Saturday, 18 May 2024
หอพัก

'ม.ขอนแก่น' มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต จ่อปรับโฉม 'หอพัก-คอมเพล็กซ์' สร้างพื้นที่ 'น่าอยู่-ปลอดภัย' แก่ 'นักศึกษา-คณาจารย์'

มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการวางแผนยุทธศาสตร์การบริหาร คือการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ (Transformation) เพื่อวิสัยทัศน์ในการเป็น ‘มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนําระดับโลก’ ทั้งด้านการจัดการศึกษาการวิจัยการบริการวิชาการการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลและด้านการบริหารจัดการองค์กรเพื่อให้มหาวิทยาลัยยังคงมีความก้าวหน้าและการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน

สำหรับด้านระบบนิเวศของมหาวิทยาลัย (Ecological) ซึ่งอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น นั้น ผศ.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม เผยว่า การสร้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นที่น่าทํางาน (Best place to work) ให้เป็นที่ทํางานที่สนุกและท้าทายทําให้คณาจารย์และบุคลากรอยากทํางานด้วยมากที่สุด โดยจะมีการสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ (Great place to live) เพื่อให้เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมในการใช้ชีวิตมีสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวมีห้องเรียนด้านพฤกษศาสตร์และมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต (Biodiversity)

ผศ.อาวุธ ยิ้มแต้ กล่าวว่า “โครงการที่เป็นเรือธงในการพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่น (Flag ship projects) ของฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม คือ การเพิ่มจำนวนที่พักบุคลากรที่พักนักศึกษาและบุคลากรให้มีจำนวนมากขึ้น นำพื้นที่สนามซอฟท์บอล หลังหอ 26 สร้างเป็นหอพักนักศึกษา โดยจะจัดหาพื้นที่ใหม่สำหรับสร้างสนามซอฟท์บอลทดแทน และพื้นที่อยู่ด้านหลังปั๊มน้ำมัน ปตท. รวมสองพื้นที่นี้จะรองรับนักศึกษาได้ประมาณ 4,000 คน ส่วนที่พักบุคลากรนั้นจะอยู่บริเวณฝั่งบึงสีฐาน เป็นพื้นที่ใกล้ๆ กันกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ การดำเนินการเป็น 2 เฟส คาดว่าจะรองรับบุคลากรได้ประมาณ 2,000 คน ขณะนี้มีความก้าวหน้าอยู่ในช่วงทำร่างขอบเขตงาน (Term of Reference) หรือ TOR เสร็จแล้ว จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนหาผู้ร่วมลงทุนมาดำเนินการก่อสร้างต่อไป”

“อีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับงานพลิกโฉมที่ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบก็คือ เรื่องของการปรับปรุงศูนย์อาหารและบริการ หรือ คอมเพล็กซ์ นั้น เป็นการปรับปรุงใหญ่ซึ่งท่านอธิการให้ความสำคัญเนื่องจาก Complex เป็นพื้นที่ที่บุคลากรส่วนใหญ่ทั้งมหาวิทยาลัยมาใช้งานในพื้นที่นี้ร่วมกัน ขณะนี้อยู่ในช่วงของการออกแบบพื้นที่”

“นอกจากนี้ยังมีระบบประปา ที่มหาวิทยาลัยลงทุนขุดลอกบ่อเก็บน้ำดิบ เพื่อเก็บกักน้ำที่ผลิตได้ให้มากขึ้น ป้องกันการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ลดความเสี่ยงการขาดน้ำของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้มีการดำเนินการเกือบสมบูรณ์แล้ว สำหรับการสำรองน้ำที่ผลิตเป็นน้ำประปานั้น มีแผนจะนำเอาถังเก็บน้ำที่เลิกใช้เอากลับมาบูรณะใหม่ เพื่อจะเพิ่มปริมาตรการเก็บกักน้ำที่ผลิตเป็นน้ำประปาให้มีน้ำใช้ได้ตลอดปี ส่วนน้ำที่ใช้ในด้านการเกษตร เช่น คณะเกษตรศาสตร์ได้มีการวางท่อจ่ายน้ำที่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสีย และสูบน้ำดิบที่ได้มาตามธรรมชาติ สุ่มจ่ายไปหลายจุดนำไปใช้รดต้นไม้ ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาบึงต่างๆ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เช่น การขุดลอกหนองหัวช้างซึ่งเป็นสระเก็บน้ำเก่าแก่ของมหาวิทยาลัยที่ปัจจุบันมีความตื้นเขินเพื่อจัดเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ทั้งยังสร้างระบบนิเวศให้น่าอยู่ ร่มรื่น เพิ่มความผาสุขการทำงานบุคลากรต่อไป” ผศ.อาวุธ ยิ้มแต้  รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม  กล่าวในที่สุด

‘จีน’ เผชิญวิกฤติ มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ‘หอพักไม่เพียงพอ’ หลังเด็กแห่เรียน ป.โท จนต้องไปเช่าอพาร์ตเมนต์ข้างนอกให้อยู่

เมื่อวานนี้ (14 มี.ค.67) ​อัตราการจ้างงานที่น้อยลงในจีนทำให้นักศึกษา​จบใหม่หลายคนเลือกที่จะศึกษา​ต่อปริญญา​โทมากกว่าออกมาหางานหลังจบจากรั้วมหาวิทยาลัย โดยผลการสำรวจของเว็บไซต์การศึกษาจีนออนไลน์ในปี 2024 เผยว่าเมื่อปี 2021 มีจำนวนนักศึกษาที่สมัครเรียนต่อ​ปริญญาโทราว 649,000 คน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 197,000 คนในปี​ 2012 และในปี 2022 กระทรวง​การศึกษา​จีนเผยว่ามีนักศึกษาที่สมัครเรียนต่อ​ปริญญาโท​เกือบ 700,000 คน

เมื่อมีนักศึกษา​ที่ต้องการเรียนต่อปริญญาโท​มากเกินไป ก็ส่งผลให้หอพักในมหาวิทยาลัย​หลายแห่งมีจำนวนห้องพักไม่เพียงพอ อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังต้องแบ่งห้องพักส่วนหนึ่งไว้ให้นักศึกษาปริญญาตรีตามกฎระเบียบ​ของมหาวิทยาลัยจีนที่ส่วนมากบังคับให้นักศึกษาปริญญาตรีต้องพักในหอใน

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามหาทางแก้ไขปัญหาหอพักขาดแคลน เช่น มหาวิทยาลัย​ครุศาสตร์​เซี่ยงไฮ้​ (Shanghai Normal University)​ กำหนดให้นักศึกษา​ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้​สามารถเข้าพักในหอพักของมหาวิทยาลั​ย หากมีเตียงว่างถึงจะให้นักศึกษาที่เป็นคนท้องถิ่น โดยใช้ระยะทางการเดินทางจากบ้านมาเรียนเป็นเกณฑ์​ในการคัดเลือก

ด้านมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) ในเซี่ยงไฮ้เช่าอพาร์ตเมนต์นอกมหาวิทยาลัย​ในระยะยาว​ เพื่อทำเป็นหอพักให้นักศึกษาปริญญาโท​ชาวจีนและนักศึกษา​ชาวต่างชาติ​ บางแห่งที่เจอสถานการณ์​เร่งด่วน​ก็แก้ไขปัญหา​ด้วยการเช่าหอพักที่ยังว่างของวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่อยู่​ใกล้เคียง หรือให้นักศึกษา​ปริญญาตรีไปหาหอพักเองโดยมีเงินช่วย​เหลือจากมหาวิทยาลัย​ หรือนำพื้นที่บางส่วนของห้องน้ำในแต่ละชั้นมาปรับปรุง​เป็นห้องพักให้นักศึกษา​

แม้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง​จะพยายามช่วยเหลือ แต่นักศึกษา​ที่ต้องอาศัยอยู่นอกมหาวิทยาลัยก็ยังประสบปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะ​เรื่องการเดินทางและค่าใช้จ่าย นักศึกษา​คนหนึ่งของมหาวิทยาลั​ยฟู่ตั้น กล่าวว่า ถึงแม้มหาวิทยาลัย​จะมีบริการรถโดยสาร​รับ-ส่งนักศึกษา​ แต่ตารางเดินรถกับตารางเข้าเรียนของตนไม่สอดคล้อง​กัน นักศึกษา​หลายคนที่เลือกเดินทางไปเรียนเองต้องใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง ​กว่าจะถึงมหาวิทยาลัย​ 

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย หากนักศึกษาคนไหนจับฉลากห้องพักไม่ได้ ก็จะต้องไปอยู่หอพักนอกมหาวิทยาลัย​ โดยทางมหาวิทยาลัย​เสนอเงินช่วยเหลือให้นักศึกษา​เดือนละ 800 หยวน (ราว 4,000 บาท)​ เป็นระยะเวลา 10 เดือน ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็ยังไม่พอกับค่าเช่าหอพักที่อยู่​รอบมหาวิทยาลัย​ ซึ่งส่วนใหญ่​อยู่ที่ประมาณ​ 3,000 หยวน (ราว 14,900 บาท)

หน่วยงานภาครัฐของจีนเองก็พยายามช่วยแก้ปัญหา​นี้เช่นกัน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐบาลออกนโยบาย​ให้มหาวิทยาลัยสร้างหอพักใหม่หรือปรับปรุง​หอพักเดิม โดยมีตอนหนึ่ง​ระบุว่าให้มหาวิทยาลัย​ซื้อหรือ​เช่าอาคารของภาคเอกชน เช่น อพาร์ตเมนต์​หรือ​อาคาร​ที่มีทั้งห้องพักและศูนย์​การค้าที่อยู่​รอบมหาวิทยาลัย​ 

หลินฝาน เจ้าของธุรกิจ​ให้เช่าอพาร์ตเมนต์​รู้สึกพึงพอใจ​กับนโยบายนี้มาก เพราะมหาวิทยาลัยเสนอราคาเช่าที่ค่อนข้างดีราว 700-1000 หยวนต่อห้อง (ราว 3,500-5,000 บาท)​ ขึ้นอยู่​กับทำเลที่ตั้งของที่พัก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top