สิ่งที่ลูกต้องมี ชวนพ่อแม่รู้จัก “ภาวะความคิดสร้างสรรค์” ทักษะชีวิตสำคัญสำหรับลูกวัยเรียน

เมื่อเราพูดกันถึง ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนคงนึกถึงนิยาม ความหมาย หรือแนวคิดที่ว่าความคิดสร้างสรรค์คือทักษะในการประดิษฐ์ คิดค้น หรือสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนเท่านั้น ความคิดสร้างสรรค์คือทักษะหรือความสามารถของคนๆ หนึ่งในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่จะมีคุณค่าหรือผลลัพธ์ในทางบวกต่อธุรกิจของตนเอง สังคมหรือโลก คำว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันมาตลอดมากที่สุด ในแง่นี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นเหมือนทักษะทางสังคม ทักษะในการทำงาน หรือทักษะที่มีคุณค่าและสถานะคล้ายคลึงกับบรรดาทักษะทางสังคมอื่นๆ ต่างๆ อย่างเช่น พรสวรรค์ (talents), ความสามารถ (capabilities), หรือผลิตภาพ (productivity) ฯลฯ

แต่ความคิดสร้างสรรค์ในบริบทของทักษะชีวิตละ? เป็นไปได้ไหมที่จริงๆ แล้วภาวะความคิดสร้างสรรค์นั้นก็มีตัวตน ความหมายและคุณค่าอยู่ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเราเหมือนกัน? แล้วหากอยู่ในบริบทนั้น มันคือภาวะ พลังงาน หรือทักษะในลักษณะใดกันแน่?

เกริ่นกันมาถึงขนาดนี้ คุณพ่อคุณแม่และผู้อ่านๆ หลายคนอาจเริ่มขมวดคิ้วกันพอสมควรแล้ว แต่อย่าเพิ่งถอดใจหรือคิดว่าจะซับซ้อนเกินไป ในบทความนี้ Starfish Labz จะขอพาคุณพ่อคุณแม่และผู้อ่านทุกคนมาสำรวจถึงอีกหนึ่งความหมาย และแนวคิดของสิ่งที่เรียกว่า’ภาวะความคิดสร้างสรรค์’ ในบริบทของการเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญให้กับลูกๆ ของเรากัน

ในแง่นี้ ภาวะความคิดสร้างสรรค์ที่ Starfish Labz ว่าจะคืออะไร? จะมีคุณค่าต่อหัวใจ การเติบโต ความฝัน ตลอดจนการกลายเป็นขุมพลังอันสำคัญของสังคมและโลกในฐานะพลเมืองและบุคคลในวัยทำงานอย่างไร มาหาคำตอบร่วมกันไปในบทความนี้กันเลย

ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ในขอบเขตของความหมายที่เราคุ้นเคยกัน

แม้อาจดูเหมือนเป็นคำและคอนเซ็ปต์ที่เราคุ้นเคยและมีมานาน แต่คุณพ่อคุณแม่เชื่อไหมคะว่าจริงๆ แล้วแนวคิดเรื่อง Creativity นั้นเพิ่งมาถือกำเนิดขึ้นเพียงแค่ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 เท่านั้นเอง การถือกำเนิดของแนวคิด Creativity กล่าวโดยคร่าวและอย่างเรียบง่ายที่สุดนั้นก็มาจากความพยายามของคนรุ่นหลัง ที่อยากทำความเข้าใจทักษะหรือกระบวนการที่คนรุ่นก่อนๆ สามารถสรรค์สร้าง ผลิตคิดค้น หรือนำเสนอสิ่งหรือแนวคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีก่อนและยังมีอิทธิพลในการเปลี่ยนโลก Karl Benz บุคคลแรกที่ศึกษา คิดค้นและสร้างรถยนต์ทำสิ่งดังกล่าวได้อย่างไร? หรือปัจจัยใด ทักษะใด กระบวนการใดที่ช่วยให้ Albert Einstein สามารถคิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Theory of Relativity)?

ความปรารถนา และความพยายามในการทำความเข้าใจความสามารถของบุคคลเหล่านี้ทำให้ในภายหลัง ในท้ายที่สุด เราได้พบและให้กำเนิดแนวคิดที่เราเรียกกันว่า ‘ทักษะหรือภาวะความคิดสร้างสรรค์ (creativity)’ อันหมายถึง

ความสามารถในการสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ มิว่าจะเป็นทางออกใหม่ให้กับปัญหา, กลวิธีการใหม่, อุปกรณ์ใหม่, หรือวัตถุ-รูปแบบใหม่ๆ ในทางศิลปะ 

หากกล่าวอย่างให้เห็นภาพที่สุด ทักษะความคิดสร้างสรรค์ในแง่นี้ก็จึงคือผลผลิต อาทิ การผลิตรถยนต์คันแรก, การผลิตเครื่องบินลำแรก, การพัฒนารถยนต์หรือเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม, กวีนิพนธ์, นวนิยาย, ภาพวาด และไปจนถึงแนวทางใหม่ที่ผู้นำในสังคมคิดออกมาเป็นนโยบายเพื่อแก้ปัญหาหนึ่งๆ ในสังคม ภาวะความคิดสร้างสรรค์ในแง่นี้ จึงอาจกล่าวได้ว่ามีความผูกโยงอยู่กับบรรยากาศแวดล้อมทางสังคม หรือเป็นทักษะความสามารถทางสังคมชนิดหนึ่ง คล้ายคลึงกับทักษะในลักษณะเดียวกันอื่นๆ อาทิ พรสวรรค์ (talents), ผลิตภาพ (productivity), กรอบความคิดแบบเติบโตได้ (growth mindset), การมีความวิริยะ (grit) ฯลฯ

แต่นอกเหนือจากความหมายในขอบเขตนี้แล้ว Creativity ยังมีพื้นที่ในส่วนอื่นๆ ในโลกของเราอีกไหม? นอกเหนือจากในบริบทของการเป็นสะพานสู่การประดิษฐ์คิดค้นหรือนำเสนอผลงานศิลปะที่มีคุณค่าใหม่ๆ เป็นไปได้ไหมที่ Creativity ทักษะอันทรงพลังที่ก่อให้เกิดสรรพสิ่งมากมายที่เปลี่ยนโลกของเรา จะมีพื้นที่ในการดำรงอยู่ที่อาจดูแสนธรรมดาและตลอดจนกระทั่งในการทำความเข้าใจว่าเราคือใครเช่นกัน คำตอบของคำถามนี้จะพาเราไปสู่อีกแง่มุมหนึ่งอันลึกซึ้งหนึ่งของ Creativity ที่เรียกว่า Everyday Creativity หรือ ภาวะความคิดสร้างสรรค์ในทุกๆ วัน

Everyday Creativity: ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ในฐานะการเป็นพื้นฐานอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์และการเป็นทักษะชีวิต

ศึกษาและนำเสนอโดย Ruth Richards จิตแพทย์และนักจิตวิทยาชาวอเมริกันในปี 1988 ในหนังสือ Everyday Creativity: Coping and Thriving in the 21st Century แนวคิดของ Everyday Creativity ใหม่นี้มีความลึกซึ้งและสัมผัสลึกลงไปที่แนวทางทางมนุษยนิยมและจิตวิทยาของ Creativity มากขึ้นนั่นก็คือการมองว่า Creativity ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทักษะ (skill) ในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ต่างๆ แต่โดยพื้นฐานแล้ว ยังมีลักษณะของการเป็นความสามารถอันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ (human nature)

ภาวะความคิดสร้างสรรค์มีอยู่ในตัวของทุกคนและ “We are a creative creature.” (“เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสร้างสรรค์”) และคุณลักษณะอันสร้างสรรค์ดังกล่าวนี้ของเราก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องรอใช้งานกับโปรเจกต์ที่จะมีคุณค่าและอิทธิพลต่อสังคมเพียงอย่างเดียว หากแต่สามารถนำมาใช้ในการเสริมสร้างประสบการณ์ในการดำรงอยู่และในการประกอบสร้างตัวตนของเราเช่นกัน

ภาวะความคิดสร้างสรรค์ในอีกด้านนี้ซึ่งมีความเชื่อมโยงอยู่กับตัวตน ความเป็นปักเจก และชีวิตของบุคคลมากกว่าจึงมักถูกเรียกและใช้งานโดยอีกคำมากกว่า นั่นคือ  “Creative Expression” หรือ “การแสดงออกด้วยคุณลักษณะอันสร้างสรรค์” อันหมายถึงจากเดิมที่เราคิดว่า Creativity เป็นทักษะหรือกระทั่งพรสวรรค์ที่มีอยู่เพียงแค่ในบางคน และเราสามารถใช้ Creativity กับผลงานเพื่อธุรกิจหรือสาธารณชนเท่านั้น จริงๆ แล้ว เรามีเมล็ดพันธุ์ของ Creativity อันโดดเด่นอยู่ในตัวของพวกเราทุกคน เรามีธรรมชาติอันมีลักษณะสร้างสรรค์ และคุณลักษณะดังกล่าวนั้นสามารถนำออกมาใช้ได้ไม่เพียงแค่กับการทำงานหรือโปรเจกต์ทางสังคม แต่ยังรวมถึงเพื่อชีวิตและจิตใจของเรา

ตัวอย่างหนึ่งของ Everyday Creativity อย่างง่ายที่สุดในแง่นี้ก็คือความสามารถของเราในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ในแง่ใหม่ ๆ ที่แท้จริงแล้วก็กำเนิดจากธรรมชาติ ภาวะ และความสามารถแห่งการสร้างสรรค์ของเราที่มีอยู่ในตัวและไปจนถึงกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อการบำบัดทางจิตใจต่างๆ เช่น การวาดภาพเพื่อการบำบัด, ดนตรีบำบัด, การเขียนเพื่อการบำบัดทางจิตใจ ไปจนถึงการท่องเที่ยว กิจกรรม การละเล่นที่ช่วยขับให้เราฝึกใช้ Creative Expression ของเราในแง่มุมเล็กๆ ไปจนถึงใหญ่ๆ ต่างๆ ตามแต่ความสนใจและความชอบของแต่ละคน

Creative Expression และการช่วยเสริมสร้างตัวตน (Self) ที่แตกต่างและโดดเด่นของเด็กๆ แต่ละคน

มาถึงตรงนี้ คุณพ่อคุณแม่และผู้อ่านหลายๆ คนคงอาจเริ่มพอเห็นภาพและพอเข้าใจในบทบาทของภาวะความคิดสร้างสรรค์ในการเป็นทักษะชีวิตกันบ้างแล้ว และแน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่อย่างๆ เราสามารถมอบให้กับเด็กเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นลูก หลาน หรือน้องของเรานั่นก็คือการช่วยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ Creativity ในตัวของเด็กๆ แต่ละคนให้สามารถกลายเป็น Creative Expression ที่งดงาม มีคุณค่า มีความหมาย และมีประโยชน์ต่อตัวเขาเองในหลากหลายด้านตั้งแต่การทำความเข้าใจตัวเอง (self-discovery) ไปจนถึงการความสามารถในการสร้างสิ่งใหม่ ๆ เพื่อสังคมอย่างขอบเขตของ Creativity ในความหมายแรก

แต่สิ่งสำคัญสำหรับเด็กๆ นั้น แน่นอนว่าควรเริ่มที่ตัวของเขาเองก่อน เขาชอบอะไร? เขาเป็นคนอย่างไร? ความโดดเด่นของเขาอยู่ที่ตรงไหน? กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เช่น การวาดภาพ, การฝึกเขียนบันทึก, การเข้าร่วมกิจกรรมที่ท้าทาย ฝึกให้เขาต้องคิดหารูปแบบแนวทางใหม่อื่นๆ นั้นล้วนเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับภาวะความคิดสร้างสรรค์ในตัวของพวกเขา

ในแง่นี้ เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ในระดับของการเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ ภาวะความคิดสร้างสรรค์คือเมล็ดพันธุ์อันมหัศจรรย์ในตัวของเด็กๆ และผู้ใหญ่ทุกคนที่สามารถช่วยเชื่อมร่างกายและความคิดจิตใจ (mind-body connection) ของเราให้สัมพันธ์กัน เรามองเห็นบางสิ่งในระดับจิตใต้สำนึกของเราอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเมื่อเราลองลงมือวาดภาพ เด็กๆ สามารถค่อยๆ เรียนรู้สิ่งที่เขาชอบ ตัวตนที่เขาเป็น สิ่งที่เขาอยากทำด้วยกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์มากมายต่างๆ อาทิ การเต้น, ดนตรี, ศิลปะ, งานประดิษฐ์, การละเล่น ฯลฯ

สรุป (Key Takeaway)

หัวใจสำคัญของภาวะความคิดสร้างสรรค์ในฐานะการเป็นทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 สำหรับเด็กๆ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องเติบโตไปเป็นจิตรกร, กวี, หรือผู้ผลิตศิลปะหรือกระทั่งนวัตกรรมยิ่งใหญ่ พวกเขาสามารถเติบโตไปเป็นใครก็ได้ด้วยการเรียนรู้และเข้าใจตนเองผ่านเครื่องมือที่มีคุณประโยชน์ และหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังนั่นก็คือ Creativity หรือความสามารถในการมี Creative Expression ในตัวของพวกเขาเอง

แม้จะดูเหมือนเป็นแนวคิดคนรุ่นใหม่ แต่ Creative Expression และ Every Creativity อันที่จริงแล้วเป็นคุณลักษณะธรรมชาติพื้นฐานที่ไม่ได้ซับซ้อนและไกลตัว แต่เพราะเราคุ้นเคยกับนิยามโดยทั่วไปเพียงอย่างเดียว จึงอาจต้องใช้เวลาในการค่อยๆ สังเกตและปรับเลนส์ในการมองเห็นภาวะความคิดสร้างสรรค์ในตัวของเด็กๆ และของเราเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มต้นง่ายๆ ได้ด้วยการทำความเข้าใจแนวคิดผ่านแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น บทความเกี่ยวกับภาวะความคิดสร้างสรรค์, หนังสือสู่สเต็ปในการบ่มเพาะจริง, งานวิจัยจากจิตแพทย์หรือนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ พูดคุยกับลูก ค่อยๆ สอนเขาให้เข้าใจแนวคิด Creative Expression และเริ่มลองให้เขาลงมือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อบ่มเพาะ Everyday Creative Expression ให้กับเขาอย่างเป็นรูปธรรม

ที่มา: starfishlabz