รัฐบาล จับมือ สถาบันการศึกษา ร่วมเดินหน้าอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

เมื่อวันที่ 4 พ.ย.นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถด้วยนวัตกรรมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต ซึ่งประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่สำคัญของอาเซียนโดยมุ่งเน้นการผลิตหุ่นยนต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร

 

นายอนุชา กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลในเรื่องนวัตกรรมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ได้รับการขับเคลื่อนที่ดีจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิเช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นเจ้าภาพสนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก รายการ World Robo Cup 2022, BangKok, Thailand เพื่อส่งเสริมผลักดันในการวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์และการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความสนใจมีผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ทั่วโลกลงทะเบียนมากว่า 3,000 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก ร่วมนำหุ่นยนต์ในหลากหลายโซลูชั่นเข้าร่วมการแข่งขัน และเยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพในการแข่งขันฯ จนได้รับรางวัลหลายรายการ

 

ซึ่งนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม ได้นำคณะนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก World RoboCup 2022 จาก 6 สถาบัน เข้าพบพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โดยนายกฯ เน้นให้พัฒนาขีดความสามารถผลิตหุ่นยนต์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและความมุ่งหมายในการใช้ประโยชน์ได้จริง เกิดผลเป็นรูปธรรม และสามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้

 

โดยให้ประสานความร่วมมือและบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีการดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว ทั้งในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงกลาโหม รวมทั้งการนำความรู้ไปต่อยอดพัฒนาให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในอนาคต ตลอดจนพัฒนาศักยภาพไปสู่การเป็น Start up เพื่อเพิ่มมูลค่า สามารถสร้างอาชีพและรายได้ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย

 

นายอนุชาฯ กล่าวว่า รัฐบาลได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทยหลายแห่ง สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต โดยประเทศไทยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาและศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรมากมาย เช่น สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) สมาคมหุ่นยนต์ไทย (TRS) และสมาคมอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) ที่จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยให้ก้าวหน้าและเติบโตไปในอนาคต ปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพด้านหุ่นยนต์ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต และมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เติบโตมากกว่าในด้านการแข่งขัน หรือเพียงต้นแบบที่พัฒนากันอยู่ในปัจจุบัน

 

โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ด้วยการยกเว้นการเก็บภาษี Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปีแก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นต้น