

เรียนรู้จากรุ่นพี่ในทีมชาติ

ภายหลังจากก้าวสู่การทีมชาติสมใจ ทำให้เธอต้องรักษาระเบียบวินัยและความรับผิดชอบเพิ่มสูงขึ้น เพราะการก้าวขึ้นมาสู่นักแบดมินตันทีมชาติเธอจะทำเป็นทีเล่นทีจริงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว จำเป็นต้องรีดความสามารถออกมาให้ดีที่สุดโดยได้รับคำแนะนำที่ดีจากพี่สาวร่วมสายเลือด

.

“สำหรับการที่หนูต้องเดินตามรอยของพี่สาวจะรู้ตัวเองเสมอว่าเราสามารถทำได้ในระดับไหน ฝีมือมีเท่าไหร่ มันเลยไม่เป็นการกดดันตัวเองเพียงแค่พยายามทำในสิ่งที่ตัวเองสามารถทำได้และต้องทำมันให้ดีที่สุด เพราะหนูรู้ตัวเองเสมอว่าเมื่อก่อนเป็นเด็กผู้หญิงที่ดื้อพอตัว เกเร โดดเรียนและเป็นคนที่ชอบคิดนอกกรอบ แต่พอมารู้จักกับแบดมินตันมันทำให้ต้องปรับเปลี่ยนความคิดและนิสัยเหล่านั้นไป ต้องรับผิดชอบตัวตัวเองมากขึ้นเพราะต้องซ้อมและอยู่ในระเบียบวินัย”

.

มูนา บอกต่อว่า ช่วงที่เข้ามาเก็บตัวใหม่ๆ ความรู้สึกที่เธอมีต่อรุ่นพี่ในทีมชาติว่าค่อนข้างที่จะซีเรียสและจริงจังกับการซ้อม สร้างความประหลาดใจก่อนฉุกคิดได้ว่าเธอเองก็ต้องทำงานให้หนัก ยกระดับตัวเองให้ได้เพื่อโอกาสในการประสบความสำเร็จบนเส้นทางแบดมินตัน

.

จากเด็กผู้หญิงหัวดื้อในอดีตสู่การเป็นนักกีฬาแบดมินตันดาวโรจน์ความหวังใหม่ของทีมชาติไทย คงไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าเธอจะสามารถทำเป้าหมายในชีวิตได้สำเร็จหรือไม่ สิ่งเดียวที่จะชี้วัดคำตอบนั้นได้คือความพยายามที่มูนากำลังทำให้เห็นว่าเธอพร้อมแล้วกับการก้าวขึ้นไปท้าชนมืออันดับต้นของโลก

.

ข้อมูล

https://connect.bu.ac.th/ignite/benyapa-aimsaard/

https://stadiumth.com/columns/detail?id=888&tab=thai