ส่องสมอง “ไอน์สไตน์” อัจฉริยะที่ต้องเอาสมองมาวิจัย

สำหรับอัจฉริยะอย่าง “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์”  ไม่แปลกที่นักวิทยาศาสตร์ทั่ว ๆ ไป จะตั้งข้อสงสัยถึง “สิ่งที่คั่นระหว่างหู” นั่นก็คือ “สมอง” ของเขา ว่ามันจะมีอะไรพิเศษไปกว่าปกติหรือไม่ ?  จนก่อให้เกิดเหตุการณ์นำเอาสมองของเขามาศึกษาและคาดเดาไปต่าง ๆ นา ๆ มากมาย 

 

ไอน์สไตน์เสียชีวิตในปี 1955 ที่โรงพยาบาลพรินซ์ตัน ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ สมองของเขาถูกนำเอามาวิจัยโดยนักพยาธิวิทยา ชื่อ “โธมัส ฮาร์วีย์” (ไปเอาสมองจริงๆ ออกมาจากหัว “ไอน์สไตน์” ช่างใจร้ายจริง ๆ ) เขานำเอาสมองมาเก็บรักษาผ่านกรรมวิธี นำมาถ่ายภาพและวัดขนาด ก่อนจะแบ่งสมองออกเป็น 240 บล็อก (เพื่อตรวจทีละส่วน) แล้วนำแต่ละตัวอย่างในแต่ละบล๊อคมาวางบนสไลด์ของกล้องไมโครสโคป แถมยังส่งต่อสไลด์ไปให้กับนักวิจัยหลายคน ส่วนตัวฮาร์วีย์ เขามีผลงานที่ตีพิมพ์เพียงไม่กี่ชิ้น แถมเป็นนักวิจัยที่ชีพจรลงเท้าสุด ๆ เพราะย้ายที่ทำงานไปทั่วอเมริกา แต่ในทุกที่ ที่เขาไปเขาจะหนีบโหลดองสมองของ “ไอน์สไตน์” ไปด้วยตลอด จนในปี 1998 เขาจึงได้หยุดการย้ายถิ่นฐาน และเสียชีวิตลงในปี 2007 แต่เขาไม่ได้เอาโหลดองลงหลุมไปกับเขาด้วย แต่ได้มอบขวดโหลให้กับศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ซึ่งขวดโหลใบนี้ก็ยังอยู่ที่ศูนย์การแพทย์ ฯ มาจนถึงทุกวันนี้

 

การศึกษาสมองของไอน์สไตน์ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1999 โดยเป็นผลงานของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ในแฮมิลตัน ประเทศแคนาดา (ส่งชิ้นส่วนสมองไปไกลแท้พ่อคุณ) นำทีมโดย “แซนดรา วิเทลสัน” นักประสาทวิทยา โดยพบว่ากลีบข้างกระหม่อมของ ไอน์สไตน์” ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้ความเข้าใจทางคณิตศาสตร์ ภาพ และเชิงพื้นที่นั้นกว้างกว่าปกติ 15% นอกจากนี้ทีมงานยังพบลักษณะผิดปกติอื่น ๆ แต่ก็ไม่สามารถนำมาอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมได้ และที่สำคัญสมองของ Einstein มีน้ำหนักเพียง 1,230 กรัม ซึ่งถือว่าเบากว่าค่าเฉลี่ยของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน

 

ในเวลาต่อมา  “ดีน โฟล์ค” นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา สเตท ในแทลลาแฮสซี ได้ค้นพบร่องรอยที่น่าสนใจเพิ่มเติม โดยเขาได้นำภาพถ่ายสมองของไอน์สไตน์มาเทียบกับสมองจากศพปกติ โฟร์คเขาพบลักษณะผิดปกติที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในสมองของไอน์สไตน์ โดยเฉพาะในส่วนของคอร์เทกซ์ที่ใช้สั่งการควบคุมมือซ้าย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในเรื่องความสามารถทางดนตรีของเขา (ไม่เกี่ยวกับเรื่องฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์เลยเอาสิ ??? )

 

เช่นเดียวกับทีมก่อนหน้า “โฟล์ค” พบว่ากลีบข้างกระหม่อมของ ไอน์สไตน์” ใหญ่กว่ามนุษย์ปกติ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายสมองส่วนคอร์เทกซ์อีก 58 ชุด จากศพคนปกติ (ก็ต่างอีกแหละ) แต่เพิ่มเติมด้วยการระบุรูปแบบร่องสมองที่หายากมากในบริเวณข้างกระหม่อมของสมองทั้งสองข้าง ซึ่งตรงนี้ “โฟล์ค” คาดเดาว่า (ย้ำว่าคาดเดานะ) อาจเกี่ยวข้องกับความอัจฉริยะในด้านฟิสิกส์ของไอน์สไตน์ ....

 

แต่แท้จริงแล้ว ในช่วงชีวิตของ “ไอน์สไตน์” เขามักจะบอกทุก ๆ คนว่า เขาคิดคำนวณด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ด้วยภาพ จินตนาการ และความรู้สึก พรสวรรค์ของไอน์สไตน์ในฐานะ "นักคิดสังเคราะห์" อาจเกิดจากลักษณะทางกายวิภาคที่ผิดปกติของคอร์เทกซ์ข้างกระหม่อมของเขา ซึ่ง “โฟล์ค”ได้สรุปรายงานไว้ในหนังสือ Frontier in Evolutionary Neuroscience แต่ทว่า ดีน โฟล์ค” ยอมรับว่าการตีความทั้งหมดยังเป็นเรื่องสมมุติ (เอ้า ??? )

 

มาถึง “มาร์ค แบนเกิร์ต” นักประสาทวิทยาแห่งสถาบันองค์ความรู้และวิทยาศาสตร์ด้านสมอง แม๊กซ์ พลั๊งค์ ในเมืองไลฟ์ซิก ประเทศเยอรมนี ได้กล่าวว่า "มันเป็นเรื่องที่เกินจะกล่าวไปมาก ๆ” แต่นี่คือสิ่งที่เราได้จากข้อมูลที่มีอยู่ ภาพถ่ายเก่าบางรูปที่มีอยู่ ก็จะประมาณนี้

 

"เฟรดดิก เลอโพร์ นักประสาทวิทยาแห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโรเบิร์ต วู๊ด จอห์นสัน ในนิวบรันสวิก รัฐนิวเจอร์ซีย์ กล่าวว่า “โฟล์ค” ดูเหมือนจะระบุลักษณะสมองของนักฟิสิกส์ได้อย่างแม่นยำ และมีความสัมพันธ์ระหว่าง "ปุ่มคอร์เทกซ์" ในสมองที่เรียกว่า “มอเตอร์คอร์เทกซ์” ของไอน์สไตน์ โดยเฉพาะในเรื่องของไวโอลินของเขาที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการ "โน้มน้าวใจและสร้างความน่าสนใจ" (ไม่เกี่ยวกับฟิสิกส์และคณิตศาสตร์อีกแล้ว !!! )  แต่อย่างไรก็ตาม “เลอโพร์” กล่าวว่าเขา "ไม่สบายใจ" กับข้อสรุปในเรื่องความเป็นอัจฉริยะของ ไอน์สไตน์”  ที่เกิดขึ้นจากกลีบข้างกระหม่อมจนเรียกเขาว่า "อัจฉริยะข้างกระหม่อม" โดยนำเอาหลักฐานอื่น ๆ มาอ้างเพื่อยืนยันอย่างแข็งขันทั้งในเรื่องเกรดสุดยอดมาก ๆ ในวิชาภาษาละติน วิทยาศาสตร์ ศิลปะและภูมิศาสตร์

 

สรุปแล้วความเป็นอัจฉริยะของ “ไอน์สไตน์” น่าจะสรุปได้ว่ามันไม่ได้มาจากกายวิภาคของสมอง แต่น่าจะเป็นเรื่องอื่น ๆ ที่สร้างความเป็นอัจฉริยะให้เกิดขึ้นกับ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” 

 

อ้างอิงจาก www.science.org