ทดสอบแค่ในห้องแล็บ เวชศาสตร์ฯ มหิดล แจงไม่เกี่ยวข้อง หลังอย.จ่อเอาผิดโฆษณาสเปรย์ยับยั้ง RSV

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เบซูโต๊ะ เคลียร์ นาเซิล สเปรย์ (Besuto Qlears nasal spray) ได้รับการจดแจ้งเครื่องมือแพทย์ เลขที่ 65-1-3-2-0000818 มีวัตถุประสงค์การใช้งานและข้อบ่งใช้ คือ สำหรับพ่นจมูก ใช้เมื่อเริ่มมีอาการเป็นหวัดหรือมีอาการคล้ายหวัด เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุโพรงจมูกเนื่องจากอากาศแห้ง ช่วยลดและบรรเทาอาการคัดจมูก ซึ่งภายหลังปรากฏตามสื่อต่างๆ ว่ามีการแถลงผลการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในสูตรส่วนประกอบ ควบคู่กับการแอบแฝงโฆษณาผลิตภัณฑ์ ทำให้เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์สามารถยับยั้งหรือฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโคโรนา 2019 และไวรัสอาร์เอสวี ต้านการอักเสบ ฯลฯ ได้ ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนกับผู้บริโภค

"ผลการทดสอบฤทธิ์ดังกล่าว เป็นเพียงผลการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดในห้องปฏิบัติการเบื้องต้นเท่านั้น ยังคงต้องทำการศึกษาวิจัยในมนุษย์เพิ่มเติมเพื่อยืนยันฤทธิ์ดังกล่าว แล้วจึงนำผลการศึกษา ยื่นขอขึ้นทะเบียนกับ อย.ในสรรพคุณใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป" นพ.สุรโชคกล่าว

นพ.สุรโชคกล่าวว่า ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมกันลดปัญหาการโฆษณาแฝงผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ทางการค้า ผ่านการแถลงผลงานวิจัยหรือผลการทดสอบต่างๆ เพราะนอกจากจะสร้างความเข้าใจผิดให้ผู้บริโภคแล้ว ยังเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยในขณะนี้ อย. ได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายในกรณีข้างต้นแล้ว ส่วนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการอนุมัติสรรพคุณจาก อย. ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น และการโฆษณาต้องผ่านการอนุมัติจาก อย. เช่นกัน นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เช่น การสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในสถานที่ผู้คนแออัดหรือพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท การล้างมือ การเว้นระยะห่างต่อไป

วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจกรณีผลิตภัณฑ์สเปรย์ดังกล่าว โดย รศ.นพ.วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล แถลงว่า คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้รับการร้องขอให้ทดสอบประสิทธิภาพในห้องปฏิบัติการ ซึ่งดำเนินการโดยห้องปฏิบัติการไวรัส ภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ในการยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจ SARs-CoV-2 (COVID-19), Influenza A (H1N1), Human Coronavirus 229E, และ Enterovirus 71 (EV71) ต่อผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูกดังกล่าว ตามวิธีมาตรฐานในห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่ยังมิได้มีการทดลองหรือทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์นี้ในมนุษย์ และผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการนี้ยังไม่ได้บอกถึงประสิทธิภาพการใช้ในมนุษย์ ซึ่งยังคงต้องมีขั้นตอนการทดสอบในอาสาสมัครตามขั้นตอนหลักวิชาการต่อไป

“ส่วนบทบาทของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นการให้บริการทางวิชาการเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ซึ่งเป็นบริการทางวิชาการตามปกติที่คณะฯ ให้บริการอยู่ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการผลิต การขออนุญาตขึ้นทะเบียน การจัดจำหน่าย หรือกิจกรรมอื่นของผลิตภัณฑ์แต่อย่างใดทั้งสิ้น” รศ.นพ.วีระพงษ์ กล่าว