‘กองทุนดีอี’ หนุนทุกภาคส่วนร่วมต่อยอดเทคโนโลยี 5G เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยดิจิทัลครบทุกมิติ

สดช. จัดเวทีสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ (ร่าง) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G หวังนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มศักยภาพในทุกมิติ

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ (ร่าง) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G โดยมีนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาววรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วม ณ โรงแรม PULLMAN BANGKOK KING POWER กรุงเทพฯ

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สดช. ได้ดำเนินโครงการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ซึ่งได้ทำการศึกษายุทธศาสตร์ชาติ นโยบายและแผนระดับชาติ แผนงาน มาตรการ โครงการ และแนวปฏิบัติที่ดีของต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลด้านกฎหมาย กฎ ระเบียบ และรูปแบบแนวทางในการจัดทำมาตรการฯ โดยผลการดำเนินงานในปัจจุบัน สดช. ได้จัดทำ (ร่าง) มาตรการฯ และเอกสารคู่มือที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยมาตรการ 3 กลุ่ม ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร และมาตรการการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุน เพื่อกระตุ้นการขับเคลื่อนและผลักดันภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสู่การปฏิบัติจริงที่จะก่อให้เกิดการลงทุนและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างระบบนิเวศด้านการลงทุนให้พร้อมต่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยต่อไป

“ทั้งนี้ สดช. ยังมีภารกิจสำคัญในการกำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเป็นแกนกลางในการส่งเสริม ประสาน และบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มศักยภาพในทุกระดับและทุกมิติของภาคเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยที่ผ่านมา สดช. ได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 ที่ได้สิ้นสุดไปในปีที่ผ่านมา และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าว ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการพัฒนาโครงข่าย 5G ประสิทธิภาพสูง ยุทธศาสตร์ที่ 2 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านเทคโนโลยี 5G ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยี 5G และยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบนิเวศให้พร้อมต่อการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G สำหรับการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องและสนับสนุนยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ของแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย รวมถึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2561-2580 ฉบับทบทวน โดยมีตัวชี้วัดในภาพรวม 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Digital Contribution to GDP) ปี พ.ศ. 2570 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศใน World Digital Competitiveness Ranking ปี พ.ศ. 2570 อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก หรืออยู่ใน 3 อันดับแรกของอาเซียน และสถานภาพการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy: DL) ของประชาชนคนไทยมากกว่า 80 คะแนน ในปี พ.ศ. 2570” นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนางสาวสิริกาญจน์ สุขผล ผู้อํานวยการกลุ่มบริหารกองทุน ได้กล่าวถึงบทบาทของกองทุนฯ บนเวทีเสวนา "การส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี5G" ว่า กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือกองทุนดี มีหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัล โดยการจัดสรรเงินทุนสนับสนุนในแต่ละปีนั้น จะขึ้นอยู่กับงบประมาณที่กองทุนดีอีได้รับมากจาก กสทช. 

ทั้งนี้ ทางกองทุนดีอี จะจัดสรรเงินทุนสนับสนุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน ส่วนแรก เป็นการสนับสนุนด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนที่สอง เป็นการสนับสนุนด้านการวิจัย โดยโครงการที่จะนำเสนอเข้ามานั้น ทางกองทุนฯ อยากให้คำนึงถึงโครงการที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในเชิงสาธารณะ 

“การนำเสนอโครงการที่ต้องทุนสนับสนุน เพื่อการจะพัฒนาขึ้นนั้น จะต้องส่งผลประโยชน์ต่อมุมกว้าง มีการให้บริการประชาชนในหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล อาจจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ขณะเดียวกันในส่วนของการวิจัยนั้น จะเน้นไปที่โครงการที่ทำการวิจัยด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ เช่นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G โดยทางกองทุนฯ เปิดกว้างให้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน หรือกลุ่มบุคคลทั่วไป สามารถจะเสนอขอรับทุนได้ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี 5G ไปต่อยอดประยุกต์ใช้กับบริการด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษาการ การพัฒนากำลังคนดิจิทัล และพัฒนาเมืองปลอดภัยน่าอยู่ หรือ สมาร์ทซิตี้ ซึ่งหน่วยงานที่มีโครงการอยู่ในมือ ต้องการจะพัฒนาขึ้น แต่ยังขาดเงินทุนสนับสนุน ก็สามารถนำเสนอโครงการเข้ามาได้ที่กองทุนฯ ซึ่งจะเปิดรับในช่วงต้นปี ประมาณเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ของแต่ละปี” นางสาวสิริกาญจน์ กล่าว