Thursday, 9 May 2024
การศึกษา

‘รัสเซีย’ บรรจุ ‘ภาษาจีน’ ในหลักสูตรระดับมหาวิทยาลัย อ้าง!! หวังเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์

เมื่อไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์วอชิงตันเอ็กแซมมิเนอร์ของสหรัฐฯ รายงานว่า อันเดร เฟอร์เซนโก (Andrei Fursenko) ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเครมลินซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีการศึกษาและเทคโนโลยีรัสเซียกล่าวมีใจความว่า

“จะไม่มีความรุนแรงพวกเราจะหว่านล้อมแต่ในเวลาเดียวกันพวกเราจะมุ่งหน้าสู่แนวทางนี้หากว่าพวกเราต้องการที่จะสามารถแข่งขันได้” เขากล่าวในรายงานของสื่อ RIA Novosti ของรัสเซีย

ทั้งนี้ สื่อยูเครนสกายา ปราฟดา (Ukrainska Pravda) ที่รายงานเช่นเดียวกันระบุว่า ได้มีการบรรจุภาษาแมนดารินเข้าสอนในหลักสูตรตามมหาวิทยาลัยภายในรัสเซีย

เฟอร์เซนโก ชี้ว่า หนทางนี้จะช่วยให้บรรดานักศึกษาสามารถเข้าสู่ความเข้าใจทางสาขาวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยชี้ว่า 30% ของงานวิจัยวิทยาศาสตร์โลกนั้นถูกตีพิมพ์เป็นภาษาจีน

วอชิงตันเอ็กแซมมิเนอร์ชี้ว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยรัสเซียชื่อดังอย่างน้อย 1 แห่งออกมาต่อต้านคำสั่งโดยชี้ว่า “แปลกประหลาดและส่งผลร้าย”

ซึ่งเฟอร์เซนโกยืนยันว่า มันมีความสำคัญจากการที่จีนมีชื่อเสียงโด่งดังทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง มองว่า นี่เป็นหนทางที่จะทำให้ 2 ชาติสหายมีความใกล้ชิดผูกพันมากขึ้น

เฟอร์เซนโกกล่าวในการประชุมฟอรัมการศึกษาเยาวชนรัสเซีย

“พวกเราต้องการที่จะอยู่ในเทรนด์วิทยาศาสตร์กันอยู่หรือไม่? มุ่งไปข้างหน้ากันเถิด” เขากล่าว และเสริมต่อว่า “ปัญหาคือแน่นอนที่สุดมันมีความจำเป็นที่ต้องทำให้มั่นใจว่า ภาษารัสเซียยังคงอยู่ท่ามกลางไม่กี่ภาษาของด้านวิทยาศาสตร์”

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ ดร.เซอร์เก โพโพป (Dr.Sergei Popov) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อฝรั่งเศส Le Monde เมื่อต้นปีว่า สำหรับการศึกษาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน มีภาษาเดียวเท่านั้นคือภาษาอังกฤษ และจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงในอนาคตระยะใกล้

“ราว 100% ของสิ่งที่ผมได้อ่านและ 90% ของสิ่งที่ผมได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งภาษาจีนที่เป็นคำถามนั้นอาจขึ้นมา แต่พบน้อยกว่าในแวดวงวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี”

สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า บรรดานักศึกษารัสเซียประจำสถาบันการศึกษาฟิสิกส์และเทคโนโลยีแห่งมอสโก MFTI (The Moscow Institute of Physics) ได้ออกมาโต้ว่า ความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์รัสเซียและนักวิทยาศาสตร์จีนไม่ถึงระดับที่จะทำให้การศึกษาภาษาจีนนั้นมีความสำคัญ

ยูเครนสกายา ปราฟดา ชี้ว่า มีการประท้วงเกิดขึ้นในหมู่นักศึกษาเมื่อมีนาคมต้นปี หลังจากทางสถาบันการศึกษาได้สั่งถอดวิชาภาษาต่างประเทศทั้งสเปน เยอรมัน และฝรั่งเศสออกจากหลักสูตร และใส่วิชาภาษาแมนดารินในหลักสูตรสำหรับภาคการศึกษา 2023-24 แทนด้วยเหตุผลด้านค่าใช้จ่าย

และเมื่อมีนาคมต้นปีเช่นเดียวกัน ธนาคารแห่งรัสเซีย (Bank of Russia) กำหนดให้พนักงานของตัวเองต้องเรียนภาษาแมนดาริน โดยอ้างว่าเพื่อการติดต่อทางธุรกิจกับเพื่อนร่วมงานจากจีน

โดยหนังสือพิมพ์มอสโกไทม์สได้รายงานเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ว่า เป็นผลมาจากการเผชิญหน้าอย่างตึงเครียดกับตะวันตกหลังเครมลินเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เครมลินได้หันไปมุ่งสู่เอเชียแทน ความต้องการเรียนภาษาแมนดารินเพิ่มขึ้นจากการที่รัสเซียได้เพิ่มการพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อจีน

หนังสือพิมพ์มอสโกแสดงภาพน่ารักของบรรดาสาว ๆ รัสเซียแต่งกายในชุดจีนโบราณสำหรับพิธีน้ำชาอย่างคึกคัก รวมถึงการศึกษาพู่กันจีน

ในขณะเดียวกัน จำนวนนักศึกษาระดับไฮสกูลรัสเซียได้เลือกภาษาจีนเป็นภาษาต่างประเทศในการสอบไล่ปลายปีเพิ่มขึ้นภายใน 1 ปี มาอยู่ที่ 17,000 คน ถึงแม้ว่าภาษาอังกฤษจะยังคงเป็นภาษาต่างประเทศที่เลือกเป็นอันดับ 1 สำหรับเวลานี้

มีนักเรียนรัสเซียตั้งความหวังจะไปศึกษาต่อในจีนหลังมีความหวังน้อยลงในการเข้าสู่สถาบันการศึกษาโลกตะวันตก และมีอีกบางส่วนมองหาลู่ทางที่จะเดินทางไปทำงานในจีนจากเหตุค่าตอบแทนสูงสำหรับชาวยุโรป

‘สาวกิมจิ’ ชี้!! ชีวิต นร.เกาหลีใต้หดหู่ ต้องเรียน ‘เช้าจรดดึก’ เทียบ นร.ไทย ‘ดีกว่า’ เลิกเรียนเวลาปกติ แถมมีชีวิตอิสระ

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีวิดีโอที่เป็นไวรัลอยู่ในโลกออนไลน์ เป็นวิดีโอของหญิงสาวชาวเกาหลีใต้ที่ออกมาเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนในเกาหลีใต้ และเน้นย้ำว่าชีวิตนักเรียนเกาหลีใต้น่าสงสาร แตกต่างจากนักเรียนไทยที่ดีและมีอิสระมากกว่า…

หญิงสาวชาวเกาหลีใต้เจ้าของวิดีโอมีชื่อว่า ‘ริซชี่’ ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมาแล้ว 15 ปี โดยเธอได้ระบุในวิดีโอว่า เรื่องที่ไทยดีกว่าเกาหลีใต้ มีหลายเรื่องมาก ๆ หนึ่งในนั้นคือเรื่องชีวิตประจำวันของนักเรียน โดยที่เกาหลีใต้จะมีตารางเรียนให้นักเรียน ซึ่งเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม ใน 1 วันเรียนทั้งหมด 7 วิชา และต้องกินข้าวกลางวันและข้าวเย็นที่โรงเรียน

เธอยังระบุอีกว่า วิชาสุดท้ายเรียนจบตั้งแต่ช่วงห้าโมงเย็นแล้ว แต่ทางโรงเรียนบังคับนักเรียนให้อ่านหนังสือต่อจนถึงสี่ทุ่ม หลังจากอ่านหนังสือเสร็จก็ยังไม่ได้กลับบ้าน เพราะต้องไปเรียนพิเศษต่อ โดยจะมีรถบัสเรียนพิเศษมารอรับที่โรงเรียนเลย และเรียนพิเศษจนถึงเที่ยงคืน สำหรับการเรียนพิเศษ ต้องไปทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้หยุด ทำให้เด็กนักเรียนเจอคุณครูมากกว่าพ่อแม่เสียอีก

สาวเกาหลีใต้รายนี้ยังระบุอีกว่า จริง ๆ ก็เรียนไหว ไม่ได้แย่ขนาดนั้น เพราะตอนที่เรียนมีเพื่อนอยู่ด้วยทุกคน เธอยังบอกอีกว่าสาเหตุที่ต้องเรียนโหดขนาดนี้ เพราะว่าการแข่งเกาหลีสูงมาก ๆ เพื่อให้ได้งานดี ๆ ก็ต้องเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ให้ได้ก่อน ซึ่งแตกต่างจากฝั่งตะวันตกที่สอนว่าความสามารถของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต่อให้เรียนไม่เก่งก็ยังสามารถมีความสุขได้ แต่สำหรับที่เกาหลีใต้นั้นมีทรัพยากรไม่มากพอ ทำให้โรงเรียนและผู้ปกครองพยายามสอนนักเรียน ต้องเรียนให้เก่ง เพื่อหางานดี ๆ จะได้มีชีวิตที่ดีในอนาคต 

ริซชี่ระบุทิ้งท้ายว่า ตัวเธอเองไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเกาหลี และหวังว่าในอนาคตอยากเห็นนักเรียนที่เกาหลีใต้มีชีวิตที่ดี และสามารถเลิกเรียนได้ตามเวลาปกติเหมือนเด็กนักเรียนไทย 

'รศ.ดร.ดนุวัศ' แนะ 5 นโยบายด้านอุดมศึกษาในโลกยุคดิจิทัล ยกระดับ 'ระบบการศึกษา' ครบมิติ เพิ่มพูนศักยภาพเด็กยุคใหม่

(15 ก.ย.66) รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษา อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ได้โพสต์ข้อเสนอแนะนโยบายต่อภาครัฐ ด้านอุดมศึกษาในโลกยุคดิจิทัล ไว้ดังนี้...


📌 1. ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล


จัดสรรทรัพยากรเพื่อให้มหาวิทยาลัยมีโครงสร้างดิจิทัลที่แข็งแกร่งซึ่งรวมถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และระบบการจัดการข้อมูลที่ปลอดภัยเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ และการวิจัยออนไลน์


📌 2. มีนโยบายการเรียนรู้ออนไลน์และการศึกษาแบบผสมผสาน (Hybrid)


พัฒนาแนวปฏิบัติและการสนับสนุนสำหรับการเรียนรู้ออนไลน์และการศึกษาผสมผสาน รวมถึงการฝึกอบรมคณาจารย์ในด้านการศึกษาออนไลน์และการให้ความเข้าถึงสำหรับนักเรียนทุกคน


📌 3. สร้างความเป็นส่วนตัวและความมั่งคงปลอดภัยของข้อมูล


ใช้นโยบายความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลที่เข้มงวดเพื่อปกป้องข้อมูลของนักเรียน และสถาบันในสภาพแวดล้อมดิจิทัล โดยปฏิบัติตามกฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


📌 4. พัฒนาความรู้และทักษะด้านดิจิทัลสำหรับอนาคต


สนับสนุนนโยบายในการเสริมทักษะด้านดิจิทัลให้แก่นักเรียนและคณาจารย์ โดยให้มีโปรแกรมการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความสามารถด้านดิจิทัลที่สำคัญสำหรับอนาคต


📌 5. สร้างทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด
(Open Educational Resources)


ส่งเสริมการใช้และสร้างทรัพยากรการศึกษาเปิดเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการศึกษา และเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ

‘อ.วิริยะ’ ชี้ ‘การศึกษา’ คือ ‘การลงทุน’ ที่คุ้มค่าที่สุด

“การศึกษา คือ การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด…
และส่งผลระยะยาวต่อเศรษฐกิจและสังคม”

อาจารย์วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระ นักพูด นักเขียนด้านการศึกษา กล่าว

‘เพจดัง’ ฉะ!! ‘นโยบายปลอด 0 ร มส’ กัดกินการศึกษาไทย มองผิวเผินดีเลิศ แท้จริงทำเด็กขาดวินัย-ไร้ความรับผิดชอบ

(5 ต.ค. 66) เพจวันนั้นเมื่อฉันสอน ซึ่งเป็นเพจของครูหนุ่มในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีผู้ติดตามกว่า 1.6 แสนคน ได้เขียนบทความเรื่อง ‘นโยบายปลอด 0 ร มส กำลังผลิตเด็กที่ขาดความรับผิดชอบ’ ระบุว่า ดาบสองคมของนโยบายที่แสนดี พูดความจริงได้มั้ยกับการศึกษาไทย ถ้าพูดไม่ได้ทุกอย่างมันก็ดีเลิศประเสริฐศรีมณีเด้ง แต่ถ้าพูดได้คุณจะได้รับฟังความจริงอีกด้าน

นโยบายปลอด 0 ร มส แนวคิดอันแสนดีของระบบการศึกษาที่จะนำพาประเทศเราไปสู่ฝั่งฝัน เพราะเด็กทุกคนตั้งใจเรียนครูเอาใจใส่ช่วยเหลือเด็กให้จบการศึกษาได้ทุกคน

แต่ความจริงแล้วกลับไม่เป็นอย่างนั้นเพราะเด็กเกิดความรู้สึกว่า ‘เรียนยังไงก็ผ่าน’ ‘ไม่ส่งงานก็ผ่าน’ ‘ทำยังไงก็ผ่านวันสุดท้ายค่อยไปแก้’

สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดเด็กที่ไม่มีความรับผิดชอบออกมากมายสู่สังคม คนตั้งใจเรียนก็ท้อใจเพราะคนที่ไม่ตั้งใจก็ผ่านเหมือนกันจนไม่รู้ว่าจะทำดีไปทำไมเพราะไม่เรียนก็ผ่านเหมือนกัน ครูเองก็ถูกบีบให้ตัดสินด้วยผลการเรียนปลอม ๆ ออกมา

ผมเคยคุยกับ ผอ.ของผมท่านหนึ่งเรื่องการรายงานผลอ่านเขียนว่าจะให้รายงานตามความจริงไหม ? ทำไมต้องถามอย่างงั้นล่ะเพราะสถานศึกษาบางแห่งเมกคะแนนสอบจนเป็นเรื่องปกติ ผลการสอบเลิศหรูแต่เด็กก็อ่านไม่ออกก็มี มีการโกงข้อสอบเอาเฉลยมาให้บอก และที่มันเป็นแบบนี้ส่วนหนึ่งเพราะนโยบายที่บีบลงมาต้องได้ 90 เต็มร้อย จึงจะมีหน้าตาอยู่ได้

ระบบที่ครูพูดความจริงไม่ได้ ระบบที่ครูตัดสินตามความจริงไม่ได้กำลังกัดกินการศึกษาไทย ในชั้นเรียนระดับมัธยมเราจะเจอทั้งเด็กที่อ่านไม่ออกท่องสูตรคูณไม่ได้เป็นเรื่องปกติ ‘เพราะอ่านไม่ออกก็ได้เลื่อนชั้นอยู่ดี’

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องตั้งคำถามว่า สิ่งที่เป็นอยู่มันดีแล้วจริง ๆ ใช่ไหมกับการทำให้เด็กเกิดความคิดว่า ‘เรียนอย่างไรก็ได้ ทำยังไงก็ผ่าน’

ถ้ามันดีจริงก็คงไว้ แต่ถ้ามันไม่ได้ดีอย่างที่คิดก็ควรเกิดการเปลี่ยนแปลงปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาของทุกคนเพราะถ้าเด็กคนหนึ่งได้รับการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพวันหนึ่งเขาอาจจะเป็นภัยของสังคม ลูกคุณเรียนเก่งแล้วเรียนดีแล้ว คุณให้การอบรมสั่งสอนที่ดี แต่วันหนึ่งเขาอาจจะถูกทำร้ายจากเด็กคนอื่นที่ขาดการศึกษาที่ดีของสังคมก็ได้

จงอย่ารอให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น

‘สำนักงาน ก.พ.’ เปิดสอบชิงทุนระดับมัธยมฯ ตอนปลาย ศึกษาต่อป.ตรี-ป.โท ในต่างแดน รับสมัครตั้งแต่ 25 ต.ค. 66

(16 ต.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘Royal Thai Consulate-General in Chengdu สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อรับทุนกระทรวงการต่างประเทศ ประจำปี 2567 (ทุนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) เพื่อไปศึกษาปริญญาตรี - ปริญญาโท ในต่างประเทศ จำนวน 5 ทุน โดยเปิดรับสมัคร ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 25 ต.ค. 2566

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ocsc.go.th/scholarship/highschool 

รายละเอียด 1

รายละเอียด 2

รายละเอียด 3

รายละเอียด 4

รายละเอียด 5

รายละเอียด 6

ีรายละเอียด 7

รายละเอียด 8

 

‘ศุภชัย’ บิ๊กใหญ่ ‘ซีพี’ ชงพลิกโฉมการศึกษาไทย รับมือโลกยุค 5.0 หนุนเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ เสริมทักษะดิจิทัล-ภาษาอังกฤษ

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 66 รายงานข่าวเผยว่า นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้แสดงวิสัยทัศน์เรื่อง ‘The Future of Education พลิกโฉมการศึกษาไทยเท่าทันอนาคต’ ภายในงาน ‘THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 FUTURE READY THAILAND’ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ นายศุภชัย ได้ฉายภาพรวมความท้าทายของโลกและเมกะเทรนด์ปี 2023 - 2030 โดยระบุว่า เด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายของโลกในหลายด้าน ดังนั้น เราต้องปรับตัวให้ทัน และต้องให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลมากขึ้น เพราะเราหยุดความก้าวหน้าของโลกไม่ได้ แม้ว่าในตอนนี้โลกอยู่ในยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคของการเข้าถึงข้อมูลเป็นดั่งน้ำมันในอากาศ

เวลานี้กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค 5.0 ซึ่งเป็นยุคของการผสมผสานเทคโนโลยี AI และกรอบความคิดของคน รวมถึงหลักความยั่งยืนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นยุคที่ให้ความสำคัญในการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูงให้กับคนในประเทศ

แต่ทั้งนี้ เมื่อมาดูผลสำรวจความสามารถทางทักษะดิจิทัล พบว่า เด็กไทยยังขาดทักษะดิจิทัลและภาษาอังกฤษที่ยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน และหากดูการจัดอันดับการแข่งขันในเวทีโลก GDP ไทยอยู่อันดับที่ 26 แต่ GDP/CAPITA อยู่อันดับที่ 84  ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยในการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ รวมไปถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาทำให้เด็กเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะประสิทธิภาพของทรัพยากรมนุษย์ คือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

นายศุภชัย ได้เสนอแนะสิ่งที่จะพลิกโฉมการศึกษาไทยให้เท่าทันความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคตว่า ระบบการศึกษาไทยควรต้องปรับการเรียนรู้จาก 2.0 เป็น 5.0 เข็มทิศสำคัญคือการให้ความรัก ให้ความมั่นใจกับเด็ก เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง โดยบทบาทของครูจะต้องปรับเปลี่ยนจากผู้สอนไปเป็น ‘โค้ช’ หรือผู้นำกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) ต้องสอนให้เด็กเป็น ‘นักค้นคว้า’ มีกรอบความคิดใหม่ และเกิดการปรับตัวให้อยู่รอดในโลกที่ท้าทายตอนนี้ เพราะฉะนั้น การเรียนรู้จึงต้องปรับให้เด็กเกิดการตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนา โดยทุกโรงเรียนต้องปรับเป็น ‘Learning Center’

พร้อมกันนี้ได้เสนอโมเดล ‘Sustainable Intelligence Transformation’ (SI Transformation Model) ผ่าน 5 ฐานสำคัญในการเปลี่ยนระบบการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ประกอบด้วย

1.) Transparency โรงเรียนต้องมีตัวชี้วัด School Grading พร้อมตัวชี้วัดใหม่ที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องมีสมุดพกดิจิทัล วิเคราะห์และพัฒนาศักยภาพรายบุคคล

2.) Market Mechanism สร้างกลไกตลาดและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงการส่งเสริมสื่อคุณธรรม

3.) Leadership &Talents ไม่จำกัดวิทยฐานะผู้อำนวยการ สร้างผู้นำและบุคลากรที่มีทักษะ 5.0

4. Empowerment เน้นการเรียนผ่านการลงมือทำในแบบ Action Based Learning บนสามขาความยั่งยืนคือเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และควรต้องมี Computer Science เป็นวิชาหลักครอบคลุมดิจิทัลเทคกับเอไอ

5.) Technology เสนอให้นักเรียนทุกคนมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต พร้อมส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพ และดันให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านนวัตกรรม

“เด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เพราะนั่นคือห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุด และต้องมีการส่งเสริมศักยภาพของคนรุ่นใหม่ เพื่อการพัฒนาประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งนี้ การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องใหญ่ หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงอนาคต เราต้องเปลี่ยนเจเนอเรชั่นถัดไป เพราะพวกเขาคือผู้ที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ และต้องสร้างทักษะดิจิทัลให้พวกเขามีศักยภาพในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างเท่าทัน” ซีอีโอเครือซีพี กล่าว
 

ความธรรมดาของลูก!! รางวัลที่สุดพิเศษของ ‘เช็ค สุทธิพงษ์’ เมื่อเธอผู้จบเกียรตินิยมอันดับ 1 รักในงานธรรมดาที่แสนสุข

ไม่นานมานี้ ‘เช็ค-สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ’ พิธีกร และผู้ผลิตสื่อชื่อดัง แห่งทีวีบูรพา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Suthipong Thamawuit’ ระบุว่า...

ผมพบว่า ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งพิเศษเหนือความคาดหมายอะไรมามอบให้ เพียงแค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ จากลูก ก็นำความสุขมาให้คนเป็นพ่อแม่ได้มากมาย

พี่เช็คเล่าว่า ลูกสาวคนเล็กที่ทำงานเป็นผู้ช่วยช่างทำผมในร้านซาลอน เอามือที่สากและลอกเป็นขุยของเธอมาให้ดู จับมือพ่อไปเทียบกันแล้วบอกว่า “ดูสิ ตอนนี้มือพ่อนุ่มกว่ามือหนูอีก”

พี่เช็ค ถามว่าเป็นเพราะสารเคมีหรือเปล่า เพราะงานของเธอเกี่ยวกับการย้อมสีผม เธอบอกว่าไม่ เพราะตอนใช้สารเคมีเธอใส่ถุงมือ

เธอไม่ได้กังวลกับมือที่สากและลอกเป็นขุยนั้น แต่เหมือนจะอวดว่านั่นคือ ร่องรอยของความเอาจริงเอาจังจากการทำงาน 

งานของเธอเป็นลูกจ้างเล็กๆ เด็กฝึกหัดอยู่ในร้านทำผมขนาดย่อม ที่เธอรู้สึกว่าเธอโชคดีที่ได้ทำงานในร้านนี้ 
เธอตื่นไปทำงานอย่างกระตือรือร้น มีวินัยและกลับจากทำงานด้วยความสุขทุกวัน 

แม้ว่าบางวันจะ ‘ยม’ จนแทบไร้วิญญาณ 

อย่างวันที่ผ่านมานี้ เนื่องจากลูกค้าที่มาอุดหนุนร้าน กับจำนวนพนักงานที่มีลากิจบ้าง ลาป่วยบ้าง สร้างความชุลมุนในการทำงานไม่น้อย และกว่าจะเสร็จก็ค่ำมืด เธอยืนทำงานทั้งวันจน ‘ยม’

แต่เมื่อกลับถึงบ้าน ทุกครั้งสิ่งที่เธอนำกลับมาให้พ่อเห็น ก็คือความภาคภูมิใจที่ทำภารกิจลุล่วงจนได้ ผมพบว่านี่เป็นโบนัสที่เธอได้รับจากการทำงานแทบทุกวัน และทุกคืนที่นั่งคุยกัน ผมก็จะพลอยมีความสุขกับเธอไปด้วย

เมื่อคืนเธอพูดกับผมในสิ่งที่ไม่เคยพูดมาก่อน เธอบอกว่า เธอเป็นพนักงานฝึกหัดที่ถูกตั้งคำถามว่า ทำไมถึงมาทำงานเป็นลูกจ้างร้านทำผม ผมถามว่าทำไม?

เธอบอกว่า “พ่อนึกออกไหม สังคมจะมีเกรดหรือภาพของเด็กลูกจ้างในร้านทำผมแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เด็กจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเกี่ยวกับโซเชียลเอนเตอร์ไพรซ์ ด้วยเกรดเกียรตินิยมอันดับหนึ่งอย่างเธอ ซึ่งน่าจะไปทำงานสตาร์ตอัป หรือไม่ก็งานสื่อสารองค์กรในบริษัทชั้นนำ ที่น่าจะมีรายได้และอนาคตมากกว่าการดัดย้อมผมหลายเท่า”

แต่เธอไม่เคยมองว่าเธอเป็นคนเกรดไหน และงานทำผมเป็นงานของคนเกรดอะไร แค่เธอพบว่า งานทำผมคือ งานที่เธอทำแล้วมีความสุข

ผมไม่เคยสงสัยและคาดหวังอื่นใดในการเลือกของลูก ผมมีความสุขกับการที่ลูกไปทำงานอย่างมีความสุข และกลับจากทำงานด้วยความสุขและภาคภูมิใจทุกวัน 

ผมคิดว่า นี่คือคือปัจจุบันและการเริ่มต้นที่ดีที่สุด

การเริ่มต้นเดินทางที่ชัดเจนและรู้ความหมายนั้น จะนับว่าเป็นความสำเร็จขั้นหนึ่งก็น่าจะได้

เพราะในวัยเดียวกัน ผมเคยผ่านมาแล้ว ด้วยความเคว้งคว้าง จับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้จะพาชีวิตไปทางไหนดี 
อย่าว่าแต่ทางที่ไปใช่หรือไม่เลย แม้แต่เขาเลือกทางชีวิตกันแบบไหน อย่างไรผมก็ยังไม่รู้ 

เพราะฉะนั้น เห็นความธรรมดาของลูกแค่นี้ ก็เป็นรางวัลที่พิเศษสุดของพ่อแล้ว

ก่อนขอตัวขึ้นไปนอน เธอบอกว่า พ่อก็เป็นช่างตัดผมได้นะ ถ้าได้เรียน ผมบอกว่าก็น่าจะได้นะ แต่น่าจะเลี้ยงลูกไม่ได้ เพราะไม่น่าจะมีใครมาตัดกับพ่อ 

เธอหัวเราะแล้วบอกทีเล่นทีจริงว่า แต่มือนี้เลี้ยงพ่อได้นะ เพราะนี่คือมือของคนที่จะรวย 

ผมนึกในใจ ถ้ามือสากด้านบ่งบอกความรวย ที่ผ่านมา พ่อน่าจะระดับมหาเศรษฐี แต่ไม่ทันได้พูด เธอก็บอกว่า ไปอาบน้ำนอนล่ะ พรุ่งนี้ต้องรีบไปแต่เช้า

ผมถามว่าทำไมต้องไปแต่เช้า ก็วันนี้ยมมาทั้งวัน เธอบอกว่าไปพับฟอยล์ (วัสดุที่ใช้ในการทำสีผม) เดี๋ยวจะไม่มีใช้ ผมถามว่าปกติเป็นหน้าที่ของลูกหรือ เธอบอกว่าไม่ใช่ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกัน

ถามต่อว่าถ้าลูกไม่พับ ใครพับ เธอตอบว่าบางครั้งเจ้าของร้านก็ต้องพับเอง เธอคิดว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่น่าจะถูกต้อง

ผมบอกว่าถ้าที่ทำงานไหน มีพนักงานที่คิดแบบลูกสักครึ่งหนึ่ง จะเป็นกิจการที่ดีและเจ้าของกิจการก็โชคดีมาก

เธอขึ้นไปแล้ว ผมคิดว่าไม่ใช่แค่เจ้าของร้านหรอกที่โชคดี ตัวเองก็โชคดีมาก ที่ได้รางวัลเสมอจากการสนทนากับลูก

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

(14 ธ.ค.66) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า...

"พ่อแม่ต้องอยู่เบื้องหลังลูกทุกคน สนับสนุนในสิ่งที่ลูกรัก ที่ลูกอยากทำ สร้างความมั่นใจ ไม่ต้องกลัว ทำดี ทำเลย...สุภาพอ่อนน้อม เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก...พูดคุย ยิ้ม หัวเราะ กอดกัน สร้างวินัย รับผิดชอบเรื่องการเรียน สอนให้รู้จักอารมณ์ตัวเอง รู้จักผิดถูก และ...เล่นมือถือต่อหน้าลูกให้น้อยลง"

‘เยอรมัน’ ขาดแคลน ‘ครู’ อย่างหนัก จนต้องลดคลาส ทำ นร.เกรดร่วง หลังคนหนุ่ม-สาวหันเมินอาชีพนี้ เหตุค่าตอบแทนต่ำ สวนทางภาระงาน

‘นักการศึกษาเยอรมัน’ จี้!! รัฐบาลแก้ปัญหาขาดแคลนครูอย่างหนักทั่วประเทศด่วน โดยชี้ข้อมูลจากผลสอบวิชาคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และการอ่านของนักเรียนระดับเกรด 9 ในเยอรมันร่วงลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดครูในโรงเรียน

‘รีเบคก้า’ ครูโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในฮัมบูร์ก ผู้มีประสบการณ์สอนในวิชาภาษาอังกฤษ และ ประวัติศาสตร์มานานกว่า 30 ปี เปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อเยอรมันว่า โดยทั่วไปแล้ว วิชาภาษาเยอรมัน, อังกฤษ และ คณิตศาสตร์ ถือเป็นวิชาหลักที่ต้องเน้นเป็นอันดับแรก แต่เมื่อครูขาดแคลน ทำให้โรงเรียนจำเป็นต้องงดคลาสวิชาอื่นๆ เพื่อเทครูมาสอนวิชาหลักก่อน ซึ่งหลายครั้งที่ชั้นเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของเธอต้องถูกยกเลิกไปเป็นเดือนก็มี

โดย ครูรีเบคก้า เล่าว่า ปัญหาการขาดแคลนครูมีมานานแล้ว แม้ว่าทางโรงเรียนพยายามประกาศรับสมัครครูมาตลอด แต่ก็ยังได้จำนวนครูมาไม่พอ และยังทำให้ครูที่ยังเหลืออยู่ต้องแบกรับภาระการสอนที่เพิ่มมากขึ้นจนป่วยจากการทำงานหนัก

ปัญหานี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่โรงเรียนของครูรีเบคก้า แต่เป็นปัญหาของโรงเรียนทั่วเยอรมัน จนหลายโรงเรียนต้องลดทอนหลักสูตรให้สั้นลง บางโรงเรียนเปิดการสอนได้แค่ 4 วันต่อสัปดาห์ ที่ไม่ใช่เหตุผลเรื่อง Work life balance แต่เพราะไม่มีครูมาสอน

สื่อเยอรมันชี้ว่า โรงเรียนในเยอรมันอาจขาดแคลนครูหลายหมื่นตำแหน่ง และเนื่องจากการกำหนดรูปแบบหลักสูตร และสวัสดิการครู อยู่ในอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละ 16 แคว้น ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ก็ยิ่งทำให้การจัดการหาผู้สอนมีความยากขึ้นไปอีก

ด้านรัฐมนตรีศึกษาธิการของรัฐบาลกลาง และหน่วยงานของแต่ละแคว้น พยายามหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหา ซึ่งได้ประเมินว่าทั่วประเทศน่าจะขาดแคลนครูอยู่ประมาณ 14,000 ตำแหน่ง

แต่ทว่า นักเศรษฐศาสตร์, นักวิชาการด้านการศึกษา และ กลุ่มสหภาพแรงงานครูออกมาค้านว่ารัฐบาลประเมินตัวเลขต่ำเกินไป ไม่สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงทั้งในปัจจุบัน และ อนาคต

หากประเมินจากตัวเลขนักเรียนในโรงเรียนของปีนี้ (2023) ที่มีอยู่ประมาณ 830,000 คน บางส่วนมาจากกลุ่มชาวต่างชาติที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเยอรมันมากขึ้น จึงคาดการณ์ได้ว่าอัตราเด็กเกิดใหม่ในเยอรมันน่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า ในขณะที่เยอรมัน จำนวนครูกลับลดลงเรื่อยๆ ทุกปี หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหาในวันนี้ คาดว่าในปี 2035 เยอรมันอาจขาดแคลนครูมากกว่า 56,000 ตำแหน่ง

ในขณะที่เยอรมันกำหนดให้ครูต้องจบวุฒิขั้นต่ำปริญญาตรีที่ตรงสาย แต่เพราะปัญหาการขาดแคลนครู ทำให้รัฐบาลเยอรมันอนุโลมให้ผู้ที่จบสาขาอื่นๆ ที่เข้าอบรมหลักสูตรด้านการสอนฉบับเร่งรัดสามารถบรรจุเป็นครูได้ แต่ก็เหมือนเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกที่คัน เนื่องจากผลสำรวจพบว่า หนุ่มสาวรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจอาชีพครูกันแล้ว

เหตุผลเพราะว่า อาชีพครูในความคิดของหนุ่ม-สาวยุคนี้ถูกมองว่าเป็นงานหนัก ค่าตอบแทนน้อย รับผิดชอบสูง มีชั่วโมงการทำงานยาวนาน แม้รัฐบาลจะกำหนดให้ครูมีชั่วโมงการสอนเฉลี่ย 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ส่วนใหญ่มักพบว่าสอนเกินเกณฑ์มาตรฐานไปไกลมาก ถึง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มิหนำซ้ำ หน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐเสนอแนะให้เพิ่มชั่วโมงการเรียนของนักเรียน ยืดอายุวัยเกษียณของครู เพิ่มจำนวนนักเรียนในชั้น และคาดหวังเทคนิคการสอนที่หลากหลาย

ด้วยอุปสรรคหลายปัจจัยจนปวดใจ เลยทำให้เยอรมันหาครูมาสอนได้ยาก และครูหลายคนเลือกที่จะรับงานสอนแบบ Part-time มากกว่าทำงานแบบประจำเต็มเวลา เพราะมีความยืดหยุ่นในชั่วโมงการสอนได้มากกว่า

ร่ายยาวมาถึงตรงนี้ เราจึงเข้าใจ และเห็นภาพของวิกฤติครูในเยอรมัน และปัญหาที่ครูสาวรีเบคก้ากำลังเผชิญอยู่ ว่าทำไมครูในเยอรมันถึงขาดแคลน และต้องทำงานหนัก ทำไมบางโรงเรียนในเยอรมันถึงไม่สามารถเปิดสอนได้เต็ม 5 วันต่อสัปดาห์ และต้องตัดวิชาเสริม เน้นสอนแต่วิชาหลัก จนส่งผลเสียต่อผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนโดยรวมของนักเรียนเยอรมันไปในที่สุด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top