Thursday, 16 May 2024
ประเทศไทย

‘Finstable’ ผนึกภาครัฐ จัดงาน ‘B2GC’ ที่ภูเก็ต 17-19 ม.ค.นี้ หารือแนวทางใช้ประโยชน์ ‘บล็อกเชน’ ยกระดับ ‘ไทย’ หลากมิติ

(5 ม.ค. 67) บริษัท ฟินสเตเบิ้ล จำกัด (Finstable) ผู้นำด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนในประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), Thai Blockchain Services Infrastructure (TBSI), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) ผนึกกำลังจัดการประชุม Blockchain to Government Conference (B2GC) โดยจังหวัดภูเก็ตจะเป็นเจ้าภาพ ในระหว่างวันที่ 17 - 19 มกราคม 2567 นี้

สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่นำรัฐบาลและผู้นำด้านบล็อกเชนระดับโลกมาพบกัน เพื่อเป็นการประชุมและหารือเกี่ยวกับแนวทางในโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐานของระบบบล็อกเชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นประตูที่จะนำไปสู่ประเทศที่มีการพัฒนาและรวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น พร้อมทำให้เกิดประโยชน์ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริงแก่ประชาชนชาวไทย 

ในขณะเดียวกันที่ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ บล็อกเชนเป็นระบบปฏิบัติการอัจฉริยะที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของความเชื่อมั่น ความปลอดภัย และรวมไปถึงการกระจายอำนาจสู่หน่วยงานต่าง ๆ ของประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชน นับเป็นเทคโนโลยี ที่ได้รับการยอมรับในความแข็งแกร่งของระบบบันทึกข้อมูลที่โปร่งใสและยังสามารถกระจายอำนาจไปสู่ภายในระบบของประเทศไทย ที่สามารถเดินหน้าทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ โดยได้รับรองความถูกต้องของข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นในโครงสร้างฐานเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงกลยุทธ์เทคโนโลยีบล็อกเชนจะสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก พร้อมยกระดับเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เช่น บริการสาธารณะของประเทศไทย จะสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การประชุม B2GC ครั้งนี้ จะจัดขึ้นที่ Blockchain Technology Center (BTC) จังหวัดภูเก็ต โดยเนื้อหาการประชุมจะเน้นบทบาทของบล็อกเชนในการยกระดับความสามารถภาครัฐและผลประโยชน์ต่อประชาชน โดยมีวิทยากรระดับโลกทั้งในและต่างประเทศมาเข้าร่วมงานด้วย รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง นักวิชาการ และแขกคนสำคัญระดับ VIP อาทิ คุณประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, คุณโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าการจังหวัดภูเก็ต, ศ.(พิเศษ)ธงทอง จันทรางศุ และ คุณวิชัย ทองแตง 

โดยงานประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีชื่อเสียง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านบล็อกเชนระดับโลก อาทิ Dr. Xiao Feng (CEO) Hashkey Group, Dr. Xinxi Wang (Co-Founder) Litecoin Foundation, Zack Gall (Co-founder & CCO) EOS Network, Alex Blagirev (Strategic Initiatives Officer) SingularityNET, และ Sebastian R. Cabrera (VP of Product, National ID) Polygon Labs

พร้อมกลุ่มผู้นำทางด้านบล็อกเชนไทย อาทิ คุณชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ประธานบริษัท Velo Labs, คุณสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีบริษัท Bitkub Blockchain Technology, คุณกัญญารัตน์ แสงสว่าง Head of Growth (Thailand) จาก The Sandbox, คุณสถาพน พัฒนะคูหา ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท SmartContract Blockchain Studio และพ.ญ. นวพร นะลิตา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท Crypto City Connext

สำหรับเนื้อหาการประชุม B2GC ทั้ง 3 วันนั้น ในวันที่ 1 จะกล่าวถึงการทำงานของบล็อกเชนและการประยุกต์ใช้ ตามด้วยการประชุมในวันที่ 2 ซึ่งมุ่งเน้นหัวข้อการประชุมที่ถูกเลือกโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลและคณะกรรมการจัดงาน และวันสุดท้ายจะมีการหารือครั้งสำคัญ รวมถึงการปราศรัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เกี่ยวกับการดำเนินงานของกระทรวง ภายใต้แผนงาน ‘The Growth Engine of Thailand’ โดยโฟกัส 3 ด้านสำคัญคือ การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ, การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศรวมถึงการพัฒนาบล็อกเชนระดับโลกอีกด้วย

ผู้ที่สนใจร่วมงาน สามารถส่งคำถามหรือลงทะเบียนรอรับสิทธิ์เข้าร่วมงานได้บนเว็บไซต์ https://B2GC.finstable.co.th

‘ไทย’ คว้าอันดับ 7 ดัชนีของเอเชียแปซิฟิก ด้านความเป็นเลิศการศึกษา ‘STEM’

นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เป็นส่วนสำคัญสูงสุดในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยล่าสุด Center for Excellence in Education (CEE) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรได้สร้างดัชนีความพร้อมด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกในการเปรียบเทียบคุณภาพของนักเรียนประเทศต่าง ๆ 

สำหรับดัชนีความเป็นเลิศของ CEE ในด้านการศึกษา STEM จะประเมินว่านักเรียนมีความพร้อมทางวิชาการสำหรับการแข่งขันระดับโลก โดยจะเปรียบเทียบผลงานโอลิมปิกวิชาการโดยรวมตามประเทศ คำนวณค่าเฉลี่ยและการจัดอันดับตามประเทศที่เข้าร่วม และตรวจสอบผลงานของนักเรียนในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการที่เกี่ยวข้องกับ STEM ทั้ง 5 รายการ

ทั้งนี้ ดัชนีฯ ดังกล่าวช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายและนักการศึกษามีเครื่องมือสำคัญในการวัดว่านักสร้างสรรค์รุ่นต่อไปของแต่ละประเทศมีอนาคตดีเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้สร้างนวัตกรรมทั่วโลก โดยการพัฒนาเศรษฐกิจจีนมีความเกี่ยวข้องกับความสำเร็จของจีนในการแข่งขัน STEM Olympiads การทบทวนวิธีที่จะฝึกอบรมผู้นำรุ่นต่อไปจะต้องรวมเครื่องมือนี้ไว้ด้วย

สำหรับ ดัชนีฯ นี้จะแสดงข้อมูลต่อไปนี้ตามผลรวมของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนานาชาติในสาขาชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และสารสนเทศ (IT) โดยในการจัดอันดับดัชนีฯ พบว่า อันดับ 1. ได้แก่ จีน อันดับ 2. เกาหลีใต้ อันดับ 3. สิงคโปร์ อันดับ 4. เวียดนาม อันดับ 5. ญี่ปุ่น อันดับ 6. ไต้หวัน อันดับ 7. ไทย อันดับ 8. อิหร่าน อันดับ 9. อินโดนีเซีย อันดับ 10. อินเดีย อันดับ 11. ออสเตรเลีย และอันดับ 12. ฮ่องกง

ซึ่งดัชนีฯ ยังเผยให้เห็นว่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียได้เข้ามาครองการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ส่งผลให้ผลงานของนักเรียนจากยุโรปลดลง ตัวอย่างเช่น เยอรมนี เป็นประเทศแรกในปี 1989, 1988 และ 1982 แต่หลังจากนั้นก็ถูกเขี่ยออกจาก 30 อันดับแรก แม้ว่าจะมีประชากรเพียง 1/8 ของเยอรมนี แต่ฮังการีก็ยังคงรั้งอันดับที่ 20 ได้ ซึ่งถือเป็นการลดลง จากอันดับ 1 หรือ 2 ที่ได้รับในทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 

โดยน่าประหลาดใจที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรน้อยกว่า 6 ล้านคน (น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของฮังการี) สามารถเสมอกับเวียดนามเป็นอันดับที่ 5 ได้ การทบทวนผลงานของทีม USA ตั้งแต่ปี 1993 ถึงปัจจุบันเผยให้เห็นอันดับเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เส้นแนวโน้มแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากการจัดอันดับอันดับที่หกโดยประมาณเป็นอันดับสองหรือสามรองจากจีน

นอกจากนี้ การแข่งขันที่ดุเดือดในธุรกิจระดับโลกได้ผลักดันให้นักศึกษามีความเป็นเลิศในการแข่งขันทางวิชาการเพื่อที่จะโดดเด่น จากข้อมูลของ DiGennaro รัฐบาลส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนโครงการโอลิมปิกวิชาการในประเทศต่าง ๆ รวมถึงการฝึกอบรมและทรัพยากรอื่นๆ เช่น ครูและนักเรียน อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา

โดยประเทศจีนได้ลงทุนมหาศาลในการแข่งขันเหล่านี้ และอาจจะทำให้จีนได้เปรียบอย่างมากนอกเหนือจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ สิ่งสำคัญ คือ ต้องเน้นว่าจีนใช้เงินจำนวนมากกับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งลดลงในยุโรป

‘ดร.เอ้’ มอง ‘สิงคโปร์’ ใต้การนำของนายกฯ เจนสี่ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’ ‘สร้างคน-ชาติ-สังคม’ ใต้ข้อจำกัด เชื่อ!! ไทยก็ทำได้ อยู่ที่ ‘ผู้นำ’

(16 พ.ค. 67) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ‘ดร.เอ้’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 'เอ้ สุชัชวีร์' ในหัวข้อ 'ผู้นำไทย ควรเรียนรู้จากสิงคโปร์' ระบุว่า...

การสร้างคน สร้างชาติ สร้างสังคม ภายใต้ข้อจำกัด อย่างมหัศจรรย์ #เราทำได้

'ลอว์เรนซ์ หว่อง' ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเจนสี่ ของสิงคโปร์ ประกาศต่อยอด 'คัมภีร์สร้างชาติ' จากผู้นำ 3 รุ่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะจาก 'รัฐบุรุษลี กวนยู'

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ทุกรุ่น เน้นการ 'สร้างคน' สำคัญที่สุดเสมอ โดย 'ลอว์เรนซ์ หว่อง' จะทำอะไรต่อจากนี้ น่าเรียนรู้ยิ่ง...

1. 'แสวงหาคนเก่ง' จากทั่วโลก
ลีกวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ ได้นักเศรษฐศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ ช่วยวางรากฐานทางเศรษฐกิจ ได้นักการทหารอิสราเอล ช่วงวางรากฐานกองทัพ ขณะเริ่มสร้างประเทศสิงคโปร์

'คนเก่ง' มาจากชาติไหนไม่สำคัญ ขอให้มาอยู่ มาช่วยพัฒนาสิงคโปร์ ชาติก็เจริญ

อีกทั้ง จำนวนประชากรสิงคโปร์ เติบโตไม่ทัน 

ลอว์เรนซ์ หว่อง จึงมุ่งให้ทุนการศึกษาเด็กมัธยมต้น จากชาติอาเซียน โดยเฉพาะ 'เด็กไทยชั้นยอด' ให้ไปเรียนมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย จบออกมาทำงานในสิงคโปร์ และให้สิทธิ์เป็นพลเมือง พร้อมพ่อแม่ 

แม้ประเทศไทย อาจน่าอยู่ แต่คุณภาพการศึกษา สิ่งแวดล้อม และโอกาสได้งานที่ท้าทาย อาจไม่โดนใจคนรุ่นใหม่ เท่ากับสิงคโปร์ เราจึงสูญเสียยอดเด็กไทยไปอยู่สิงคโปร์เพิ่มขึ้นทุกปี

2. 'เน้นปัจจัยสี่' สำคัญที่สุด
อาหาร เครื่องนุ่งห่ม บ้าน และยารักษาโรค คือ ปัจจัยสี่ คือ พื้นฐานของชีวิต แต่ความท้าทาย คือ แม้พลเมืองจะมีรายได้สูง แต่อาหารและค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน รัฐบาลสิงคโปร์จะลดค่าครองชีพได้อย่างไร 

คนรุ่นใหม่ก็ไม่มีกำลังซื้อบ้าน เพราะที่ดินมีจำกัด ทำให้บ้านราคาสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก 

ลอว์เรนซ์ หว่อง เกิดในบ้านการเคหะ ที่ริเริ่มโดย ลี กวนยู เมื่อ 50 ปีก่อน ผมเคยไปเยี่ยมเมื่อครั้งเป็นประธานการเคหะแห่งชาติ หลายปีก่อน บ้านการเคหะสิงคโปร์แม้ห้องขนาดเล็ก แต่น่าอยู่ สิ่งแวดล้อมดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และบ้านการเคหะสิงคโปร์ก็ไม่ได้ราคาถูกในวันนี้

ลอว์เรนซ์ หว่อง สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ มีบ้านของตนเอง ไม่เป็นหนี้เยอะ โดยให้แต้มต่อ คนเพิ่งเริ่มต้นทำงาน ได้ผ่อนบ้านในราคาพิเศษ ที่รัฐช่วยอุดหนุน

ด้านสาธารณสุข สิงคโปร์ประกาศเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีการแพทย์ และยารักษาโรค พึ่งพาตนเองและส่งออกได้ เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ามหาศาล

เมื่อคนรุ่นใหม่มีบ้านของตนเอง ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ไม่ก่อหนี้เกินตัว ย่อมมีพลังในการทำงาน สร้างเศรษฐกิจเข้มแข็ง

3. 'สิ่งแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตดี' คือ ลมหายใจของเมือง
สิงคโปร์ มีโรงงาน มีท่าเรือ มีโรงเผาขยะ แต่แทบไม่มี PM 2.5 จากภายในประเทศ และพื้นที่สีเขียว 66 ตารางเมตรต่อคน มากกว่ากทม. 10 เท่า! 

ลอว์เรนซ์ หว่อง ประกาศว่า คุณภาพชีวิตของคนสิงคโปร์ ตื่นนอนสดชื่น เดินมาขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า ไม่เกิน 5 นาที กลับบ้านตรงเวลา รถไม่ติด 'น้ำไม่ท่วม' มีเวลากับลูกและครอบครัว ความปลอดภัยต้อง 100% 

เพราะถึงแม้มีเงิน แต่หากสิ่งแวดล้อมไม่ดี คุณภาพชีวิตก็ไม่ดี สิ่งแวดล้อมดีจึงทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าทำงาน

4. 'สร้างสังคมนวัตกรรม' คือ ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ
ลอว์เรนซ์ หว่อง จะต่อยอดนโยบาย ตามอดีตนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ในการเปลี่ยนเศรษฐกิจของสิงคโปร์ จากเมืองท่าสู่บริการการเงิน จากบริการการเงินสู่การส่งออกเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมุ่งสร้างคนจำนวนมาก ด้าน AI คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการแพทย์ และพลังงานทดแทน อย่างจริงจัง

เพราะเศรษฐกิจในอนาคต จะรุ่งเรืองได้ ต้องมาจาก 'เศรษฐกิจนวัตกรรม' ที่อาศัยพลังสมองชั้นยอดของพลเมือง สิงคโปร์จึงต้องเน้นเรื่องการสร้างคน

แม่ของ ลอว์เรนซ์ หว่อง เป็นครูประถม ผู้ทุ่มเทกับการเรียนของลูก จนลูกได้เรียนปริญญาตรีและปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐ ก่อนกลับมาทำงานการเมือง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา เป็นนายกรัฐมนตรี

จึงมั่นใจการขับเคลื่อน เรื่องการศึกษา ในยุคนายกฯ ลอว์เรนซ์ หว่อง น่าจะก้าวกระโดดเช่นกัน

เมื่อเรียนรู้จากสิงคโปร์แล้ว นายกรัฐมนตรีประเทศไทย ควรเร่งทำ 4 เรื่องนี้เช่นกัน ต้องไม่ทำงาน 'ฉาบฉวย' แม้แต่เรื่องเฉพาะหน้า ยังแก้ปัญหาไม่เบ็ดเสร็จ

'การศึกษาไทย' ยังวังเวง แทบไม่มีการพัฒนา เพราะนายกฯ ไม่ใส่ใจ 'โรงงานสารเคมี' ถูกปล่อยไว้ ไฟไหม้ซ้ำซาก ทำลายสิ่งแวดล้อม 'บ่อนเสรี' มีเมื่อไม่พร้อม จะกำลังจะมาทำลายอนาคตลูกหลาน 'ยาเสพติด' เต็มเมือง เปิดร้านขายกัญชาได้ที่หน้าโรงเรียน 

อนาคตไทย อยู่ที่ 'ผู้นำ' จะทำเพื่อชาติ หรือ ทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง

ด้วยความห่วงใย และรักชาติยิ่ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top