'ป่ายล่าน' คนจีนรุ่นใหม่ หมดไฟจะไขว่คว้า-ขอแค่อยู่ไปวัน ๆ

หมดหวัง ท้อแท้ เหนื่อยกับการใช้ชีวิต และการทำงานอย่างหนัก ความรู้สึกที่คนรุ่นใหม่ในประเทศจีน กำลังเผชิญ จนทำให้พวกเขาเลือกที่จะหันหลัง ให้กับเป้าหมายในชีวิต..เพราะรู้ว่าทุ่มเทเท่าไร ก็คงประสบความสำเร็จในชีวิตได้ยาก 

ทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา ผลพวงจากโรคระบาด ข้าวของแพงขึ้นจากเงินเฟ้อ ไปจนถึงการแข่งขันเข้าทำงาน ที่ยิ่งดุเดือดขึ้น   

สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ หล่อหลอมให้คนรุ่นใหม่แดนมังกร เริ่มหันหน้ามาดำเนินชีวิตแบบใหม่ อย่าง “ป่ายล่าน” มากขึ้นเรื่อย ๆ การใช้ชีวิตแบบ “ป่ายล่าน” คืออะไร ?และสาเหตุของเรื่องนี้ เกิดจากอะไร ?

ป่ายล่าน (Bǎi làn) แปลตรงตัวได้ว่า “ปล่อยให้เน่า” ซึ่งเป็นการปล่อยวางความสำเร็จ หลีกหนีความกดดันจากสังคม ทำงานง่าย ๆ ไม่คาดหวังรายได้ที่สูง และปล่อยชีวิตทุกอย่าง ให้เป็นไปตามยถากรรม

โดยคำว่าป่ายล่าน มีต้นกำเนิดมาจาก คำสแลง ในการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอล ในประเทศจีน ที่ใช้พูดถึงภาวะการถอดใจจากการไล่ตามคะแนนทีมฝั่งตรงข้ามให้ทัน เมื่อรู้ว่าทีมของตนเองกำลังจะแพ้ แม้ว่าเกมการแข่งขันจะยังไม่จบดังนั้น จึงเป็นการเปรียบเปรยชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่ขอยอมแพ้ในการต่อสู้กับการใช้ชีวิต หมดไฟและแรงทะเยอทะยาน จนบางคนละทิ้งความฝัน และขอเลือกใช้ชีวิตไปวัน ๆ 

หากถามว่า อะไรคือต้นเหตุของป่ายล่าน ในประเทศจีน ? คำตอบของเรื่องนี้ มีที่มาจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งจาก..

- วิวัฒนาการต่อจาก ภาวะหมดใจ “Lying flat” หรือ ถ่าง ผิง (Tang Ping) ในปีที่ผ่านมา กลุ่มคนรุ่นใหม่ชาวจีน ได้ออกมาแสดงจุดยืนในการใช้ชีวิต แบบถ่าง ผิง ที่ปฏิเสธการทำงานที่หนักมากเกินไป และเลือกทำงานเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ตนเอง ได้มีเวลาพักผ่อนรวมถึงไม่คิดที่จะแต่งงานมีลูก ไม่ซื้อบ้านหรือรถยนต์ และปฏิเสธที่จะทำงานพิเศษเพิ่ม 


ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการสะท้อนอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่ ที่ขอปลดตัวเอง ออกจากอุดมการณ์แบบเดิม ๆ จากคนรุ่นก่อน เพราะต่อให้พวกเขาดิ้นรนทำงานหนัก เพื่อไขว่คว้าความสำเร็จมากแค่ไหน แต่ในบริบทของสังคมที่แตกต่าง จากคนรุ่นก่อนเช่นนี้ มันจึงยากที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ แม้พวกเขาจะตั้งใจทำเต็มที่แล้วก็ตาม..

- คนรุ่นใหม่ หางานทำได้ยากขึ้น จากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาของประเทศจีนโดยในเดือน ก.ค. ปีนี้ อัตราการว่างงานของคนจีน อายุ 16-24 ปี อยู่ที่เกือบ 20% ซึ่งถือว่า เป็นตัวเลขที่สูงมาก และยังเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ตัวเลขนี้อยู่ที่ประมาณ 16% สาเหตุก็มาจากตำแหน่งงานที่ถูกบีบให้ลดน้อยลงเพราะสภาพเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวครั้งใหญ่  

ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการจัดการกับโรคระบาดที่เข้มงวดรวมไปถึง ยังมีหลายคน “ถูกปลด” ออกจากงานอย่าง กะทันหันจากการที่รัฐบาลจีนแทรกแซงบริษัทเอกชน อย่างเช่น กรณีของ “บริษัทติวเตอร์” ที่จะถูกสั่งให้กลายเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร หรืออาจถูกห้าม IPO ซึ่งไม่เพียงแต่งานจะหายากเท่านั้น กลุ่มคนรุ่นใหม่ยังต้องเผชิญกับ ภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของและค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นมีเงินเท่าเดิมแต่กลับซื้อของได้น้อยลง


ทั้งหมดจึงกลายเป็นตัวกระตุ้นความสิ้นหวังของคนรุ่นใหม่ ให้ก่อตัวขึ้นแบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้..
อย่างไรก็ตาม แนวคิดแบบป่ายล่าน ได้สร้างความกังวลให้กับนักเศรษฐศาสตร์ และรัฐบาลจีนมิใช่น้อย 
เพราะแนวโน้มดังกล่าว อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของจีน ที่ชะลอตัวอยู่แล้ว ให้ยิ่งแย่ลง รวมถึงยังซ้ำเติม ปัญหาเรื่องประชากรเกิดใหม่ของจีน ที่ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นวิกฤติอยู่แล้วนี่จึงกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายของภาครัฐ ในการเร่งมือแก้ไขเพื่อปลุกพลังคนรุ่นใหม่ ให้กลับมามีความหวังอีกครั้ง..


และจากเรื่องราวทั้งหมดนี้ 
กลายเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงเสียงของคนรุ่นใหม่ กับปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
ซึ่งจริง ๆ แล้วต้องยอมรับว่า คงไม่มีใครที่อยากสิ้นหวัง หรือท้อแท้กับชีวิต ตราบใดที่พวกเขายังมีทางเลือกที่ดีกว่านี้..

References:
-https://www.channelnewsasia.com/.../996-bai-lan-china...
-https://www.scmp.com/.../trending-china/article/3194180
-https://www.cnbc.com/.../china-youth-reject-hustle...
-https://www.washingtonpost.com/.../cef36902-c42f-11eb...
-https://www.insider.com/chinese-people-letting-it-rot...

ที่มา : เพจลงทุนเกิร์ล