Thursday, 9 May 2024
เศรษฐาทวีสิน

‘นายกฯ’ มอบคำขวัญ ‘วันเด็กแห่งชาติ’ ประจำปี 67 เน้นย้ำ!! ประชาธิปไตย-มองโลกกว้าง-เคารพความแตกต่าง

(28 ธ.ค.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ทวีตข้อความผ่าน X มอบคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ปี 2567 ว่า “มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย”

เด็กไทยเก่ง มีศักยภาพ มีความคิดดี และทันสมัย หน้าที่ของรัฐบาลคือการสนับสนุนให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีศักดิ์ศรี มีความภูมิใจในตัวเอง

ผมอยากให้เด็กไทย Enjoy กับการใช้ชีวิตในวัยเด็ก แต่ขณะเดียวกันก็มีโลกทัศน์ที่กว้าง มีความเป็นไทยพร้อม ๆ กับมีความเป็นสากล เป็นพลเมืองของโลกที่สามารถเคารพความแตกต่างหลากหลายได้ เพื่อร่วมกันสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต่อไป

ตัวผมเองในฐานะผู้นำประเทศจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เด็กไทยทุกคน ได้เติบโตขึ้นมาในประเทศที่งดงาม มีความสุข และมีโอกาสสำหรับอนาคตของทุกคน

'นายกฯ' ยินดี 'ตุ๊กๆ ออนทัวร์' ผลงานทีมนักศึกษาอาชีวะไทย คว้าอันดับ 1 การแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติที่จีน

(8 ม.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชื่นชมความสำเร็จของทีมนักศึกษาอาชีวะไทย สามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัลที่ 3 จากการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ ครั้งที่ 16 ประจำปี 2567 (The 16th International Collegiate Snow Sculpture Contest (2024)) ณ เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 7 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นการนำความรู้และทักษะวิชาชีพมาฝึกประสบการณ์จริงผ่านการแข่งขัน สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และแสดงศักยภาพของเยาวชนไทยสู่สายตานานาชาติ 

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดส่งทีมนักศึกษาอาชีวศึกษาไทย จำนวน 3 ทีม จาก 3 สถาบัน ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา, วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี และวิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี เข้าร่วมการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติประจำปี 2567 ซึ่งการแข่งขันนี้มีตัวแทนจาก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน, รัสเซีย, อังกฤษ, อิตาลี, ออสเตรเลีย และไทย รวมทั้งหมด 58 ทีมเข้าร่วมแข่งขัน 

โดยผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมนักศึกษาอาชีวะไทย สามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ได้รับรางวัล ดังนี้

- รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ในผลงานชื่อ 'ตุ๊ก ๆ ออนทัวร์' โดยการนำรถตุ๊กๆ มาเป็นสื่อกลาง สะท้อนวัฒนธรรมและประเพณีของไทย ผ่านศิลปะไทยร่วมสมัย

- รางวัลที่ 3 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ในผลงานชื่อ ‘มนุษย์ กับ ธรรมชาติ’ สะท้อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของมนุษย์ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบต่อธรรมชาติ โดยต้องการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ และการสร้างสมดุล

- รางวัลที่ 3 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี ในผลงานชื่อ 'โลกแห่งสันติภาพ' (World of peace) เพื่อให้ทุกคนบนโลก ตระหนักถึงความสำคัญ และงดใช้ความรุนแรง สร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น

“นายกรัฐมนตรีชื่นชม และแสดงความยินดีกับทีมนักศึกษาอาชีวะไทยซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดี สร้างความภาคภูมิใจเเละชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก พร้อมชื่นชมอาจารย์ที่ฝึกสอน และขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่สนับสนุนให้เยาวชนไทยได้ออกไปหาประสบการณ์จริงในระดับโลก โดยหวังว่าความสำเร็จในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบ จุดประกายให้เด็กและเยาวชนรุ่นต่อ ๆ ไป มีความพยายาม และกล้าที่จะทำตามความฝันของตัวเองเพื่ออนาคต” นายชัยกล่าว

‘นายกฯ’ สั่งยกระดับ ‘ภาษาอังกฤษ’ ในระดับอุดมศึกษา สร้างความพร้อมด้าน ‘วิชาการ-วิชาชีพ-ทักษะสื่อสาร’ ยิ่งขึ้น

(25 ม.ค. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พ.ย 66 ให้หน่วยงานภาครัฐเร่งจัดหาโครงการ หรือมาตรการต่าง ๆ ด้านการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษอย่างเร่งด่วน ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ออกประกาศเรื่องนโยบายการยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2567 เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

โดยกำหนดเป้าหมาย พัฒนาการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้ รวมถึงกำหนดให้นักศึกษาทุกคน สอบวัดความรู้และทักษะภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา ตามแบบทดสอบที่สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาขึ้นหรือแบบทดสอบตามมาตรฐานสากลอื่น ๆ โดยเทียบเคียงผลกับมาตรฐานสากลของสหภาพยุโรปที่ใช้วัดระดับความสามารถทางภาษาในด้านการอ่าน การเขียน การฟัง และการพูด (Common European Framework of Reference for Languages: CEFR)

นายชัย กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้ขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานตามประกาศดังกล่าว โดยกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาปฏิบัติตามแนวทางกำหนดนโยบายและเป้าหมายยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของนิสิต นักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่มีความพร้อม ทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับที่ใช้งานได้ และพิจารณาจัดการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาอังกฤษ รวมทั้งจัดทําแผนเพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีตัวชี้วัดและมีการประเมินผลที่ชัดเจน และจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร จัดสภาพแวดล้อมทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนที่ส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษ

พร้อมทั้งจัดสื่อการเรียนการสอนรูปแบบเอกสารหรือสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้นิสิตนักศึกษาสามารถพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษได้ด้วยตนเอง รวมถึงตั้งแนวทางการประเมิน โดยการสอบวัดความรู้และทักษะภาษาอังกฤษก่อนสําเร็จการศึกษา ตามแบบทดสอบที่สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาขึ้น หรือ แบบทดสอบตามมาตรฐานสากลอื่น ๆ โดยกําหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะภาษาอังกฤษ เทียบเคียงผลกับเกณฑ์ CEFR ของแต่ละบุคคล ตามหลักดังนี้ 1.ระดับอนุปริญญา ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ B1 ขึ้นไป 2. ระดับปริญญาตรี ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ B2 ขึ้นไป และ 3. ระดับบัณฑิตศึกษา ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ C1 ขึ้นไป

“ด้วยการกำหนดนโยบายแบบมุ่งยกระดับทุกด้าน นายกรัฐมนตรีจึงเร่งการพัฒนาทรัพยากรบุคคลไทยให้มีความสามารถเท่าทัน เท่าเทียมการตลาดแรงงาน เร่งพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในระดับอุดมศึกษาให้ได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อความพร้อมของนักเรียน นักศึกษา เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติ ช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถ ตลอดจนยกระดับอาชีพ ให้เท่าทันสอดคล้องกับนโยบายของประเทศด้านการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน ภาคการศึกษาวิจัยต่าง ๆ” นายชัย กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top