Sunday, 19 May 2024
การศึกษาไทย

‘OKMD’ ผนึก ‘ธรรมศาสตร์’ ปั้นโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัป พัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา ยกระดับไทยเท่าทันสากล

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับ 88 SANDBOX มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างโอกาสในการพัฒนา นวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านการเรียนรู้และการศึกษาไทย เพื่อยกระดับความสามารถและศักยภาพในการประกอบอาชีพของประชาชน ภายใต้ ‘โครงการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้นนวัตกรรมเพื่อสังคมด้านการศึกษา (LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program)’ พร้อมระดมกูรูในระบบนิเวศการศึกษา และเทคโนโลยีร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ต่อยอดไอเดียตั้งแต่เริ่มต้น สู่เป้าหมาย เชื่อมต่อนักลงทุนคู่ค้า ที่มีศักยภาพต่อไป  

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD กล่าวว่า “ในยุคปัจจุบันการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ ต้องควบคู่ไปกับการลงมือทำ ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาช่วยให้กระบวนการเรียนรู้สะดวกขึ้น และทำให้การลงมือปฏิบัติสำเร็จง่ายขึ้นอย่าง Education Technology หรือ EdTech หรือนวัตกรรมการศึกษา จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญและเหมาะสมกับโลกยุคใหม่ ในสมัยก่อนเรามี EdTech ในรูปแบบการศึกษาผ่านระบบดาวเทียม ต่อมาเป็นการเรียนรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย ที่ผู้คนสามารถเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต ถัดมาเป็นเทคโนโลยีใหม่อย่าง Zoom Meeting จนมาถึงตอนนี้นักเรียนนักศึกษาสามารถทำ Report จาก AI กันได้แล้ว OKMD จึงต้องดำเนินงานส่งเสริมและสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ ที่ควบคู่ไปกับ EdTech เพื่อช่วยให้การเข้าถึงความรู้และการเรียนรู้เป็นเรื่องง่าย ๆ”  

ดร.ทวารัฐ กล่าวต่อไปว่า “ความร่วมมือระหว่าง OKMD และ 88 SANDBOX ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการบ่มเพาะกลุ่มสตาร์ตอัปด้านนวัตกรรมการเรียนรู้และการศึกษา ให้มีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ และเท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ รวมทั้งเกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับประเทศไทย และเป็นก้าวที่สำคัญในการส่งเสริมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และทักษะในอนาคต รวมทั้งการส่งมอบประสบการณ์และการบูรณาการจุดเด่นของทั้ง 2 หน่วยงาน ในรูปแบบการจัดกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพต้นทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับชาติและนานาชาติต่อไปครับ”

ด้าน รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยถึงความคาดหวัง ในการร่วม มือในโครงการ LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program ว่า เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงความรู้อย่างกว้างขวางและรอบด้าน ด้วยโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านการเรียนรู้และการศึกษาให้กับประเทศไทย โดยการสร้างและส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีการศึกษาที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ และการศึกษาในสังคมให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งการบ่มเพาะผู้ประกอบการทุกคนที่ต้องการสร้างไอเดียจากศูนย์สู่ความสำเร็จ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศไทย

“ปริญญาในโลกอนาคตไม่ค่อยมีความหมาย องค์กรยุคใหม่ไม่สนใจว่าเราจบอะไรมา เท่ากับทำอะไรเป็น เพราะฉะนั้นเวลาคัดเลือกคนเข้าทำงาน จะพิจารณาจากความสามารถในการแก้ปัญหา การจัดการสถาน การณ์ที่ยากซับซ้อน การทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program จะเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ทุก ๆ คน ตั้งแต่นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ไปจนถึงนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไป ให้ได้รับการสนับสนุนต่อยอดไอเดียธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมและมีศักยภาพในการนำออกสู่ตลาดในระดับนานาชาติต่อไป” รศ.ดร.พิภพ กล่าว

ครงการ LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program จะเริ่มบ่มเพาะธุรกิจด้านการศึกษา ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ในรูปแบบของ 1) Training & Workshop เพื่อพัฒนาธุรกิจ ด้านต่างๆ รวมถึงการเพิ่มการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ในการพัฒนาธุรกิจด้านการศึกษาของตนเอง โดยในกระบวนการจะมี Workshop จากวิทยากรทั้งด้านการศึกษา และด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

2) Education Experts เพื่อเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญในด้านการศึกษา ที่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการของครู นักเรียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในระบบนิเวศการศึกษา

และ 3) Community Activities เพื่อเชื่อมต่อกับนักลงทุน คู่ค้า และลูกค้าที่มีศักยภาพ ช่วยผู้ประกอบการสร้างความสัมพันธ์และทำให้ธุรกิจเติบโต 

โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 100 ทีม (237 คน) และผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 20 ทีม (76 คน) โดยจะได้รับการบ่มเพาะทางด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและเปิดมุมมองทางด้านการศึกษาอย่างเข้มข้น จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และนักลงทุนกว่า 30 คน อาทิ รศ.ดร.พิภพ อุดร, ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) วรุตม์ นิมิตยนต์ (Co-Founder,Deschooling Game) โตมร ศุขปรีชา (OKMD) และมีเงินรางวัลรวมกว่า 2 แสนบาท มอบให้กับ 5 ทีมสุดท้ายทีได้รับการคัดเลือก

ในวันร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน ‘โครงการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้นนวัตกรรมเพื่อสังคมด้านการศึกษา (LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program)’ ระหว่าง 88 SANDBOX ภายใต้การดูแลของฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ OKMD ภายในงานยังมีกิจกรรมการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นที่น่าสนใจมากมาย อาทิ

• DMii, For Future Education Model โมเดลการจัดการเรียนรู้ในยุค ‘ความรู้อายุสั้น แต่คนอายุยาว’ โดย รศ. ดร. พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

• Learnovation to Learnlab จากนวัตกรรมการศึกษา สู่พื้นที่แห่งการสร้างโอกาสด้านการศึกษาแห่งอนาคต โดยโตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้, OKMD

• 88 SANDBOX พื้นที่ผลักดันขีดจำกัดการศึกษาไทย ให้มุ่งสู่ Better Life, Better Society

• Discover the Future of Education ค้นหา และค้นพบศักยภาพของการศึกษาแห่งอนาคต

• Innovative Edtech Lab Lab นอกห้องเรียน ที่พาคุณไปทดลอง และทำจริง กับนวัตกรรมการศึกษาแห่งอนาคต

• Integrated Education Platform บูรณาการของ 5 องค์กรนวัตกรรมชั้นนำ เชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับนวัตกรรม

• Master from Failure เชี่ยวชาญให้สุด จาก ‘ความล้มเหลว’ แบบเฮียๆ โดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน

'ดร.เอ้' ตั้งกระทู้ถาม "เมื่อมันสมองเวียดนามชั้นยอด กำลังกลับบ้าน" 'รัฐบาลไทย' จะพัฒนาเด็กไทยให้ 'สู้-แข่งขัน' ได้อย่างไรต่อไป

(23 ก.พ.67) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 'ดร.เอ้' รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว 'เอ้ สุชัชวีร์' ตั้งกระทู้ถาม "เมื่อมันสมองเวียดนามชั้นยอด กำลังกลับบ้าน" เวียดนาม น่ากลัวเกินกว่าที่เราคิด รัฐไทยเราจะสู้ แข่งขันได้อย่างไร? โดยระบุว่า...

6 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งผมทำหน้าที่ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ได้นำทีมอธิการบดีจากหลายมหาวิทยาลัย เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาดูงานวิจัย และสร้างเสริมความสัมพันธ์กับสถาบันการศึกษาระดับโลก

หนึ่งในองค์กรสำคัญที่เราเข้าเยี่ยม คือ สถาบันการศึกษาต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ Institute of International Education (IEE) ที่เป็นองค์กรหลักภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลอเมริกัน เพื่อดูแลนักศึกษาต่างชาติ และเป็นผู้ดูแลกองทุนฟูลไบร์ทอันโด่งดัง

วันนั้นเจ้าภาพที่มาต้อนรับเรา คือ ดร. อลัน กู๊ดแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ IEE เพื่อนต่างวัยของผม ซึ่งภายหลังกรุณามาช่วยเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล หรือ Carnegie Mellon University (Thailand) มหาวิทยาลัยสุดยอดด้านคอมพิวเตอร์ หนึ่งเดียวในเอเชียแปซิฟิกจากอเมริกา ที่ผมก่อตั้งขึ้น 

ดร.อลัน เดินเข้ามาสะกิดผม ชี้ให้เห็นข้อมูลสำคัญที่สุด คือ...

"จำนวนนักศึกษาเวียดนาม ที่มาเรียนในสหรัฐอเมริกา มากกว่า 2 หมื่นคน มากขึ้นแบบก้าวกระโดด และมากกว่าจำนวนนักศึกษาไทย 4-5 เท่าแล้ว" 

"ประเทศคุณยังไม่รู้ ไม่ตื่นเต้นเลยหรือ ที่รู้ว่า เวียดนามกำลังจะมีคนชั้นมันสมองจำนวนมากว่าของคุณมากมาย ที่ได้รับการศึกษาจากประเทศชั้นนำ กลับบ้านเพื่อพัฒนาประเทศ เพื่อแข่งขันกับคุณ..."

ผมหยุดนิ่ง งงไปพักหนึ่ง ยอมรับว่าเป็นข้อมูลตรง ของจริง ตรงหน้า จากคนที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุดคนหนึ่งในโลก  

ผมตกใจเพราะข้อมูลนี้ ชี้ให้เห็นชัดว่า...

1. เศรษฐกิจเวียดนาม เติบโตไว จนทำให้คนเวียดนามจำนวนมาก มีรายได้สูงขึ้นจนสามารถส่งลูกหลาน เรียนอเมริกาและประเทศชั้นนำได้

2. เด็กเวียดนาม มีศักยภาพสูงขึ้นมาก ทั้งด้านภาษาอังกฤษ และด้านวิชาการที่ยอดเยี่ยม คะแนนวัดผล PISA สูงกว่าเด็กไทยโดยเฉลี่ยทุกด้าน ทำให้นักศึกษาเวียดนามได้ทุนเรียนฟรีจำนวนมาก จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณรัฐ

3. รัฐบาลเวียดนาม มีวิสัยทัศน์ มองไกล ไม่ปิดกั้น ส่งเสริมให้เด็กเวียดนามเรียนต่อในต่างประเทศจำนวนมาก รัฐอำนวยความสะดวกทุกอย่าง

4. รัฐบาลอเมริกันและโลกตะวันตก วันนี้มองเวียดนามไม่ใช่ศัตรู แต่มองเป็นพันธมิตรใหม่ในเอเชีย และมั่นใจในอนาคตทางเศรษฐกิจ เพราะเวียดนามมุ่งเป้า 'ยกระดับการศึกษา' จึงรับเด็กเวียดนามให้มาเรียนในมหาวิทยาลัยอเมริกัน ทั้งยังชอบความขยัน อดทน มีวินัยของเด็กเวียดนาม

5. อเมริกาไม่ใช่จุดหมายเดียว ยังมีอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และรัสเซีย คิวบา ที่เป็นมิตรรักของเวียดนามในอดีต ที่มีมหาวิทยาลัยชั้นยอด รับเด็กเวียดนามจำนวนมากต่อปี มากกว่ารับเด็กไทยมากมายนัก

ยิ่งไปกว่านั้น สมัยที่ผมเรียนที่ MIT ผมมีเพื่อนเวียดนามที่เกิดในอเมริกา ที่เรียนเก่งสุดๆ และยังคงผูกพัน สามัคคี มีความรักชาติ บ้านเกิดของบิดามารดา พร้อมกลับไปช่วย หรือพร้อมช่วยเหลือคนเวียดนามด้วยกันเต็มที่

ผมแชร์เรื่อง 'เวียดนามกับไทย' มาหลายครั้ง ตั้งแต่ยังเป็นอธิการบดีพระจอมเกล้าลาดกระบัง จนมาทำงานการเมือง เพื่อกระตุ้นเตือน แต่ไม่เห็นความมุ่งมั่น ไม่เห็นการเอาจริงเอาจัง ของรัฐบาลไทย ในการ 'พัฒนาศักยภาพของเด็กไทย'

ผมจึงขอตั้ง 'กระทู้ถาม' ในฐานะพลเมืองไทย ว่า รัฐบาลจะทำอย่างไร ให้เด็กไทยได้รับการพัฒนา ยกระดับทักษะ เพื่ออยู่รอดได้ ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ และจะเป็น 'ปัญหาปากท้อง' คนไทยอาจไม่หลุดพ้นจากวงจรความยากจน เพราะไม่มีทักษะที่โลกอนาคตต้องการ เศรษฐกิจไทยก็ไม่โต

ผมยังมั่นใจ #เด็กไทยไม่แพ้ใครในโลก แต่รัฐต้องมุ่งมั่น ต้องทำงานหนักกว่านี้ ไม่งั้นเรา แพ้เวียดนาม (แน่ ๆ)

ด้วยความห่วงใยครับ

‘ดร.เอ้’ มอง ‘สิงคโปร์’ ใต้การนำของนายกฯ เจนสี่ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’ ‘สร้างคน-ชาติ-สังคม’ ใต้ข้อจำกัด เชื่อ!! ไทยก็ทำได้ อยู่ที่ ‘ผู้นำ’

(16 พ.ค. 67) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ‘ดร.เอ้’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 'เอ้ สุชัชวีร์' ในหัวข้อ 'ผู้นำไทย ควรเรียนรู้จากสิงคโปร์' ระบุว่า...

การสร้างคน สร้างชาติ สร้างสังคม ภายใต้ข้อจำกัด อย่างมหัศจรรย์ #เราทำได้

'ลอว์เรนซ์ หว่อง' ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเจนสี่ ของสิงคโปร์ ประกาศต่อยอด 'คัมภีร์สร้างชาติ' จากผู้นำ 3 รุ่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะจาก 'รัฐบุรุษลี กวนยู'

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ทุกรุ่น เน้นการ 'สร้างคน' สำคัญที่สุดเสมอ โดย 'ลอว์เรนซ์ หว่อง' จะทำอะไรต่อจากนี้ น่าเรียนรู้ยิ่ง...

1. 'แสวงหาคนเก่ง' จากทั่วโลก
ลีกวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ ได้นักเศรษฐศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ ช่วยวางรากฐานทางเศรษฐกิจ ได้นักการทหารอิสราเอล ช่วงวางรากฐานกองทัพ ขณะเริ่มสร้างประเทศสิงคโปร์

'คนเก่ง' มาจากชาติไหนไม่สำคัญ ขอให้มาอยู่ มาช่วยพัฒนาสิงคโปร์ ชาติก็เจริญ

อีกทั้ง จำนวนประชากรสิงคโปร์ เติบโตไม่ทัน 

ลอว์เรนซ์ หว่อง จึงมุ่งให้ทุนการศึกษาเด็กมัธยมต้น จากชาติอาเซียน โดยเฉพาะ 'เด็กไทยชั้นยอด' ให้ไปเรียนมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย จบออกมาทำงานในสิงคโปร์ และให้สิทธิ์เป็นพลเมือง พร้อมพ่อแม่ 

แม้ประเทศไทย อาจน่าอยู่ แต่คุณภาพการศึกษา สิ่งแวดล้อม และโอกาสได้งานที่ท้าทาย อาจไม่โดนใจคนรุ่นใหม่ เท่ากับสิงคโปร์ เราจึงสูญเสียยอดเด็กไทยไปอยู่สิงคโปร์เพิ่มขึ้นทุกปี

2. 'เน้นปัจจัยสี่' สำคัญที่สุด
อาหาร เครื่องนุ่งห่ม บ้าน และยารักษาโรค คือ ปัจจัยสี่ คือ พื้นฐานของชีวิต แต่ความท้าทาย คือ แม้พลเมืองจะมีรายได้สูง แต่อาหารและค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน รัฐบาลสิงคโปร์จะลดค่าครองชีพได้อย่างไร 

คนรุ่นใหม่ก็ไม่มีกำลังซื้อบ้าน เพราะที่ดินมีจำกัด ทำให้บ้านราคาสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก 

ลอว์เรนซ์ หว่อง เกิดในบ้านการเคหะ ที่ริเริ่มโดย ลี กวนยู เมื่อ 50 ปีก่อน ผมเคยไปเยี่ยมเมื่อครั้งเป็นประธานการเคหะแห่งชาติ หลายปีก่อน บ้านการเคหะสิงคโปร์แม้ห้องขนาดเล็ก แต่น่าอยู่ สิ่งแวดล้อมดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และบ้านการเคหะสิงคโปร์ก็ไม่ได้ราคาถูกในวันนี้

ลอว์เรนซ์ หว่อง สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ มีบ้านของตนเอง ไม่เป็นหนี้เยอะ โดยให้แต้มต่อ คนเพิ่งเริ่มต้นทำงาน ได้ผ่อนบ้านในราคาพิเศษ ที่รัฐช่วยอุดหนุน

ด้านสาธารณสุข สิงคโปร์ประกาศเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีการแพทย์ และยารักษาโรค พึ่งพาตนเองและส่งออกได้ เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ามหาศาล

เมื่อคนรุ่นใหม่มีบ้านของตนเอง ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ไม่ก่อหนี้เกินตัว ย่อมมีพลังในการทำงาน สร้างเศรษฐกิจเข้มแข็ง

3. 'สิ่งแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตดี' คือ ลมหายใจของเมือง
สิงคโปร์ มีโรงงาน มีท่าเรือ มีโรงเผาขยะ แต่แทบไม่มี PM 2.5 จากภายในประเทศ และพื้นที่สีเขียว 66 ตารางเมตรต่อคน มากกว่ากทม. 10 เท่า! 

ลอว์เรนซ์ หว่อง ประกาศว่า คุณภาพชีวิตของคนสิงคโปร์ ตื่นนอนสดชื่น เดินมาขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า ไม่เกิน 5 นาที กลับบ้านตรงเวลา รถไม่ติด 'น้ำไม่ท่วม' มีเวลากับลูกและครอบครัว ความปลอดภัยต้อง 100% 

เพราะถึงแม้มีเงิน แต่หากสิ่งแวดล้อมไม่ดี คุณภาพชีวิตก็ไม่ดี สิ่งแวดล้อมดีจึงทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าทำงาน

4. 'สร้างสังคมนวัตกรรม' คือ ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ
ลอว์เรนซ์ หว่อง จะต่อยอดนโยบาย ตามอดีตนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ในการเปลี่ยนเศรษฐกิจของสิงคโปร์ จากเมืองท่าสู่บริการการเงิน จากบริการการเงินสู่การส่งออกเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมุ่งสร้างคนจำนวนมาก ด้าน AI คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการแพทย์ และพลังงานทดแทน อย่างจริงจัง

เพราะเศรษฐกิจในอนาคต จะรุ่งเรืองได้ ต้องมาจาก 'เศรษฐกิจนวัตกรรม' ที่อาศัยพลังสมองชั้นยอดของพลเมือง สิงคโปร์จึงต้องเน้นเรื่องการสร้างคน

แม่ของ ลอว์เรนซ์ หว่อง เป็นครูประถม ผู้ทุ่มเทกับการเรียนของลูก จนลูกได้เรียนปริญญาตรีและปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐ ก่อนกลับมาทำงานการเมือง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา เป็นนายกรัฐมนตรี

จึงมั่นใจการขับเคลื่อน เรื่องการศึกษา ในยุคนายกฯ ลอว์เรนซ์ หว่อง น่าจะก้าวกระโดดเช่นกัน

เมื่อเรียนรู้จากสิงคโปร์แล้ว นายกรัฐมนตรีประเทศไทย ควรเร่งทำ 4 เรื่องนี้เช่นกัน ต้องไม่ทำงาน 'ฉาบฉวย' แม้แต่เรื่องเฉพาะหน้า ยังแก้ปัญหาไม่เบ็ดเสร็จ

'การศึกษาไทย' ยังวังเวง แทบไม่มีการพัฒนา เพราะนายกฯ ไม่ใส่ใจ 'โรงงานสารเคมี' ถูกปล่อยไว้ ไฟไหม้ซ้ำซาก ทำลายสิ่งแวดล้อม 'บ่อนเสรี' มีเมื่อไม่พร้อม จะกำลังจะมาทำลายอนาคตลูกหลาน 'ยาเสพติด' เต็มเมือง เปิดร้านขายกัญชาได้ที่หน้าโรงเรียน 

อนาคตไทย อยู่ที่ 'ผู้นำ' จะทำเพื่อชาติ หรือ ทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง

ด้วยความห่วงใย และรักชาติยิ่ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top