Tuesday, 30 April 2024
THESTUDYTIMES

'รัฐบาลญี่ปุ่น' ดีเดย์!! เพิ่มทุนการศึกษาให้นักเรียนต่างชาติ ดึงดูดบุตรธิดาแรงงานที่ตั้งใจจะอยู่ในญี่ปุ่นอย่างถาวร

เมื่อวันที่ (18​ มี.ค.67)​ รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนที่จะขยายทุน​การศึกษา​ของนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างชาติตั้งแต่เดือนเมษายน เพื่อให้โอกาสทางการศึกษาแก่บุตรธิดาของแรงงานต่างชาติในประเทศ​ ที่ตั้งใจจะอยู่ในญี่ปุ่นอย่างถาวร​

กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ร่วมผู้รับทุนเป้าหมายที่พำนักอยู่ในประเทศกับผู้ปกครอง โดยมีเงื่อนไขว่าต้องสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมปลายในญี่ปุ่น และตั้งใจที่จะทำงานและพักอาศัยในญี่ปุ่น หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว

ทุนการศึกษาที่จัดสรรโดย Japan Student Services Organization ปัจจุบันมีให้เฉพาะพลเมืองญี่ปุ่นและชาวต่างชาติที่มีวีซ่าในฐานะผู้อยู่อาศัยถาวรพิเศษ ผู้อยู่อาศัยถาวร หรือผู้อยู่อาศัยระยะยาวที่ตั้งใจจะอยู่ในญี่ปุ่นอย่างถาวร

กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีคาดว่านักเรียนประมาณ 500 ถึง 1,000 คนจะมีสิทธิได้รับทุนการศึกษาใหม่ ซึ่งมาในรูปแบบของเงินช่วยเหลือหรือเงินกู้

สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลขยายการสนับสนุนด้านวิชาการสำหรับเด็กต่างชาติ ในขณะที่ประเทศมองหาแรงงานต่างชาติท่ามกลางจำนวนประชากรที่ลดลง

กลุ่มภาคประชาสังคม รวมถึงเครือข่าย Solidarity Network with Migrants Japan ขององค์กรพัฒนาเอกชน ยังได้เรียกร้องให้มีการขยายทุน​ โดยเห็นว่าลูกๆ ของแรงงานต่างชาติมักจะประสบปัญหาทางการเงิน

โทรุ ทาคาฮาชิ สมาชิกแกนนำของกลุ่มกล่าวว่า เขายินดีกับแผนการของรัฐบาลที่จะขยายทุนการศึกษา แต่การกำหนดให้นักเรียนต้องสำเร็จการศึกษา 12 ปีในญี่ปุ่น มีแนวโน้มว่าจะเป็นเงื่อนไขที่เข้มงวดเกินไป เนื่องจากหมายความว่าเด็กๆ จะต้องอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นก่อนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จึงจะมีสิทธิ

“เราจะให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดว่ารัฐบาลจะเคลื่อนไหวเพื่อผ่อนคลายกฎเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่” ทาคาฮาชิ กล่าว

ตามข้อมูลของกระทรวงแรงงาน​ จำนวนแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือนตุลาคมปีที่แล้วพุ่งสูงถึง 2 ล้านคนเป็นครั้งแรก ทำลายสถิติแรงงานต่างชาติ 2,048,675 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 จากปีก่อนหน้า

สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นที่เปิดเผยการเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างชาติ ผู้ที่เข้าประเทศญี่ปุ่นด้วย ‘วีซ่าติดตามครอบครัว’ มีจำนวน 244,890 คน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จากปีก่อนหน้า 

‘Olympic ipst’ ประกาศผลการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทย ‘8 รายชื่อ’ เตรียมไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก ระดับทวีปเอเชีย ประจำปี 2567

(20 มี.ค. 67) จากเพจเฟซบุ๊ก Olympic ipst ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

ประกาศคณะกรรมการอำนวยการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2566-2567

เรื่อง ผลการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ประจำปี พ.ศ. 2567

ตามที่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และคณะอนุกรรมการ
ดำเนินการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ได้ดำเนินการจัดอบรมและสอบคัดเลือกภาคปฏิบัติการ วิชาฟิสิกส์ สำหรับการอบรมคัดเลือก ครั้งที่ 1 วิชาฟิสิกส์ ตั้งแต่วันที่ 8 - 23 มกราคม 2567 นั้น ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ประจำปี พ.ศ. 2567 ตั้งแต่วันที่ 3 - 10 มิถุนายน 2567 ณ เมืองกัมปาร์ รัฐเปรัก สหพันธรัฐมาเลเซีย จำนวน 8 คน มีรายชื่อดังต่อไปนี้

1. นายทัดภู อุดมเกียรติ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จ.กรุงเทพฯ
2. นางสาวธีร์จุฑา สุขแสง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จ.กรุงเทพฯ
3. นายภัทรภณ ธนพิทักษ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จ.กรุงเทพฯ
4. นายกันตพิชญ์ เพิ่มวัฒนชัย โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา จ.กรุงเทพฯ
5. นายปัณณทัต รัตนะมงคลกุล โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ จ.ฉะเชิงเทรา
6. นายธนัสร วรรณสม โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จ.เชียงราย
6. นายภพสุข สุเมธเชิงปรัชญา โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง
8. นายเวโรจน์ บุญราช โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง

ทั้งนี้ขอให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยฯ ปฏิบัติตามรายละเอียดในเอกสารแนบท้ายประกาศ

ประกาศ ณ วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2567

สิ้น ‘ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ’ หนึ่งในผู้ก่อตั้งระบบทีแคส เกิดอาการหัวใจหยุดเต้น ระหว่างเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น

(20 มี.ค.67) รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรับเข้าศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (ทีแคส) เปิดเผยว่า ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ หรือ อ.ก๊อง อดีตผู้จัดการระบบทีแคส ได้เสียชีวิตลงเมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. ในวันนี้ ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ดร.พีระพงศ์เสียชีวิตระหว่างเดินทางไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเพิ่งเที่ยววันแรกก็เกิดหัวใจหยุดเต้น ระหว่างที่ ดร.พีระพงศ์หัวใจหยุดเต้นนั้น ทางไกด์และบริษัททัวร์ที่ทำการ CPR ดร.พีระพงศ์ก็ฟื้นขึ้นมา แต่ผ่านไป 1 ชั่วโมง ก็หัวใจหยุดเต้นอีกครั้งและเสียชีวิตไป

รศ.ดร.ชาลี กล่าวต่อว่า ดร.พีระพงศ์มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหัวใจอยู่แล้ว และยังมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ มีการหยุดหายใจระหว่างนอนบ้าง ที่ผ่านมา ดร.พีระพงศ์ก็รักษาตัวมาตลอด คาดว่าอาการนั้นอาจจะกำเริบจึงทำให้เสียชีวิต ขณะนี้ร่างของ ดร.พีระพงศ์ยังอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น อยู่ระหว่างประสานสถานทูตเพื่อนำร่างกลับประเทศไทยในเร็วๆ นี้

“ตอนนี้ทุกคนกำลังช็อกมาก ถือเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญ เพราะ ดร.พีระพงศ์เป็นหนึ่งในทีมที่ก่อตั้งระบบทีแคสด้วยกัน ช่วงปี 2561 ที่ก่อตั้งระบบทีแคสปีแรก ดร.พีระพงศ์เป็นผู้ดูแลระบบไอทีและระบบการรับสมัครต่างๆ พร้อมกับดูแลการบริหารจัดการสิทธิด้วย ต่อมาในปี 2562-2564 ดร.พีระพงศ์ขึ้นมาเป็นผู้จัดการระบบทีแคส จนผมมาเป็นผู้จัดการระบบทีแคสต่อในปี 2565 จนถึงปัจจุบัน

ในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เสียใจที่ได้ยินข่าวนี้ เพราะถือเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญ ไม่น่าเชื่อว่า ดร.พีระพงศ์จะจากไปเร็วขนาดนี้ และทุกวันนี้ ดร.พีระพงศ์ยังคงเป็นวิทยากรใน ทปอ. ให้ความรู้เรื่องการพัฒนาคุณภาพหลักสูตร ทั้งยังเป็นคณะกรรมการที่ดูแลด้านวิชาการของ ทปอ. ทำงานประสานกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ในเรื่องกระบวนการอนุมัติหลักสูตรการประกันคุณภาพหลักสูตรอยู่ต่อเนื่อง” รศ.ดร.ชาลีกล่าว

‘รปภ. ม.รามฯ’ จบป.ตรี ภาควิชาปรัชญา สาขาภาษาจีน เผย!! “ไม่มีเคล็ดลับอะไรเลย นอกจากต้องมีวินัย”

(20 มี.ค. 67) นับเป็นเรื่องราวดี ๆ ที่เมื่อได้เห็นก็ต้องชื่นชมและร่วมยินดีด้วยทันที เรื่องราวของ นายอนุชา จุดาบุตร หรือที่ชาวคณะมนุษยฯ ม.รามคำแหงเรียกกันว่า ‘พี่อนุชา’ ถือเป็นตัวอย่างของความมุมานะ มั่นเพียร และมีวินัยจนประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตั้งใจไว้

โดยเพจ ‘RU Chinese studies’ ได้แชร์เรื่องราวของ ‘พี่อนุชา’ ไว้ว่า… 

“พี่อนุชา หรือนายอนุชา จุดาบุตร เป็น รปภ.ประจำอยู่อาคาร 2 คณะมนุษยศาสตร์มาหลายปีค่ะ แอดมินเห็นมาตั้งแต่แอดยังวิ่งเข้าวิ่งออกเป็นนักศึกษาเอกจีนของรามคำแหงอยู่เลย…

“ปีนี้ พี่อนุชา กลายเป็นหนึ่งในบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์นะคะ สาขาวิชาภาษาจีน ขอแสดงความยินดีกับพี่อนุชามา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ”

นอกจากนี้ยังระบุต่ออีกว่า “พี่อนุชาเริ่มเรียนมาตั้งแต่เทอม 2/60 และจบในเทอม 1/64 ที่เรียนจนจบได้ตามระยะเวลานี้ พี่อนุชาบอกว่า “ไม่มีเคล็ดลับอะไรเลยครับ นอกจาก ‘ต้องมีวินัย’ ครับผม” 

“ดังนั้น จึงกลายเป็นอีกหนึ่งแบบอย่างที่ควรเอาอย่างนะคะ เอาอย่างในเรื่องความมุมานะ วิริยะ พยายามและตั้งใจอย่างต่อเนื่อง 

“ถึงแม้พี่อนุชาจะรูปร่างสูงใหญ่จนน้อง ๆ นักศึกษาเห็นแล้วออกจะกลัว ๆ เกร็ง ๆ อย่างนี้ แต่ตัวจริงใจดีนะคะ ถึงช่วงสอบทีไร วิชาภาษาจีนที่ต้องมีการสอบพูด และมักจะสอบกันที่บนตึกของคณะมนุษยศาสตร์ แต่พออาจารย์บอกพี่อนุชาไว้ว่าวันนั้นวันนี้จะมีนักศึกษามาสอบปฏิบัตินะ พี่อนุชาก็รับทราบและคอยดูแลนักศึกษาให้อย่างดี

#รปภตัวใหญ่หัวใจอ่อนโยนจ้า 👏👏👏

โครงการขอบคุณสื่อมวลชน มทร.รัตนโกสินทร์ 2567

ในวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2567 มทร.รัตนโกสินทร์ โดย รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดี มอบหมายให้รศ.ดร.อาคีรา ราชเวียง รองอธิการบดี กล่าวต้อนรับ และเปิดโครงการขอบคุณสื่อมวลชน มทร.รัตนโกสินทร์ 2567 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้การสนับสนุนข่าวสารของทางมหาวิทยาลัย ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอันเป็นการประชาสัมพันธ์เชิงรุก และเป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นที่รู้จักแก่นักศึกษาและบุคคลทั่วไปให้เข้าใจถึงบทบาทต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นอันดี ต่อมหาวิทยาลัย สำหรับในช่วงบ่ายได้พาสื่อมวลชนเข้าศึกษาดูงานด้านการประชาสัมพันธ์ และด้านการบริการวิชาการ ณ มทร.รัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง โดยมี ผศ.สุรัฐ บุญทรง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง ให้การต้อนรับ

'มหิดลวิทยานุสรณ์' เรียกครั้งที่ 3 อันดับสำรอง ที่ 97 ถึง 119

เมื่อไม่นานมานี้ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้เผยแพร่ประกาศเรื่อง การเรียกนักเรียนที่ผ่านการสอบคัดเลือกเป็นตัวสำรองเข้าเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ครั้งที่ 4 ระบุข้อความว่า…

ตามประกาศโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เรื่อง ผลการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเป็นนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 และได้เรียกตัวสำรองลำดับที่ 35 - 96 ปรากฏว่ามีนักเรียนยืนยันสิทธิ์การมอบตัว รวมทั้งสิ้นจำนวน 217 คน ในการนี้จึงขอให้นักเรียนที่ผ่านการสอบคัดเลือกเป็นตัวสำรองในลำดับที่ 97 - 119 เข้าสู่ระบบของโรงเรียน ผ่านเว็บไซต์ https://apply.mwit.ac.th /oginphp เพื่อยืนยันสิทธิ์การมอบตัว ภายในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567 เวลา 08.30 น. หากนักเรียนไม่ยืนยันสิทธิ์การมอบตัวตามวันและเวลาที่โรงเรียนกำหนดจะถือว่านักเรียนสละสิทธิ์การเข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ขอให้นักเรียนที่ผ่านการสอบคัดเลือกเป็นตัวสำรองในลำดับที่ 97 - 119 ดำเนินการดังนี้

1. ยืนยันสิทธิ์การมอบตัวในระบบรับสมัคร พร้อมแนบแบบยืนยันสิทธิ์ และดำเนินการตามขั้นตอนที่ได้ระบุไว้ ภายในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567 เวลา 08.30 น.

2. ศึกษารายละเอียดและกรอกข้อมูลในเอกสารประกอบการมอบตัวให้ครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วนำส่งไฟล์เอกสารผ่านทางลิงก์ https:/bit.y/49N3e01 ภายในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567 เวลา 12.00 น.

3. นำเอกสารประกอบการมอบตัวต้นฉบับมายื่น ในวันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2567 เวลา 10.00-12.00 น. ณ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ทั้งนี้นักเรียนต้องแนบใบรับรองแพทย์และใบรายงานผลการเอกซเรย์ปอดจากโรงพยาบาลที่แสดงว่านักเรียนเป็นผู้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในหอพักได้

‘สสวท.’ ประกาศรายชื่อนักเรียนได้รับ ‘ทุน พสวท.’ จำนวน 40 คน ยืนยันสิทธิ์ภายใน 19 เมษายน 67

เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่องผลการคัดเลือกผู้ได้รับทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุน พสวท.) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประจำปีการศึกษา 2567 ระบุข้อความว่า…

ตามที่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้ารับทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุน พสวท. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประจำปีการศึกษา 2567 รอบที่ 2 โดยการสอบวัดทักษะปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และสอบความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 และสอบสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 นั้น

บัดนี้ สสวท. ได้ประมวลผลการสอบเรียบร้อยแล้ว จึงประกาศรายชื่อนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกให้มีสิทธิ์รับทุน พสวท. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประจำปีการศึกษา 2567 จำนวน 40 คน และนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกฯ ลำดับสำรอง จำนวน 5 คน เรียงตามลำดับคะแนน รายละเอียดดังเอกสารแนบท้ายประกาศ 1

นักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกให้มีสิทธิ์รับทุน พสวท. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประจำปีการศึกษา 2567 จำนวน 40 คน ต้องแจ้งรายชื่อโรงเรียนที่จะเข้ารับทุน พสวท. และยืนยันสิทธิ์รับทุน พสวท. ตามแบบฟอร์มในเอกสารแนบท้ายประกาศ 2 ภายในวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2567 เวลา 18.00 น. ซึ่งโรงเรียนแต่ละแห่ง สามารถรับนักเรียนทุน พสวท. ได้ไม่เกิน 12 คนเท่านั้น ในกรณีที่โรงเรียนนั้นมีนักเรียนประสงค์จะรับทุนเกิน 12 คน นักเรียนที่อยู่ในลำดับที่ 13 เป็นต้นไป จะต้องเลือกศึกษาในโรงเรียนอื่นที่มีนักเรียนทุน พสวท. ยังไม่เต็มจำนวน 12 คน ทั้งนี้ ไม่สามารถรับทุนหรือเข้าร่วมโครงการอื่นซ้ำซ้อนกับทุน พสวท. โดยนักเรียนที่ประสงค์ศึกษาต่อในโรงเรียนที่ไม่ใช่ศูนย์โรงเรียน พสวท. 10 แห่ง จะต้องแนบเอกสารใบรับรองลงลายมือชื่อผู้อำนวยการโรงเรียนที่ยืนยันการจัดหลักสูตรและกิจกรรมตามหลักสูตรโปรแกรมเสริม พสวท. ตามแบบฟอร์มในเอกสารแนบท้ายประกาศ 3

กรณีที่นักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกให้มีสิทธิ์รับทุน พสวท. แจ้งความประสงค์ขอสละสิทธิ์รับทุน หรือไม่ยืนยันสิทธิ์ตามวันและเวลาที่กำหนด สสวท. จะเรียกตัวนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกลำดับสำรองตามลำดับจนครบจำนวนทุนต่อไป โดย สสวท. จะประกาศรายชื่อนักเรียนทุน พสวท. ระดับมัธยมศึกษา ตอนปลาย ประจำปีการศึกษา 2567 และโรงเรียนที่จะเข้ารับทุน พสวท. ภายในวันอังคารที่ 30 เมษายน 2567

‘เตรียมอุดมฯ’ ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือก สำหรับบัญชี ‘รายชื่อสำรอง’ เพื่อเข้าศึกษาระดับชั้น ม.4 หลังมีที่ว่างจากการสละสิทธิ์ จำนวน 298 ราย

(28 มี.ค.67) จากเพจเฟซบุ๊ก ‘ผู้ปกครองเด็กเตรียม’ โพสต์ข้อความประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2567 โดยระบุว่า…

ตามประกาศโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เรื่องการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2567 และประกาศโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เรื่องประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก ประกาศ ณ วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2567 ทั้งนี้ จากการรายงานตัวและมอบตัวนักเรียน เมื่อวันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567 ปรากฏว่ามีที่ว่างจากการสละสิทธิ์ของนักเรียน จำนวน 298 คน จากการประชุมคณะกรรมการการรับนักเรียนระดับโรงเรียน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในการประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2567 มีมติเห็นชอบให้เรียกนักเรียนที่สอบได้เพิ่มเติมจากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทสอบคัดเลือกทั่วไป

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จึงประกาศเรียกนักเรียนที่สอบได้เรียงตามลำดับสำรอง ประเภทสอบคัดเลือกทั่วไป เพื่อรายงานตัวและมอบตัว เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตามแผนการเรียน จำนวน 298 ราย ดังนี้

1. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 1 แผนการเรียนวิทย์ - คณิต
https://www.triamudom.ac.th/.../2567/670327_1-VK_v1.pdf

2. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 1 แผนการเรียนภาษา - คณิต
https://www.triamudom.ac.th/.../2567/670327_2-PK_v1.pdf

3. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 1 แผนการเรียนภาษา - ฝรั่งเศส
https://www.triamudom.ac.th/.../2567/670327_3-PF_v1.pdf

4. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 1 แผนการเรียนภาษา - เยอรมัน
https://www.triamudom.ac.th/.../2567/670327_4-PG_v1.pdf

5. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 1 แผนการเรียนภาษา - ญี่ปุ่น
https://www.triamudom.ac.th/.../2567/670327_5-PJ_v1.pdf

6. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 1 แผนการเรียนภาษา - จีน
https://www.triamudom.ac.th/.../2567/670327_6-PC_v1.pdf

7. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 1 แผนการเรียนภาษา - สเปน
https://www.triamudom.ac.th/.../2567/670327_7-PS_v1.pdf

8. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 1 แผนการเรียนภาษา - เกาหลี
https://www.triamudom.ac.th/.../2567/670327_8-PKo_v1.pdf

ทั้งนี้ ให้นักเรียนที่สอบผ่านการคัดเลือกปฏิบัติ ดังนี้

1. ผู้ปกครองนำนักเรียนมารายงานตัวและมอบตัว ในวันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2567 ตามรอบเวลา ณ ห้องเกียรติยศ 111 ตึก 2 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หากไม่รายงานตัวและมอบตัวในวันเวลาดังกล่าว ถือว่าสละสิทธิ์

2. ผู้ปกครองจะต้องนำนักเรียน เข้าร่วมโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ตามประกาศทางเว็บไซต์ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หากนักเรียนไม่ปฏิบัติตามที่โรงเรียนกำหนด จะถือว่าสละสิทธิ์ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมาตรการของโรงเรียน และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร ที่เว็บไซต์ www.triamudomacth และเพจงานประชาสัมพันธ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

เปิด 10 ชุดนักเรียนสวยที่สุดในโลก จะมีประเทศไหนบ้าง มาดูกันเลย!! ✨✨

1. เกาหลีใต้ = ผู้หญิงมักจะสวมกระโปรงกับเสื้อเชิ้ต ส่วนผู้ชายจะเป็นกางเกงขายาว เสื้อเชิ้ต ผูกเน็คไทหูกระต่าย ให้ดูลูกคุณ ซึ่งโดยรวมการออกแบบนั้นจะพิถีพิถันและสะดุดตามีสไตล์อยู่เสมอ

2. ไทย = การออกแบบไม่ยุ่งยากจุกจิก กับเนื้อผ้าและสีผ้า มีเพียงแค่เชิ้ตสีขาวกับกระโปรง ก็สร้างความประทับใจได้ไม่ต่างกัน จนเป็นกระแสฮิตที่จีนและเวียดนาม

3. ญี่ปุ่น = การสวมเครื่องแบบนักเรียน เป็นข้อบังคับใน ม.ต้น และ ม.ปลายส่วนใหญ่
โดยผู้ชายจะสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว แจ็คเก็ตสีเข้ม ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อสีขาว แจ็กเก็ตสีเข้ม บวกกับกระโปรงที่มีเน็คไท หรือก็คือชุดทหารเรือ

4. เวียดนาม = ชุดนักเรียนหญิง จะพัฒนามาจากชุดอ่าวหญ่าย ที่เป็นชุดเเต่งกายประจําชาติ ใส่แล้วจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

5. ภูฏาน = จะสวมเครื่องแบบตามชุดประจําชาติของประเทศ

6. อังกฤษ = ปัจจุบันเครื่องแบบนักเรียนของอังกฤษส่วนใหญ่ จะมีสีหลักเป็นสีเขียวเข้ม สื่อถึงความสงบและเอื้อเฟื้อ

7. ฮ่องกง = ฮ่องกงได้สร้างรูปแบบเพิ่มเติม โดยใช้สีฟ้าหรือสีขาวเป็นสีพื้นฐาน โดยมีการผสมเฉดสีการตัดเย็บและการประดับตกแต่งที่แตกต่างกันตามแต่ละโรงเรียน

8. จีน = โรงเรียนส่วนใหญ่ยังคงรักษาเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมเอาไว้ โดยเด็กประถมจะแต่งเครื่องแบบคล้ายทหาร ใส่เสื้อสีขาวกับผ้าพันคอสีแดง ส่วนนักเรียนหญิงระดับมัธยมปลาย อนุญาตให้สวมชุดจีนโบราณได้ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเสื้อเชิ้ตที่มีสไตล์จากชุดกี่เพ้า พร้อมสวมคู่กับกระโปรง

9. มาเลเซีย = เด็กผู้หญิงจะสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว สวมทับด้วยชุดกระโปรงสีฟ้าที่เป็นเอกลักษณ์ เรียกได้ว่าเป็นชุดนักเรียนที่กลายเป็นแฟชันสําหรับนักท่องเที่ยว ฮิตไม่แพ้ชุดนักเรียนไทยเลย ส่วนเด็กผู้ชายมักสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวกับกางเกงสีขาวหรือสีอื่น ๆ

10. ศรีลังกา = เครื่องแบบส่วนใหญ่จะเป็นสีขาว มีเพียงสีน้ำเงินเท่านั้นที่จะมิกซ์เข้ากัน และเด็กผู้หญิงทุกวัยจะสวมเสื้อผ้าที่มีโทนสีขาวเป็นหลัก ให้ดูเรียบง่าย และสะดุดตา

รู้จัก 'น้องไตตั้น' เด็กเก่งผู้สอบติดเตรียมอุดมฯ ด้วยคะแนนลำดับ 2 ของประเทศ มุ่งมั่นขอสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง (ทุนคิง) หวังนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาชาติ

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ 'น้องไตตั้น' เด็กชายปริญ มิตรารัตน์ เด็กเก่งจากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน ที่สามารถสอบติด ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ด้วยคะแนนเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ

โดยวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับน้องไตตั้น อีกหนึ่งเด็กไทยที่ทุกคำตอบมีความคิดไกลเกินวัยเด็ก 14 ปี ผ่านบทสัมภาษณ์นี้กันให้มากขึ้น...

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทุ่มเทของน้องไตตั้น เด็กชายปริญ มิตรารัตน์ ที่มีความขยันศึกษาหมั่นเพียร ทำให้เขาสามารถสอบติด ม.4 ถึง 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์, โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 

แต่สุดท้ายน้องไตตั้น ตัดสินใจเลือกเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เนื่องจาก ม.1-ม.3 เรียนที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ข้าง ๆ กัน สถานที่ใกล้เคียงกันทำให้ไม่ต้องปรับตัวเยอะ และการเลือกเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็เป็นการเปิดโอกาสในการสอบทุนเล่าเรียนหลวง (King’s Scholarship) หรือ ‘ทุนคิง’ ซึ่งเป็นทุนให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ศึกษาในไทยมีโอกาสไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในต่างประเทศได้

น้องไตตั้น เล่าให้ฟังว่า ตอนทราบผลสอบดีใจมาก คุณพ่อคุณแม่ก็ดีใจมากเช่นกัน ส่วนเหตุผลที่ทำให้สามารถสอบได้คะแนนสูงขนาดนี้? น้องไตตั้น บอกว่า "ผมเตรียมสอบทุกวิชามาเป็นอย่างดี ซึ่งวิชาที่ผมน่าจะทำได้ดี คือ คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่บ้านปลูกฝังให้เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล"

เมื่อถามว่าพลาดตรงไหนถึงทำให้ไม่ได้ที่หนึ่ง? น้องไตตั้นตอบว่า "ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ผมทำเต็มที่แล้ว ทุกคนที่มาสอบแข่งขันก็มีความเก่งเหมือนกันไม่ใช่ผมคนเดียว เก่งกันทุกคน ขึ้นอยู่กับจังหวะในวันสอบว่าเราพร้อมมากน้อยแค่ไหน"

เมื่อถามถึงแนวทางในการเตรียมตัวสอบและการใช้ชีวิต? น้องไตตั้น กล่าวว่า "ผมเรียนพิเศษมาเรื่อย ๆ และเริ่มจริงจังตอน ม.2 ซึ่งผมว่าการเตรียมตัวสอบไม่ได้มีวิธีเดียว บางคนชอบเรียนพิเศษก็สามารถเรียนได้ หรือบางคนชอบอ่านหนังสือแล้วฝึกทำโจทย์เองก็ได้ครับ แต่โดยปกติเมื่อเรียนพิเศษเสร็จ ผมก็จะกลับมาทบทวนบทเรียนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งส่วนตัวชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ส่วน Life Style การใช้ชีวิต ผมก็ไม่ได้อ่านหนังสือตลอดเวลา แต่ยังแบ่งเวลาเล่นกีฬา โดยเฉพาะบาสเกตบอล และผ่อนคลายด้วยการดูหนังฟังเพลง และเล่นเกมบ้าง"

เมื่อถามถึงความฝัน? น้องไตตั้น เผยว่า "อยากทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ วิศวกรคอมพิวเตอร์ เพราะชอบศึกษาด้าน Software ชอบเขียนโค้ด และตอนนี้ก็กำลังเข้าค่ายอบรมของ สอวน. (มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา) ค่ายที่ 2 ซึ่งการเข้าค่าย สอวน. เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้สนใจด้านคอมพิวเตอร์มากขึ้น"

น้องไตตั้น เสริมอีกว่า ส่วนอนาคตอันใกล้นี้ ตั้งเป้าหมายว่าอยากเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อต่อยอดทางการศึกษา และสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง (King’s Scholarship) เพื่อไปศึกษาต่อที่ Stanford University มหาวิทยาลัยระดับโลกที่มีชื่อเสียงในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านวิศวกรรม วิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยเมื่อเรียนจบตั้งใจนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาประเทศ"

เมื่อถามว่าอยากฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเรียนเก่ง จะต้องทำอย่างไรบ้าง? น้องไตตั้น เผยว่า "เริ่มแรกต้องตั้งเป้าหมายว่าอยากได้อะไร อยากเรียนที่ไหน อยากได้เกรดเท่าไหร่ และต้องเชื่อมั่นว่าทำได้ และเลือกเส้นทางดูว่า จะทำให้เดินไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างไร"

ท้ายสุด น้องไตตั้น ได้กล่าวขอบคุณ คุณพ่อคุณแม่ ที่ดูแลใส่ใจมาโดยตลอด และยังให้ความรักและกำลังใจในเรื่องการเรียน พร้อมทั้งบอกว่า ถ้าไม่มีท่านทั้งสอง ตนก็คงไม่มีวันนี้...


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top