Friday, 17 May 2024
APAN57

ไทยนั่งเจ้าภาพ Asia-Pacific Advance Network (APAN) ครั้งที่ 57 เวทีแห่งการแลกเปลี่ยนข้อมูล 'เครือข่ายการวิจัย-การศึกษาในเอเชียแปซิฟิก'

ประเทศไทย เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ APAN ครั้งที่ 57 ระหว่างวันที่ 29 มกราคม -  2 กุมภาพันธ์ 2567 คาดจะมีผู้เข้าร่วมประชุมราว 350 คน จาก 19 ประเทศสมาชิก

โดยสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับสมาคมเครือข่ายไทยเพื่อการศึกษาวิจัย (ThaiREN) เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ Asia-Pacific Advance Network (APAN) ครั้งที่ 57 (57th APAN Meeting) ในระหว่างวันที่ 29 มกราคม -  2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร 

สำหรับ Asia-Pacific Advanced Network (APAN) เป็นองค์กรที่มีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีสมาชิก 38 หน่วยงาน จาก 19 ประเทศทั่วโลก เป็นเครือข่ายความร่วมมือในการใช้ระบบสื่อสารเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อนำไปพัฒนาการศึกษาและวิจัยของแต่ละประเทศ 

นอกจากนี้ ยังเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศของเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาแห่งชาติ (NRENs) ทั่วภูมิภาค ครอบคลุมประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และประเทศสมาชิกสามารถติดต่อสื่อสารให้บริการการเชื่อมต่อเครือข่ายความเร็วสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและนักวิจัยรุ่นเยาว์ใน APAN และชุมชนที่เกี่ยวข้องนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีเครือข่าย (Network technology), วิศวกรรมเครือข่าย (Network engineering), การวัดเครือข่าย (Network measurement), เทคโนโลยีแอปพลิเคชัน (Application technology), เทคโนโลยีการสื่อสาร (Communication technology), สถาปัตยกรรมเครือข่าย (Network architecture) ความเป็นสากลและการแปลเป็นภาษาท้องถิ่น เป็นต้น

ทั้งนี้ การประชุม APAN จะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ขณะที่การประชุมครั้งที่ 57 (57th APAN Meeting) ทางคณะกรรมการ APAN เห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการระหว่างประเทศของกลุ่มสมาชิกเครือข่าย ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุม โดยในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด 'Empowering Global Network Alliance for Climate Resilience' ระหว่างวันที่ 29 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ จะมีผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการฯ จำนวน 350 คน ประกอบด้วย ผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศ 100 คน ผู้เข้าร่วมประชุมจากมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน 150 คน และผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นสมาชิก APAN 100 คน 

โดยตลอดระยะเวลา 5 วันของการประชุมดังกล่าว จะเป็นเวทีในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักวิจัยไทย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประสบการณ์ต่างๆ กับนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาและวิจัยของประเทศในอนาคต อีกทั้ง จะช่วยให้นักวิจัยได้เพิ่มพูนความรู้และทักษะ เพื่อนำไปพัฒนาการศึกษาและวิจัยของหน่วยงาน เนื่องจากกิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมไม่เพียงแต่แบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอันมีค่าของตนเท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายร่วมกันและสำรวจโซลูชันเชิงสร้างสรรค์ที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการของเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาอีกด้วย 

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.apan57.apan.net และ Facebook Page : APAN Thailand

การประชุมเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 57 ที่ ณ ประเทศไทย 500 บุคลากรระดับหัวกะทิ ร่วมถก 'นวัตกรรม-วิจัย' เพื่ออนาคตคึกคัก

ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพการประชุมเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 57 ( The Asia-Pacific Advanced Network : APAN 57) ระหว่างวันที่ 29 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงเทพมหานคร คาดมีสมาชิกเครือข่าย APAN, องค์กรตัวแทนของสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, นักวิชาการ  และนักวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ กว่า 500 คน เข้าร่วมประชุม

(30 ม.ค.67) ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 57 (The Asia-Pacific Advanced Network : APAN 57) พร้อมกล่าวว่า ประเทศไทย โดยสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือ UniNet สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 57 หรือ The Asia-Pacific Advanced Network : APAN 57 ภายใต้หัวข้อ Towards a Sustainable Future ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประเทศเจ้าภาพ ในปี ค.ศ. 2024 ที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 29 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ นี้ 

ทั้งนี้ APAN เป็นเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศของเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาแห่งชาติทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งครอบคลุมประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก เป็นพื้นฐานในการให้บริการเชื่อมต่อเครือข่ายความเร็วสูงทั้งในและต่างประเทศ โดยร่วมกันพัฒนาเครือข่าย ส่งเสริมการใช้งานและเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมต่ออย่างต่อเนื่อง ถือเป็นตัวแทนของผลประโยชน์ที่ไม่แสวงหากำไรของเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาในประเทศเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิก 

สำหรับ การประชุม APAN ในครั้งนี้ มีบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในทุกศาสตร์ ทุกสาขาอาชีพ มารวมตัวกันจากการจัดในประเทศไทยกว่า 500 คน เพื่อร่วมกันแสวงหานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ก้าวหน้า โดยเน้นความเป็นเลิศในเครือข่ายขั้นสูงและโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาวิจัย เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างกันจากทุกศาสตร์ในหมู่ประเทศสมาชิกทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งยังส่งเสริมให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและนักวิจัยรุ่นเยาว์ใน APAN ได้มีโอกาสนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยในทุกศาสตร์

“การประชุมตลอด 5 วันนี้ ท่านจะได้พบกับการประชุมวิชาการในระดับ Technical Program การสัมมนา Workshops การนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่มากกว่า 15 ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายจากหลายประเทศทั่วโลก โดยมีวิทยากรที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ นำเสนอแนวคิดเจาะลึกในประเด็นเฉพาะด้าน เกี่ยวกับเครือข่ายกิจกรรมด้านวิชาการและสังคม เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และร่วมมือในการพัฒนาระหว่างกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากการประชุมในครั้งนี้ตามที่คาดหวัง” 

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไทย มีนโยบายที่จะกระตุ้นและสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุกมิติ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่คนไทย ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ด้วยการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สามารถปรับเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกได้อย่างรวดเร็ว ทั้งด้านทำให้เกิดความเจริญขึ้นหรือความเสื่อมถอย ซึ่งคนไทยทุกคนจะต้องรู้เท่าทันและปรับวิธีคิดตามความเปลี่ยนแปลงให้ทัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้อยู่ในมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับทางเศรษฐกิจและสังคม เครือข่าย APAN จึงได้มีส่วนในการเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ผลักดันให้คนไทยเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามนโยบายนี้

อนึ่งการประชุมเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก จะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ โดยในครั้งที่ 1 คือ APAN 13 จัดขึ้นที่ภูเก็ต เมื่อปี 2002, ครั้งที่ 2 APAN 19 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2005, ครั้งที่ 3 APAN 33 จัดขึ้นที่เชียงใหม่ ปี 2012 และล่าสุด ครั้งที่ 4 APAN 57 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ณ โรงแรมอิสติน แกรนด์ พญาไท 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top