Wednesday, 15 May 2024
จีน

‘จีน’ ออกกฎใหม่!! ตัดอินเทอร์เน็ตเยาวชนช่วงกลางคืน หวังลดการเสพติดหน้าจอ - เข้าถึงข้อมูลไร้ประโยชน์

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้งานบล็อกดิสชื่อ ‘Blockพูดได้byข้าวน้อยฯ’ ได้โพสต์บทความเกี่ยวกับมาตการของรัฐบาลจีนที่ใช้ดูแลเด็กและเยาวชนภายในประเทศ โดยระบุว่า…

เป็นที่ทราบกันดีว่า สองสามปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับปัญหาการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่มีประโยชน์ในอินเทอร์เน็ตของเด็กและวัยรุ่นเป็นอย่างมาก

มีการปราบปรามผู้ผลิตสื่อบันเทิงทางอินเทอร์เน็ต ที่รัฐบาลจีนมองว่าส่งเสริมทัศนคติที่ผิดสำหรับเด็กและเยาวชน รวมทั้งมีการออกกฎหมายจำกัดเวลาเล่นเกมออนไลน์ของเด็กและวัยรุ่นจีนลงเหลือเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์

เกมออนไลน์ใหม่ ๆ ในจีน ก็ถูกชะลอการพิจารณาจากทางการ จนทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีที่เกี่ยงข้องกับวงการเกมตกลงไปตาม ๆ กัน

ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศกฎใหม่ ที่ถูกผลักดันโดย Cyberspace Administration of China ให้มีการบังคับเกี่ยวกับเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือของเด็กและวัยรุ่นจีน

โดยกฎที่ออกมามีเนื้อหาโดยสรุปคร่าว ๆ ได้ว่า...รัฐบาลจะทำการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตบนมือถือของเด็กและวัยรุ่นจีนที่มีอายุตั้งแต่ 6-18 ปี ในช่วงเวลาตั้งแต่ 22.00 น. ถึง 6.00 น. ของทุกคืน ซึ่งการบังคับใช้ในแต่ละช่วงอายุ จะมีจำนวนชั่วโมงการตัดเน็ตมือถือที่ไม่เท่ากัน เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ จะถูกตัดเน็ตมือถือ 40 นาที ต่อคืน ส่วนเด็กที่มีอายุระหว่าง 16 - 17 ปี จะถูกตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตบนมือถือนานถึง 2 ชั่วโมงต่อคืน...

กฎการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตสำหรับเด็กและเยาวชน ที่ทางการจีนได้ประกาศออกมาในครั้งนี้ ถือว่าเป็นกฎการควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตที่อาจกล่าวได้ว่า เข้มงวดที่สุดในโลกเลยทีเดียว

‘จีน’ มุ่งสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีใน ‘กลุ่มเด็ก-วัยรุ่น’ ปกป้องเด็กจากภาวะวิตกกังวล - โรคซึมเศร้า

(12 ต.ค.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน เปิดเผยว่าหน่วยงานภาครัฐและภาคสังคมของจีนดำเนินความพยายามร่วมกันเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตในหมู่เด็กและวัยรุ่นตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อนึ่ง จีนเฉลิมฉลองวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ครั้งที่ 32 ซึ่งตรงกับเมื่อวันอังคาร (10 ต.ค.) ภายใต้หัวข้อ ‘การส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น’

หลี่ต้าชวน เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการฯ กล่าวระหว่างงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (9 ต.ค.) ระบุว่ากุญแจสำคัญในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของวัยรุ่น คือการให้ความสำคัญกับการป้องกันเป็นอันดับแรก และดำเนินการป้องกันและควบคุมในสังคมวงกว้าง อีกทั้งเน้นย้ำความสำคัญในการจัดให้งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในบริการสังคม บริการสาธารณสุข และระบบประกันสังคม

ข้อมูลการสำรวจสุขภาพจิตที่ครอบคลุมวัยรุ่นมากกว่า 30,000 คน ซึ่งจัดทำโดยสถาบันจิตวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ของจีน ในปี 2022 พบว่าร้อยละ 14.8 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าในระดับต่าง ๆ โดยจำเป็นต้องมีการเข้าช่วยเหลือและการปรับเปลี่ยนที่มีประสิทธิภาพและทันเวลา

เจิ้งอี้ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กจากโรงพยาบาลปักกิ่ง อันติ้ง สังกัดมหาวิทยาลัยการแพทย์นครหลวง ระบุว่าเด็กและวัยรุ่นอยู่ในช่วงที่มีการพัฒนาด้านสุขภาพจิตอย่างรวดเร็ว ภาวะทางจิตของพวกเขามีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางชีวภาพ สภาพจิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เย่ไห่เซิน นักจิตวิทยาคลินิกประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในมณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน ระบุว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มมีอาการทางสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยความผิดปกติทางจิต อาทิ ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า พบได้เด่นชัดในเด็กและวัยรุ่น

คณะกรรมการฯ ดำเนินมาตรการหลายรายการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งรวมถึงการออกแนวปฏิบัติส่งเสริมบริการด้านสุขภาพจิต โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อีก 16 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ ออกแผนปฏิบัติการระยะเวลา 3 ปี เพื่อปรับปรุงงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของนักเรียน

แผนดังกล่าวกำหนดความรับผิดชอบของรัฐบาลระดับต่างๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น อีกทั้งเน้นย้ำการประสานงานระหว่างหน่วยงานและความพยายามร่วมกันระหว่างสถาบันทางการแพทย์ โรงเรียน และครอบครัว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางได้จัดสรรกองทุนพิเศษเพื่อสนับสนุนการป้องกันและการรักษาความผิดปกติทางจิตที่พบบ่อย พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการนำร่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต

หลี่กล่าวว่าการทดลองต่าง ๆ ถูกจัดขึ้นทั่วประเทศเพื่อเดินหน้าบริการด้านจิตวิทยาสาธารณะภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการฯ โดยปัจจุบันหมู่บ้านและชุมชนร้อยละ 96 โรงเรียนประถมและมัธยมร้อยละ 95 ตลอดจนวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทั้งหมดในพื้นที่นำร่องเหล่านี้ สามารถเข้าถึงบริการด้านจิตวิทยาสาธารณะได้แล้ว

อนึ่ง จีนยังทุ่มเทความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มการจัดสรรทรัพยากร การสนับสนุนทางการเงิน และการพัฒนาบุคลากรทั่วประเทศ เพื่อสร้างหลักประกันที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นสำหรับการส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น

อาชีวศึกษา ‘ไทย-จีน’ จับมือพัฒนา ‘โครงการ 210 สาขาวิชา’ หวังบ่มเพาะทักษะวิชาชีพผู้เรียน - เสริมแกร่งภาคอุตสาหกรรม

เมื่อวานนี้ (30 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การประชุมความร่วมมือทางอุตสาหกรรมและการศึกษาระหว่างประเทศ หัวข้อการสร้างความเป็นดิจิทัลแก่การศึกษา ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งของจีนเมื่อไม่นานนี้ รายงานแผนการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาของจีน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและความต้องการทางอุตสาหกรรมของจีนและไทย เข้ากับระบบอาชีวศึกษาของไทย

รายงานระบุว่าแผนการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาของจีนเข้าสู่ระบบอาชีวศึกษาของไทย จำนวน 210 สาขา มีเป้าหมายช่วยเหลือไทยให้สามารถบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถทางทักษะวิชาชีพเพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมการยกระดับทางอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ (27 ต.ค.) มีการจัดพิธีลงนามโครงการความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาจีน-ไทย 210 หรือ ‘โครงการ 210 จีน-ไทย’ โดยคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้ลงนามข้อตกลงกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากสถาบันอาชีวศึกษาของจีน 4 แห่ง และบริษัท ถังเฟิง อินเตอร์เนชันแนล เอ็ดดูเคชัน กรุ๊ป

โครงการ 210 จีน-ไทย มุ่งร่วมสร้างสาขาวิชาอาชีวศึกษาอันทันสมัย จำนวน 210 สาขา ภายใต้การทำงานร่วมกันของคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของไทย และบริษัทฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกระหว่างกลุ่มสถาบันอาชีวศึกษาของสองประเทศในการกำหนดหลักสูตร การฝึกอบรมครูอาจารย์ และการผลิตนักศึกษาวุฒิคู่ขนาน

สาขาวิชาส่วนหนึ่งของโครงการ 210 จีน-ไทย ซึ่งจะถูกปรับใช้เป็นชุดแรก ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ เทคโนโลยียานยนต์พลังงานใหม่ เทคโนโลยีการประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) เทคโนโลยีการซ่อมบำรุงทางรถไฟความเร็วสูงแบบครบวงจร อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ

สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของไทย กล่าวว่าอาชีวศึกษามีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก โดยความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระหว่างจีนและไทยนี้เกื้อหนุนการสร้างความเป็นดิจิทัล รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย ทั้งเชื่อมโยงกับแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) อย่างลึกซึ้ง

นอกจากนั้นความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวศึกษาและผู้ประกอบการจะช่วยให้ภาคอาชีวศึกษาสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น ก่อให้เกิดการบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถในไทยเพิ่มขึ้น ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันด้านการจ้างงานและรายได้ของเยาวชนไทยรุ่นใหม่ มีส่วนส่งเสริมการพัฒนาและเสถียรภาพของสังคมไทย

‘TCSA-CSSAT’ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ คนรุ่นใหม่ไทย-จีน จัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ พานักเรียนจีนท่องวิถีชุมชนไทย

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 66 สมาคมนักเรียนไทย-จีน (TCSA) ร่วมสมาคมนักศึกษาและนักวิชาการจีนแห่งประเทศไทย (CSSAT) จัดกิจกรรม ‘One day trip กระชับมิตรไทย-จีน’ สนับสนุนโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มุ่งเดินทางบนเส้นทางการท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปยังจังหวัดสมุทรสงคราม ณ ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคลน

กิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ผ่านการเดินทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อชุมชน และการทำจิตอาสาปลูกจิตสำนึก ถึงคุณค่าของป่าชายเลน ซึ่งสำคัญต่อระบบนิเวศในองค์รวม นอกจากนี้ ยังเป็นกิจกรรมที่ได้นำพาเพื่อนๆ นักเรียนนักศึกษาชาวไทยและชาวจีนมาพบเจอกัน รู้จัก แลกเปลี่ยนทางภาษา เป็นสะพานในการสานความสัมพันธ์ในระดับนักเรียนนักศึกษา เพื่อสร้างโอกาสทางเครือข่าย อันจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในมุมของอนาคตความสัมพันธ์ไทย-จีน

กิจกรรม One day trip ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมเป็นนักเรียนไทย-จีน จำนวน 40 คน เป็นคนจีน 24 คน คนไทย 16 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ศ.ดร.หวัง ฮวน ภริยา ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และนางเฝิง จวิ้นอิง อัคราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษา 

ภิริยาทูตจีนฯ กล่าวว่า “รู้สึกประทับใจกับกิจกรรมในวันนี้ และอยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีกในอนาคต ตัวท่านได้เปิดประสบการณ์และเรียนรู้หลาย ๆ อย่างในวันนี้”

อาจารย์หวังฯ ยังกล่าวอีกว่า “กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่มีความหมายเป็นอย่างมาก เพราะทำให้นักเรียนจีนในไทย ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ และได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทย ที่สำคัญ ได้ทำกิจกรรมอาสา ที่เป็นการให้ประโยชน์กลับสู่ชุมชนด้วยเช่นกัน ต้องขอชื่นชมทีมงานผู้จัดกิจกรรม ที่จัดออกมาได้อย่างแปลกใหม่ และเข้ากับยุคสมัย”

 

สิทธิ์ให้ทุน ‘นักเรียนไทย’ มาเรียนต่อ ‘จีน’ อาจน้อยลง หลังพบเด็กไทยโกงข้อสอบ HSK โดยมีผู้คุมสอบช่วย

เมื่อวานนี้ (17 ม.ค.67) ผู้ใช้ติ๊กต็อก mikeawzmeaw หรือ อดีตนักเรียนไทยทุนจีน ได้โพสต์คลิปวิดีโอหัวข้อ ‘สิทธิ์ให้ทุนนักเรียนน้อยลง เพราะโกงข้อสอบ’ ซึ่งในคลิประบุว่า…

“สิทธิ์ให้ทุนนักเรียนไทยมาเรียนต่อที่ประเทศจีนอาจจะลดน้อยลง เพราะว่านักเรียนไทยทําสิ่งนี้…” ซึ่งอันนี้คือการสอบครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา มีเด็ก ‘โกงข้อสอบ’ โดยมีผู้คุมสอบ HSK5 ช่วยกันลากเมาส์ในพาร์ททั้งกาและเขียน ซึ่งตอนนี้กําลังอยู่ในส่วนของการตรวจสอบข้อมูลกันอยู่ว่าความเป็นไปเป็นมามันเป็นยังไงบ้าง

ดังนั้น จะบอกได้ว่าตอนนี้ทุนที่เขาให้นักเรียนไทยไปเรียนต่อที่ประเทศจีนมันลดน้อยลงไปอยู่แล้ว และมีข่าวนี้อีก ถ้าให้ภาษาบ้าน ๆ ก็เรียกได้ว่างามหน้ามาก ๆ ซึ่งเอาจริง ๆ ไม่คิดว่าเด็กไทยจะทำเรื่องแบบนี้ จึงอยากจะขอย้ำขอเตือนในฐานะที่เป็นหนึ่งคนที่เคยได้ทุนในการเรียนต่อที่ประเทศจีน ทุนนี้เขาให้เปล่าแล้วก็ให้ฟรีด้วย ทุกคนไม่ต้องใช้เงินทุนคืน แต่สิ่งที่คุณทําอยู่มันไม่ใช่แค่ส่งผลต่อตัวเอง แต่มันส่งถึงระดับประเทศระดับชาติ แล้วชื่อของคุณมันก็จะถูกแบล็คลิสต์ไป และมีโอกาสที่จะไม่ได้ใช้วีซ่าเข้าประเทศจีนอีกต่อไป ดังนั้น เพื่อน ๆ คนไหนที่คิดจะทําเรื่องนี้อยู่ ขอแนะนําว่าอย่าทําเด็ดขาด…”

หมายเหตุ : (HSK หรือ Hanyu Shuiping Kaoshi เป็นการสอบวัดระดับความสามารถภาษาจีนที่จัดขึ้นโดย Chinese Test International (CTI) ซึ่งเป็นองค์กรที่วิจัยพัฒนาข้อสอบวัดระดับภาษาจีนของชาวต่างชาติมาอย่างยาวนาน)

‘SCG’ มอบทุนการศึกษาเรียนต่อป.ตรี-เอก ในจีน-อินเดีย ฟรี!! ค่าเรียน 100% สมัครได้ตั้งแต่วันนี้-31 พ.ค.67

(8 ก.พ. 67) เพจ ‘SCG Careers’ โพสต์ข้อความ ระบุว่า “ทุน 2024 มาแล้วววว!!

SCG มอบทุนการศึกษาให้กับบุคคลทั่วไปเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ณ ประเทศจีนและประเทศอินเดีย ในมหาวิทยาลัยและสาขาที่ SCG กำหนด

โดย SCG สนับสนุนทุนการศึกษา ค่าเรียน 100% ค่าเบี้ยเลี้ยง และที่พัก *และเมื่อจบการศึกษายังมีโอกาสเข้ามาเป็นพนักงานบริษัทในเครือ SCG อีกด้วย

เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ ถึง 31 พฤษภาคม 2567
เพื่อน ๆ ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คุณนภัสวรรณ โทร: 088-660-8222 หรือทาง Email: napaswar@scg.com

*เงื่อนไขเป็นไปตามบริษัทกำหนด”

'จีน' ยกระดับ 184 โรงเรียน พัฒนาครั้งใหญ่ 'ฐานการศึกษา AI' บ่มเพาะความรู้ทางดิจิทัลแก่ 'ครู-เด็ก' รอบด้าน หนุนยุค AI เฟื่อง

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการของจีน ประกาศรายชื่อโรงเรียนประถมและมัธยมจำนวน 184 แห่ง ซึ่งถูกคัดเลือกเป็นฐานการศึกษาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้วยเป้าหมายส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาปัญญาประดิษฐ์ให้ดียิ่งขึ้น

รายงานระบุว่าโรงเรียนประถมและมัธยมควรปรับใช้หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีทั่วไป และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องอื่นๆ พร้อมกับเสริมสร้างทรัพยากรการศึกษาและการเรียนการสอน และจัดการฝึกอบรมและแนะแนวครู เพื่อเกื้อหนุนการศึกษาปัญญาประดิษฐ์

กระทรวงฯ จะเสริมสร้างแนวปฏิบัติของฐานการศึกษาที่กำหนดข้างต้น สนับสนุนการมีบทบาทนำเป็นตัวอย่างในการพัฒนาหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ในโรงเรียน การบูรณาการรายวิชา การปฏิรูปวิธีการสอน ร่วมสร้างและแบ่งปันทรัพยากรการศึกษาทางดิจิทัล บ่มเพาะความรู้ทางดิจิทัลของครู และส่งเสริมการพัฒนานักเรียนอย่างรอบด้าน

รีวิว!! ทำไมเด็กจีนต้องเรียนหนัก ตั้งแต่เช้ายันค่ำ เพราะไม่เก่งจริง!! เข้า รร.รัฐ ไม่ได้ เรียนเอกชนก็แพงหูฉี่

(6 มี.ค. 67) จากช่องติ๊กต็อก ‘maymae.chinaexpert’ หรือที่รู้จักในชื่อ ‘เมเม่ ChinaExpert’ ได้โพสต์คลิปหลังตนกำลังยืนอยู่หน้าโรงเรียนประถมของเมืองจงซาน ประเทศจีน เวลา 19.45 น. ขณะที่เด็กนักเรียนเพิ่งเลิกเรียนกัน (ตามเวลาเลิก 19.30 น.) พร้อมกับแชร์มุมมองว่าทําไมเด็กเมืองจีนจะต้องเรียนดึกและหนักขนาดนี้ หลังจากที่ได้ไปถามเด็กนักเรียนจีนรายหนึ่ง จึงได้ความว่า…

7 โมง ก็ต้องมาโรงเรียน พอเลิกเรียนเสร็จ ก็ต้องเรียนพิเศษ แล้วก็ต้องทําการบ้าน ถ้าใครได้เลิกทุ่มนึงจะเป็นเด็กธรรมดา ส่วนถ้าเรียนห้องคิงจะเป็นเด็กที่เก่ง ต้องเลิกเรียน 3 ทุ่ม นอกจากนี้ หน้าโรงเรียนก็จะมีของกินขาย เพราะเด็กเลิกเรียนดึกก็จะรู้สึกหิวข้าว

ฉะนั้น เมืองจีนจะเรียนหนักกันมาก เพราะถ้าผลสอบคะแนนออกมาไม่ดี จะสอบเข้าโรงเรียนรัฐไม่ได้ และโรงเรียนเอกชนก็แพงมาก บวกกับที่ประชากรเขาเยอะการแข่งขันจึงสูง เพราะคนเป็นพ่อเป็นแม่เห็นลูกเรียนไม่ดีก็เครียด ทำให้แต่ละบ้านก็อัดวิชาแข่งกัน เด็ก ๆ เลยเลิกเรียนดึก

‘จีน’ สั่ง รร.ประถม-มัธยม จัดช่วงพัก 30 นาที/วัน เพื่อให้นักเรียนได้ ‘ขยับร่างกาย - พักผ่อนสายตา’

เมื่อวานนี้ (12 มี.ค. 67) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการของจีนและหน่วยงานอื่นอีก 3 หน่วยงาน ออกหนังสือเวียนว่าด้วยการป้องกันและควบคุมภาวะสายตาสั้น ซึ่งเรียกร้องให้โรงเรียนประถมและมัธยมของจีนรับรองว่านักเรียนได้ออกทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายนอกห้องเรียนอย่างเหมาะสมระหว่างชั้นเรียน

หนังสือเวียนดังกล่าวประกาศเปิดตัวโครงการรณรงค์ทั่วประเทศระยะ 1 เดือนเพื่อป้องกันและควบคุมภาวะสายตาสั้นในเดือนมีนาคม โดยระบุว่าโรงเรียนควรจัดให้มีช่วงพักสำหรับทำกิจกรรมกีฬาเป็นเวลา 30 นาทีทุกวัน เพื่อให้นักเรียนได้ผ่อนคลายความเมื่อยล้าทางสายตาได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ หนังสือเวียนยังเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทั่วจีน ตรวจสอบและจัดการกิจกรรมทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดของผลิตภัณฑ์ป้องกันและควบคุมภาวะสายตาสั้นสำหรับเด็กและวัยรุ่นอย่างเคร่งครัดตามกฎหมาย

‘จีน’ เผชิญวิกฤติ มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ‘หอพักไม่เพียงพอ’ หลังเด็กแห่เรียน ป.โท จนต้องไปเช่าอพาร์ตเมนต์ข้างนอกให้อยู่

เมื่อวานนี้ (14 มี.ค.67) ​อัตราการจ้างงานที่น้อยลงในจีนทำให้นักศึกษา​จบใหม่หลายคนเลือกที่จะศึกษา​ต่อปริญญา​โทมากกว่าออกมาหางานหลังจบจากรั้วมหาวิทยาลัย โดยผลการสำรวจของเว็บไซต์การศึกษาจีนออนไลน์ในปี 2024 เผยว่าเมื่อปี 2021 มีจำนวนนักศึกษาที่สมัครเรียนต่อ​ปริญญาโทราว 649,000 คน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 197,000 คนในปี​ 2012 และในปี 2022 กระทรวง​การศึกษา​จีนเผยว่ามีนักศึกษาที่สมัครเรียนต่อ​ปริญญาโท​เกือบ 700,000 คน

เมื่อมีนักศึกษา​ที่ต้องการเรียนต่อปริญญาโท​มากเกินไป ก็ส่งผลให้หอพักในมหาวิทยาลัย​หลายแห่งมีจำนวนห้องพักไม่เพียงพอ อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังต้องแบ่งห้องพักส่วนหนึ่งไว้ให้นักศึกษาปริญญาตรีตามกฎระเบียบ​ของมหาวิทยาลัยจีนที่ส่วนมากบังคับให้นักศึกษาปริญญาตรีต้องพักในหอใน

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามหาทางแก้ไขปัญหาหอพักขาดแคลน เช่น มหาวิทยาลัย​ครุศาสตร์​เซี่ยงไฮ้​ (Shanghai Normal University)​ กำหนดให้นักศึกษา​ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้​สามารถเข้าพักในหอพักของมหาวิทยาลั​ย หากมีเตียงว่างถึงจะให้นักศึกษาที่เป็นคนท้องถิ่น โดยใช้ระยะทางการเดินทางจากบ้านมาเรียนเป็นเกณฑ์​ในการคัดเลือก

ด้านมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) ในเซี่ยงไฮ้เช่าอพาร์ตเมนต์นอกมหาวิทยาลัย​ในระยะยาว​ เพื่อทำเป็นหอพักให้นักศึกษาปริญญาโท​ชาวจีนและนักศึกษา​ชาวต่างชาติ​ บางแห่งที่เจอสถานการณ์​เร่งด่วน​ก็แก้ไขปัญหา​ด้วยการเช่าหอพักที่ยังว่างของวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่อยู่​ใกล้เคียง หรือให้นักศึกษา​ปริญญาตรีไปหาหอพักเองโดยมีเงินช่วย​เหลือจากมหาวิทยาลัย​ หรือนำพื้นที่บางส่วนของห้องน้ำในแต่ละชั้นมาปรับปรุง​เป็นห้องพักให้นักศึกษา​

แม้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง​จะพยายามช่วยเหลือ แต่นักศึกษา​ที่ต้องอาศัยอยู่นอกมหาวิทยาลัยก็ยังประสบปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะ​เรื่องการเดินทางและค่าใช้จ่าย นักศึกษา​คนหนึ่งของมหาวิทยาลั​ยฟู่ตั้น กล่าวว่า ถึงแม้มหาวิทยาลัย​จะมีบริการรถโดยสาร​รับ-ส่งนักศึกษา​ แต่ตารางเดินรถกับตารางเข้าเรียนของตนไม่สอดคล้อง​กัน นักศึกษา​หลายคนที่เลือกเดินทางไปเรียนเองต้องใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง ​กว่าจะถึงมหาวิทยาลัย​ 

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย หากนักศึกษาคนไหนจับฉลากห้องพักไม่ได้ ก็จะต้องไปอยู่หอพักนอกมหาวิทยาลัย​ โดยทางมหาวิทยาลัย​เสนอเงินช่วยเหลือให้นักศึกษา​เดือนละ 800 หยวน (ราว 4,000 บาท)​ เป็นระยะเวลา 10 เดือน ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็ยังไม่พอกับค่าเช่าหอพักที่อยู่​รอบมหาวิทยาลัย​ ซึ่งส่วนใหญ่​อยู่ที่ประมาณ​ 3,000 หยวน (ราว 14,900 บาท)

หน่วยงานภาครัฐของจีนเองก็พยายามช่วยแก้ปัญหา​นี้เช่นกัน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐบาลออกนโยบาย​ให้มหาวิทยาลัยสร้างหอพักใหม่หรือปรับปรุง​หอพักเดิม โดยมีตอนหนึ่ง​ระบุว่าให้มหาวิทยาลัย​ซื้อหรือ​เช่าอาคารของภาคเอกชน เช่น อพาร์ตเมนต์​หรือ​อาคาร​ที่มีทั้งห้องพักและศูนย์​การค้าที่อยู่​รอบมหาวิทยาลัย​ 

หลินฝาน เจ้าของธุรกิจ​ให้เช่าอพาร์ตเมนต์​รู้สึกพึงพอใจ​กับนโยบายนี้มาก เพราะมหาวิทยาลัยเสนอราคาเช่าที่ค่อนข้างดีราว 700-1000 หยวนต่อห้อง (ราว 3,500-5,000 บาท)​ ขึ้นอยู่​กับทำเลที่ตั้งของที่พัก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top