Saturday, 27 April 2024
NEWS

เรียนสาขาไหนดี? จบมา มีงานทำ แถม ‘รายได้สูง’

(26 เม.ย. 67) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ‘Sompob Pordi’ โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ ‘เรียนอะไรได้ตังค์เยอะสุด?’ โดยระบุว่า…

โพสต์ที่แชร์มาเป็นของฝรั่ง ในบ้านเขา ปริญญาตรีที่ทำงานได้เงินมากที่สุด 3 สาขา คือ วิศวะคอมพิวเตอร์ ($80,000/ปี) วิศวะเคมี และคอมพิวเตอร์ซายเอนซ์ ($75,000 /ปี) โดยผู้ที่เรียนจบสามสาขานี้จะมีรายได้สูงกว่าผู้ที่เรียนจบสาขาสังคมสองเท่า

ใน 16 สาขาที่ทำเงินสูงสุด เกือบทั้งหมดเป็นวิศวกรรมศาสตร์ แทรกด้วย คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เภสัชศาสตร์ การเงิน วิเคราะห์ธุรกิจ

ส่วนสาขาวิชาที่รายได้ต่ำสุดก็ยังเป็นพวก liberal art หรือสายสังคม ประเภท มนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ สังคมศาสตร์, เทววิทยา และ สาขาที่เกี่ยวกับการแสดง

ทั้งหมดนี้เป็นของฝรั่ง แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะฝรั่ง จีน แขก ไทย ก็ไม่ต่างกันแต่อย่างใด

เพราะเหตุนี้ หากประเทศเล็ก ๆ จน ๆ อย่างเราไม่ต้องการเป็นประเทศเล็ก ๆ จน ๆ ตลอดไป ก็ควรรีบปิดคณะ/มหาวิทยาลัยสายสังคมทิ้งซัก 90% ของปัจจุบัน แล้วเอางบประมาณ ทรัพยากร มาทุ่มให้กับสายอื่นที่มีประโยชน์ ที่คุณค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า รวมทั้งสายอาชีวะด้วย

ถ้าทำตามนี้ นอกจากประเทศจะมีความสามารถ มีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ประชากรที่ฉลาดเท่ากับควาย ที่มีค่าแรงขั้นต่ำเป็นเป้าหมายในชีวิต ที่มีความฝันจะเป็นกาฝากสังคม เกาะกินสวัสดิการ จะลดลงด้วย

ชื่นชม!! ‘น้องกิจ’ พ่อค้าวัย 14 ทำงานหนักเพื่อครอบครัว เริ่มขายของตั้งแต่เช้ายันค่ำ หวังอยากเห็นพ่อแม่สบาย

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘The Amazing Life’ ได้โพสต์เรื่องราวของ ‘น้องกิจ’ เด็กชายวัย 14 ปี ที่สู้ชีวิต มุ่งหน้าหาเงินเลี้ยงพ่อแม่ตั้งแต่ ป.1 ทำงานขายของตั้งแต่ตี 5 จนถึง 3 ทุ่ม โดยมีเนื้อหาดังนี้…

กิจคือเด็กอายุ 14 ที่ช่วยพ่อแม่ ขายของมาตั้งแต่ ป.1 และไม่เคยมีวันหยุด นาฬิกาชีวิตของเขาเริ่มต่อสู้ตั้งแต่ตี 5 จนถึง 3 ทุ่ม ทุกเช้ากิจต้องตื่นตี 5 มาชงไมโล กาแฟ และเอาปาท่องโก๋ที่แม่กิจทอด ขึ้นรถจักรยาน ปั่นขายทั่วหมู่บ้าน จากนั้นก็รีบไป รร. ละหลังเลิกเรียนก็รีบมาขายโตเกียวที่ตลาด จนถึง 3-4 ทุ่ม ‎

แม่ของน้องกิจมีปัญหาเรื่องข้อเท้าทำให้เดินไม่ค่อยได้ พ่อน้องกิจประกอบอาชีพกรรมกร เงินไม่พอใช้ น้องกิจเลยบอกพ่อว่าเรามาทำโตเกียวดีไหม เด็ก ๆ ที่โรงเรียนชอบกิน นั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘กิจโตเกียว’

กิจเป็นเด็กที่มีความจริงใจมาก น้องพูดซื่อ ๆ ในทุกคำตอบ แต่เป็นคำตอบ ที่ทำให้คนวัย 20 กว่าอย่างเรา ได้แต่ถามตัวเองว่า บนโลกนี้จะมีเด็กอายุ 14 ที่อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอแบบนี้ สักกี่คน

ถ้าย้อนกลับไปตอนเรา ป.1 เราจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเราทำอะไรเป็นบ้าง แต่สำหรับ ‘กิจ’ นั้น คือจุดเริ่มต้นของ ‘กิจโตเกียว’ การทำงานหาเงินช่วยแม่ที่ป่วย และพ่อที่ทำอาชีพก่อสร้าง เพื่อหาเงินส่งตัวเองเรียน และเมื่อเขาเติบโตมาจนถึงอายุ 14 ปี ช่วงเวลาแห่งความสุขหลังเลิกเรียนของเขาก็หายไป เพราะเขาต้องเข็นรถเข็นไปขายโตเกียวตั้งแต่เลิกเรียนจนถึง 3 ทุ่มทุกวัน…ไม่มีวันหยุด

แต่ละคำถามที่เราถามน้อง เป็นคำถามง่าย ๆ เช่น เราถามว่าน้องมีเป้าหมายสูงสุดอะไรในชีวิตตอนนี้ น้องบอกว่า น้องอยากทำทุกอย่างให้เป็น น้องอยากเห็นพ่อกับแม่นอนสบาย ๆ สักวัน หรือได้ไปเที่ยวแบบที่คนอื่นบ้าง

คุยไปสักพักเริ่มสนิทกัน เราถามกิจว่า กิจ ทำไมแกไม่ค่อยพูดเลยอะ หรือแกเหนื่อย กิจบอกว่า ผมไม่ค่อยชอบพูด แต่ผมชอบทำงานมาก ๆ เลยครับ พี่ปอนอยากกินไส้ไหนเป็นพิเศษไหมครับ ผมจะตั้งใจทำให้ เห็นพี่มาไกล (เชี่ยยย เด็กอายุ 14 คิดแบบนี้ได้จริงดิ)

อีกหนึ่งความน่ารักคือ ระหว่างขายจนดึก น้องนั่งยิ้มให้ลูกค้าตลอดเวลา น้องไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีวิทยุ หรืออะไรใด ๆ เราถามน้องว่า ไม่เหงาหรอ อยู่เงียบ ๆ แบบนี้ ตั้งหลายชั่วโมง น้องบอกว่า ผมกลัวลูกค้าหาย เดี๋ยวผมไม่มีเงินไป รร.น้องพูดจบพร้อมหัวเราะแบบเขิน ๆ

การเจอกับน้อง เราไม่สามารถบรรยายเป็นตัวอักษรได้ว่ามันงดงามแค่ไหน มันเติมกำลังใจให้เราทำงานแค่ไหน เราอยากให้ทุกคนลองเจอกับน้องเอง รอยยิ้มของน้องสดใส และมีพลังมากจริง ๆ สุดท้ายเราถามกิจว่า สำหรับกิจ พ่อแม่มีความหมายอย่างไร กิจตอบสั้น ๆ ว่า ‘เท่าชีวิตครับ’

ท้ายที่สุดแล้วชีวิตคงเป็นแบบนี้แหละมั่ง เราอาจสร้างมาให้สู้กับชีวิตตั้งแต่เช้า เรามี 24 ชั่วโมงเท่ากัน โดยกิจเริ่มเร็วกว่าหลาย ๆ คน และเลิกช้ากว่าหลาย ๆ งาน อาหารทุกอย่างที่กิจทำ เราไม่ได้ซื้อซ้ำเพราะความสงสารแต่อย่างใด แต่มันมีรสชาติที่กลมกล่อมอยู่ในนั้นจริง ๆ กิจตั้งใจทำทุกชิ้น จนเราได้แต่สงสัยว่า ทำไมเด็กอายุ 14 ถึงมีสมาธิและรักในสิ่งที่ตนเองทำได้ขนาดนี้

บางครั้งคนที่เป็นแรงบันดาลใจ ก็ไม่ใช่คนที่ยิ่งใหญ่อะไร แต่อาจเป็นคนที่ยิ้มให้ กับชีวิตเสมอมาอย่างกิจก็ได้ แกต้องสู้ต่อไปนะกิจ แกต้องทำแบบที่เราคุยกันให้ได้นะ ถ้าไปปากเกร็ดอีก เราจะไปกินให้แหลกอีกครั้ง แกมันโคตรน่ารักเลย เจ้าเด็กสู้ชีวิตของจริง

เปิดใจ 'น้องปีใหม่' นร.ทุนโอลิมปิกวิชาการ เตรียมอุดมฯ ตะลุยด้านวิชาการ บนแนวคิด 'ไม่เครียด-ไม่กดดันตัวเอง'

จากรายการ Y WORLD THE MAGNET ดึงมาคุย ลุยความคิด ตอนที่ 4 ออกอากาศเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 67 ได้สัมภาษณ์ 'น้องปีใหม่' หรือ ปาณิสรา โฆษิตสุรังคกุล นักเรียนทุนโอลิมปิกวิชาการ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยน้องปีใหม่ได้มาแชร์การเตรียมตัวสอบ อาชีพในอนาคต และแนวทางด้านการศึกษาของตัวเอง ดังนี้

❓️Q: ความรู้สึกของการสอบเข้าเตรียมอุดม เป็นอย่างไรบ้าง?
👩น้องปีใหม่: ก็ถือว่าข้อสอบก็ยาก แต่คิดว่าอยู่ในขอบเขตที่หนูเตรียมตัวมาค่ะ

❓️Q: เล่าประวัติการศึกษาและการแข่งขัน
👩น้องปีใหม่: เรียนอนุบาลที่โรงเรียนอนุบาลฉัตรเฉลิม เรียนประถมที่โรงเรียนสาธิตเกษตรฯ เรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนมัธยมปัญญารัตน์ แล้วก็จะศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ส่วนการแข่งขันที่ผ่านมาของหนู หนูเริ่มแข่งขันตั้งแต่ ป.2 เริ่มจากสนามราชภัฏพระนครเป็นแข่งขันคณิตศาสตร์ค่ะ

ในตอนนั้นคุณแม่เห็นแววว่าหนูสอบได้เหรียญทองแดง โดยที่หนูไม่ได้เรียนพิเศษหรือเตรียมตัวอะไรมากสําหรับสอบ จึงเริ่มปั้นให้เป็นเด็กแข่ง และก็แข่งมาเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้ค่ะ

แต่ว่าพอเริ่มเป็นเด็กแข่งแล้ว หนูก็ไปติว เพื่อให้มีความรู้เพิ่มเติม นอกจากที่โรงเรียนสอน

❓️Q: มาสอบเข้าเตรียมอุดมฯ โควตาโอลิมปิกวิชาการได้อย่างไร?
👩น้องปีใหม่: หนูก็รู้ข่าวจากพ่อแม่ค่ะ เพราะว่าหนูก็มีรุ่นพี่ และพ่อแม่ของรุ่นพี่เขาก็แนะนำมาว่ามีเข้าด้วยโอลิมปิกวิชาการ เนื่องจากเป็นกลุ่มเด็กแข่งเหมือน ๆ กัน ก็เลยได้รับคำแนะนำต่าง ๆ มาเยอะเลยค่ะ ทั้งเรื่องการสอบ การทำพอร์ต และขั้นตอนต่าง ๆ 

สําหรับขั้นตอนการสมัครก็คือจะต้องไปยื่นพอร์ตก่อนที่จะสอบรอบจริง แต่ว่าโควตาโอลิมปิกวิชาการ จะประกาศผลก่อนวันสอบธรรมดาประมาณ 3 วัน จะมีประกาศรายชื่อคนผ่านเข้าเกณฑ์ก่อน 

หลังยื่นพอร์ตเสร็จแล้วก็ต้องไปสัมภาษณ์ ซึ่งการสัมภาษณ์ ก็จะดูว่าสามารถพรีเซนต์พอร์ตอย่างไรบ้าง ได้ไปทํามาจริง ๆ หรือไม่?

❓️Q: แนะนำการเตรียมตัวสำหรับการยื่นพอร์ตหน่อย ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง?
👩น้องปีใหม่: ลองศึกษาจากพอร์ตของคนที่เคยยืนติดก็ได้ค่ะ สำหรับหนูก็แต่งพอร์ตให้มีความสวยงาม ใส่ผลงานของเรา เช่น เกียรติบัตร และเขียนคําอธิบายไว้ด้วย ส่วนตอนเข้าห้องสัมภาษณ์ ก็เล่าประสบการณ์ กิจกรรมที่เคยทำ หรือเล่าผลงานที่เคยได้รับรางวัล ตามที่เขียนไว้ในพอร์ตค่ะ

❓️Q: ขณะสัมภาษณ์กดดันมากไหม? แล้วเตรียมตัวเยอะไหม?
👩น้องปีใหม่: ค่อนข้างกดดันค่ะ แต่ว่าหนูก็ยิ้มสู้ เพราะว่าก็ไม่มีอะไรต้องกลัว ส่วนเรื่องการเตรียมตัว หนูเตรียมตัวไม่เยอะค่ะ เพราะว่าเขาไม่ได้ถามคําถามเพื่อวัดอะไร แต่แค่ฟังเราพรีเซนต์ในสิ่งที่เราทำมาค่ะ

❓️Q: สอบติด 3 โรงเรียน (มหิดลวิทยานุสรณ์ กําเนิดวิทย์ เตรียมอุดมฯ) ทําไมถึงเลือกโรงเรียนเตรียมอุดม?
👩น้องปีใหม่: หนูเลือกเรียนเตรียมอุดม เพราะว่าเดินทางสะดวก อยู่ใกล้ที่พัก และเตรียมอุดมฯ น่าจะตอบโจทย์ที่สุด หนูฝันอยากเป็นแพทย์จุฬาฯ เมื่อเทียบแล้ว คนที่จบเตรียมอุดมฯ ส่วนใหญ่ไปเรียนแพทย์จุฬา ถ้าหนูอยู่เตรียมอุดมฯ ก็จะมีเพื่อนที่ช่วยเรียนแล้วก็ผลักดันให้เป็นแพทย์จุฬาฯ ไปด้วยกันค่ะ 

❓️Q: ด้วยความเป็นเด็กวิชาการ คิดว่าตัวเองเครียดไหม?
👩น้องปีใหม่: ความเครียดมันไม่ค่อยอยู่ในพจนานุกรมของหนูค่ะ เพราะว่าหนูปรับตัวมาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ แล้วที่ต้องเรียนเพิ่มจากที่เรียนในโรงเรียน และก็ปรับตัวมาเรื่อย ๆ จนไม่ได้รู้สึกว่ากดดันเพิ่มจากปกติค่ะ

หนูคิดว่าความเครียดไม่ได้ช่วยให้งานเราดีขึ้น เราต้องประเมินตัวเอง แล้วทําตามความสามารถเรามากกว่า

❓️Q: งานอดิเรกที่ชอบทำมีอะไรบ้าง?
👩น้องปีใหม่: หนูชอบดูอะนิเมะมากค่ะ นอกจากนี้จะเป็นการตัดต่อภาพวิดีโอ คอสเพลย์ และเล่นเกมค่ะ

❓️Q: คิดครอบครัวมีส่วนช่วยในเรื่องของการเรียนมากน้อยแค่ไหน?
👩น้องปีใหม่: ครอบครัวหนูสนับสนุนด้านการเรียน แต่ไม่เคยบังคับค่ะ ส่วนมากแม่จะหาข้อมูลแล้วให้หนูตัดสินใจเอง เช่น เรียนต่อที่โรงเรียนไหน บางครั้งก็คิดไม่ตรงกัน แต่แม่ก็ตามใจหนูค่ะ แม่บอกเสมอว่าชีวิตหนู หนูก็ต้องเลือกและตัดสินใจเอง ซึ่งก็ทําให้หนูพยายามแล้วก็ภาคภูมิใจมากขึ้น 

❓️Q: ช่วยเล่าที่มาของความฝันอยากเป็นแพทย์จุฬาหน่อย
👩น้องปีใหม่: ความฝันของหนูเริ่มมาจากว่าหนูเกิดมาจากฝีมือหมอค่ะ หนูก็เลยคิดว่าอาชีพหมอสูติฯ ที่ทํากิฟต์เพื่อให้คนมีลูก จะทําให้คนมีความสุข สมหวัง แม้ว่าพ่อแม่จะจบวิศวะ แต่ก็ไม่ได้กดดันให้หนูเรียนวิศวะค่ะ หนูอยากเป็นหมอ ครอบครัวก็ให้หนูตัดสินใจเอง ก็เลยตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นหมอที่แพทย์จุฬาฯ แล้วก็อาจจะไปเรียนต่อเฉพาะทางที่ต่างประเทศ

❓️Q: แนะนำเพื่อน ๆ ที่อยากสอบติดโควตาโอลิมปิกหน่อย ต้องทำอย่างไรบ้าง?
👩น้องปีใหม่: ควรเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ ค่ะ ค่อย ๆ เก็บไปทีละน้อย ต้องมีวินัยค่อนข้างมาก จะได้ไม่ต้องมาเรียนอัดตอนช่วงใกล้สอบ 

❓️Q: ให้กำลังใจเพื่อน ๆ ที่กำลังท้อกับการเรียน การสอบหน่อย
👩น้องปีใหม่: ต้องดูเป็นขั้นตอน หากรู้สึกว่ายังทำไม่ได้ แต่เป้าหมายใกล้เข้ามาแล้ว ก็ต้องเข้มงวดกับตัวเองมากขึ้น แต่ไม่ใช่กดดันตัวเองนะคะ เพราะยิ่งกดดัน ทุกอย่างก็ยิ่งแย่ลง

❓️Q: กรณีอ่านหนังสือสอบไม่ทัน ช่วยแนะนำทริกอ่านหนังสือสอบให้เพื่อน ๆ หน่อย
👩น้องปีใหม่: ปกติหนูจะฝึกจากแนวข้อสอบเก่าค่ะ 
อาจจะไปหาหนังสือที่มีแนวข้อสอบเก่ามาอ่าน ฝึกทำข้อสอบเก่า ๆ ดูว่าเรื่องไหนออกบ่อย จึงไปอ่านเรื่องนั้น ๆ ค่ะ

❓️Q: หากคุยกับตัวเองในอีก 10 ข้างหน้าได้ อยากจะบอกหรือถามอะไรตัวเอง?
👩น้องปีใหม่: 10 ปีข้างหน้าหนูก็จะบอกว่าหนูจะสามารถเป็นอาชีพที่หนูต้องการได้ ซึ่งอาจจะถามว่าหนูมีความสุขกับการที่เป็นหมอจริง ๆ ใช่ไหม เพราะเป็นอาชีพที่หนูอยากเป็นมาตลอด อยากถามตัวเองว่าเรียนหมอแล้วมีความสุข ได้ลองดูอาจารย์ใหญ่ ได้เรียนชีววิทยาแบบที่ต้องการ มีความรู้สึกยังไงบ้าง อยู่สบายดีไหม ถามประมาณนี้ค่ะ

❓️Q: ยึดถือคติอะไรในการดำเนินชีวิต?
👩น้องปีใหม่: สำหรับหนู 'อะไรที่ผ่านไป แล้วอะไรที่มันเกิดขึ้นไปแล้ว มันดีเสมอ' เพราะว่าการที่เราจมปลักกอยู่กับความผิดพลาดในอดีต มันไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย แต่ว่าในทางกลับกัน ต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นไปแล้ว แล้วคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันเรามาถึงตอนนี้ เพราะว่าก่อนจะประสบความสําเร็จก็ต้องเคยผ่านความล้มเหลวมาก่อน ต้องเปลี่ยนมุมมองที่เราจะมองความผิดพลาดค่ะ

❓️Q: อยากขอบคุณใครบ้างที่ช่วยผลักดันเราจนมาถึงวันนี้?
👩น้องปีใหม่: หนูขอขอบคุณการสนับสนุนจากครอบครัวและโรงเรียนค่ะ เพราะที่โรงเรียนไม่ได้บังคับหรือรั้งให้หนูเรียนต่อที่เดิม แต่กลับส่งเสริมและให้กำลังใจหนูค่ะ และขอขอบคุณเพื่อน ๆ ทุกคนที่ช่วยกันติว แบ่งปันความรู้กันค่ะ

📌ติดตามชมสัมภาษณ์เต็มได้ที่: https://youtu.be/XjJB5ruN6ow?si=p-zddn5KEBMcnGK4

เปิดรับสมัครแล้ว!! 'ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น' ปีการศึกษา 2568 ใครคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ กรอกใบสมัครได้เลย!!

(19 เม.ย.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jeducation เรียนภาษาญี่ปุ่น เรียนต่อญี่ปุ่น’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ปี 2568 เปิดรับสมัครแล้ว โดยระบุว่า…

หลังจากที่เปิดรับสมัคร ‘ทุนนักศึกษาวิจัย’ ไปแล้วก่อนหน้านี้ ตอนนี้สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ประกาศรับสมัคร ‘ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น’ ประจำปีการศึกษา 2568 Japanese Government (MEXT) Scholarship 2025 อีก 3 ประเภทแล้วค่ะ

>> #ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นคือ?
- ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นทุนการศึกษาแบบให้เปล่า สนับสนุนค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่าแรกเข้าและค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน (ยกเว้นค่าสอบเข้า) รวมถึงค่าเดินทางไปกลับไทย-ญี่ปุ่น
- ไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ เลือกเรียนได้ทุกสาขาวิชา ที่สถาบันการศึกษาในญี่ปุ่นเปิดสอน
- ประเทศไทยเปิดรับสมัครทุนหลากหลายประเภทและระดับ

>> #ประเภทที่เปิดรับสมัคร
- ทุนนักศึกษาปริญญาตรี  (Undergraduate Students) ศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี
สำหรับผู้สนใจสมัครกรุณาศึกษารายละเอียด และดาวน์โหลดเอกสารใบสมัครจากลิงก์ด้านล่างนี้
https://www.th.emb-japan.go.jp/itpr_th/undergraduate.html

========

- ทุนนักศึกษาวิจัย  (Research Students) ศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโท เอก (ประกาศรับสมัครไปก่อนหน้านี้)
สำหรับผู้สนใจสมัครกรุณาศึกษารายละเอียด และดาวน์โหลดเอกสารใบสมัครจากลิงก์ด้านล่างนี้
https://www.th.emb-japan.go.jp/itpr_th/research.html

========

- ทุนนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยี (College of Technology Students) ศึกษาต่อระดับวิทยาลัยเทคโนโลยี หรือ โคเซ็น
- ทุนนักศึกษาวิทยาลัยฝึกอบรมวิชาชีพ (Specialized Training College Students) ศึกษาต่อในวิทยาลัยอาชีวศึกษา หรือเซมมงกักโค 

สำหรับผู้สนใจสมัครกรุณาศึกษารายละเอียด และดาวน์โหลดเอกสารใบสมัคร ได้ที่เว็บไซต์ สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดฯ กระทรวงศึกษาธิการ (ลิงก์ด้านล่าง)
https://www.bic.moe.go.th/.../2021-08-19-21-31-57/3013-2568

========

>> #ลิงก์สำคัญ

- สรุปข้อมูลทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแต่ละประเภท (ภาษาไทย)
https://www.th.emb-japan.go.jp/files/000521283.pdf

- ตัวอย่างข้อสอบเก่า
https://bit.ly/mon_exam

>> หมายเหตุ เจเอ็ดดูเคชั่น ประชาสัมพันธ์ข่าวสารทุนฯ เท่านั้น กรณีมีข้อสงสัยกรุณาสอบถามโดยตรง ตามวันเวลาทำการที่…

สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
Japan Information Service (ฝ่ายทุนการศึกษา)
Tel: 0-2207-8504, 0-2696-3004
Office Hours: 09.00-12.00 / 13.30 - 16.00 (Monday - Friday)
E-mail: japanese-scholarship@bg.mofa.go.jp

สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ ในวันจันทร์ - ศุกร์ (เว้นวันหยุดราชการ)  052-012500 ต่อ 190 (กรณีสอบข้อเขียนที่เชียงใหม่)

‘เตรียมอุดมฯ’ ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือก ‘บัญชีรายชื่อสำรอง’ ครั้งที่ 2 เพื่อเข้าศึกษาระดับชั้น ม.4 หลังมีที่ว่างจากการสละสิทธิ์ จำนวน 63 ราย

(19 เม.ย. 67) ตามประกาศโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เรื่องการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2567 และประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2567 ประกาศ ณ วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567 ทั้งนี้ จากการรายงานตัวและมอบตัวนักเรียน เมื่อวันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2567 ปรากฏว่ามีที่ว่างจากการสละสิทธิ์ของนักเรียนจำนวน 63 คน จากการประชุมคณะกรรมการการรับนักเรียนระดับโรงเรียน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในการประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2567 มีมติเห็นชอบให้เรียกนักเรียนที่สอบได้เพิ่มเติมจากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทสอบคัดเลือกทั่วไป

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จึงประกาศเรียกนักเรียนที่สอบได้เรียงตามลำดับสำรอง ประเภทสอบคัดเลือกทั่วไปเพื่อรายงานตัวและมอบตัว เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตามแผนการเรียน จำนวน 63 ราย ดังนี้

1.ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 2 แผนการเรียนวิทย์ - คณิต
https://www.triamudom.ac.th/website/images/2567/6704_M4v2_STD01.pdf 

2.ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 2 แผนการเรียนภาษา - คณิต
https://www.triamudom.ac.th/website/images/2567/6704_M4v2_STD02.pdf 

3.ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 2 แผนการเรียนภาษา - ฝรั่งเศส
https://www.triamudom.ac.th/website/images/2567/6704_M4v2_STD03.pdf 

4.ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 2 แผนการเรียนภาษา - เยอรมัน
https://www.triamudom.ac.th/website/images/2567/6704_M4v2_STD04.pdf 

5.ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 2 แผนการเรียนภาษา - ญี่ปุ่น
https://www.triamudom.ac.th/website/images/2567/6704_M4v2_STD05.pdf 

6.ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 2 แผนการเรียนภาษา - จีน
https://www.triamudom.ac.th/website/images/2567/6704_M4v2_STD06.pdf 

7. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 2 แผนการเรียนภาษา - สเปน
https://www.triamudom.ac.th/website/images/2567/6704_M4v2_STD07.pdf 

8. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จากบัญชีรายชื่อสำรอง ประเภทการสอบคัดเลือกทั่วไป ครั้งที่ 2 แผนการเรียนภาษา - เกาหลี
https://www.triamudom.ac.th/website/images/2567/6704_M4v2_STD08.pdf 

ทั้งนี้ ให้นักเรียนที่สอบผ่านการคัดเลือกปฏิบัติ ดังนี้

1.ผู้ปกครองนำนักเรียนมารายงานตัวและมอบตัว ในวันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 08.30 น. ณ ห้องเกียรติยศ 111 ตึก 2 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หากไม่รายงานตัวและมอบตัวในวันเวลาดังกล่าว ถือว่าสละสิทธิ์

2. ผู้ปกครองจะต้องนำนักเรียน เข้าร่วมโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ตามประกาศทางเว็บไซต์ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

หากนักเรียนไม่ปฏิบัติตามที่โรงเรียนกำหนด จะถือว่าสละสิทธิ์

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมาตรการของโรงเรียน และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร ที่เว็บไซต์ www.triamudomacth และเพจงานประชาสัมพันธ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

'ในหลวง ร.๑๐' ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ๙ แห่ง เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ดูแลเด็กยากลำบาก สถานภาพด้อยกว่าเด็กปกติทั่วไป ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ เพจเฟซบุ๊กชื่อ ‘พระลาน’ ได้โพสต์ข้อความพร้อมระบุว่า… “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ๙ แห่ง เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์

เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปลี่ยนชื่อโรงเรียน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยให้ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน ๙ แห่ง อยู่ในความดูแลของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมตราสัญลักษณ์โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานตามที่ขอพระมหากรุณา ดังนี้

๑. ทรงพระราชทานรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน ๙ แห่ง เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ หมายเลข ๕๘-๖๖ ประกอบด้วย

๑) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์บางกรวย เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๕๘ จังหวัดนนทบุรี
๒) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่ฮ่องสอน เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๕๙ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
๓) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๐ จังหวัดเชียงใหม่
๔) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๑ จังหวัดเชียงใหม่
๕) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๒ จังหวัดเชียงราย
๖) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๓ จังหวัดร้อยเอ็ด
๗) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์สุราษฎร์ธานี เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๔ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๘) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุง เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๕ จังหวัดพัทลุง
๙) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นราธิวาส เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๖ จังหวัดนราธิวาส

๒. ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทุกแห่ง 

‘โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์’ ทั้ง ๙ แห่ง ที่คัดเลือกมานี้เป็นโรงเรียนที่ดูแลเด็กที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ด้อยกว่าเด็กปกติทั่วไป จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนและอยู่ในมูลนิธิฯ จะทำให้ผู้เรียนได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษา ได้รับโอกาสอย่างทัดเทียม มีประสิทธิภาพทั้งวิชาการและทักษะอาชีพ เช่น เกษตรกรรม ทำอาหาร ฯลฯ มากยิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมความสามารถด้านดนตรี ศิลปะ และกีฬา ปลูกฝังให้นักเรียนมีจิตสำนึกในความเป็นไทย พัฒนาโรงเรียนให้ก้าวไปสู่การเป็นต้นแบบโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ อันคงไว้ซึ่งความรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับคณะครู บุคลากร และนักเรียน ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนและชุมชนดีขึ้น”

ประกาศแล้ว!! รายชื่อผู้แทนประเทศไทย แข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก ระดับทวีปเอเชีย 2567

จากกรณีเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Olympic ipst’ ได้โพสต์ประชาสัมพันธ์ เรื่อง ‘ประกาศผลการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ประจำปี พ.ศ. 2567’ พร้อมเอกสารระบุว่า…

ประกาศคณะกรรมการอำนวยการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2566 - 2567 เรื่อง ผลการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ประจำปี พ.ศ. 2567

ตามที่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ได้ดำเนินการจัดอบรมและสอบคัดเลือก
ภาคปฏิบัติการ วิชาฟิสิกส์ สำหรับการอบรมคัดเลือก ครั้งที่ 1 วิชาฟิสิกส์ ตั้งแต่วันที่ 8 - 23 มกราคม 2567 นั้น

ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ประจำปี พ.ศ. 2567 ตั้งแต่วันที่ 3 - 10 มิถุนายน 2567 ณ เมืองกัมปาร์ รัฐปรัก สหพันธรัฐมาเลเซีย จำนวน 8 คน มีรายชื่อดังต่อไปนี้

1. นายทัดภู อุดมเกียรติ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร
2. นางสาวธีร์จุฑา สุขแสง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร
3. นายภัทรภณ ธนพิทักษ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร
4. นายกันตพิชญ์ เพิ่มวัฒนชัย โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา กรุงเทพมหานคร
5. นายปัณณทัต รัตนะมงคลกุล โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา
6. นายธนัสร วรรณสม โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม เชียงราย
7. นายภพสุข สุเมธเชิงปรัชญา โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ระยอง
8. นายเวโรจน์ บุญราช โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ระยอง

ต่อมา (11 เม.ย. 67) ได้ออกประกาศเพิ่มเติม ระบุว่า ตามที่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งชันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ได้คัดเลือกนักเรียนเป็นผู้แทนประเทศไทยไป แข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ประจำปี พ.ศ. 2567 จำนวน 8 คน ไปแล้ว นั้น

เนื่องจาก นายเวโรจน์ บุญราช ได้สละสิทธิ์การเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับ
ทวีปเอเชีย ประจำปี พ.ศ. 2567 สสวท. จึงขอประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ประจำปี พ.ศ. 2567 ตั้งแต่วันที่ 3-10 มิถุนายน 2567 ณ เมืองกัมปาร์ รัฐเปรัก สหพันธรัฐมาเลเซีย เพิ่มเติม คือ นายพสธร จินดาวงศ์ จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา

นอกจากนี้ยังได้ประกาศผลการคัดเลือกนักเรียนเข้าอบรมคัดเลือก ครั้งที่ 2 วิชาเคมี ประจำปี พ.ศ. 2567 ระบุว่า…

ตามที่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ได้ดำเนินการจัดอบรมคัดเลือก ครั้งที่ 1 นักเรียนในโครงการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2567 วิชาเคมี จำนวน 3 ช่วง ดังนี้

1) การอบรมผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 6-28 ตุลาคม 2566
2) การอบรมระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 6-9 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์
พระรามหก
3) การอบรมระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 19-22 มีนาคม 2567 และสอบคัดเลือก ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ พระรามหก นั้น

สสวท. ขอประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้าอบรมคัดเลือก ครั้งที่ 2 วิชาเคมี ประจำปี พ.ศ. 2567 จำนวน 18 คน มีรายชื่อดังต่อไปนี้

1 นายพิทยุตม์ ผลพอตน เตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร
2 นายวสุพล จุทานพมณี เตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร
3 นายธราเทพ เลิศเพทาย ฤทธิยะวรรณาลัย กรุงเทพมหานคร
4 นายโรจน์วนิช ทองเที่ยงตรง ฤทธิยะวรรณาลัย กรุงเทพมหานคร
5 นายณัฏฐ์ ภัทรากรธาดา สวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
6 นายณัฐภัทร อุ่นซ้อน สารสาสน์วิเทศร่มเกล้า กรุงเทพมหานคร
7 นายณัฐกร เหมสนิท มหิดลวิทยานุสรณ์ นครปฐม 
8 นายปรเมศวร์ แสงแก้วสุข มหิดลวิทยานุสรณ์ นครปฐม
9 นายพีรดนย์ แซ่จึง มหิดลวิทยานุสรณ์ นครปฐม 
10 นายอภิวิชญ์ บุญคง มหิดลวิทยานุสรณ์ นครปฐม
11 นายพชพล ภิริยารมย์ ราชสีมาวิทยาลัย นครราชสีมา
12 นางสาวอัญชลิสา ดวงภานุมาส วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ปทุมธานี

13 นายแทนชนม์ บุญครอง กำเนิดวิทย์ ระยอง
14 นายนนท์ปวิธ โกเฮง กำเนิดวิทย์ ระยอง
15 นายพีรกร ตรีจักรขจร กำเนิดวิทย์ ระยอง
16 นางสาวรวิสรา โชคดีพาณิชย์ กำเนิดวิทย์ ระยอง
17 นายวีร์ มาลานนท์ ระยองวิทยาคม ระยอง
18 นายกานต์ธเนศ เนตรประภิศ กรรณสูตศึกษาลัย สุพรรณบุรี

ให้ผู้มีรายชื่อข้างต้นไปเข้าอบรมคัดเลือก ครั้งที่ 2 วิชาเคมี ประจำปี พ.ศ. 2567 ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด โดยจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบภายหลัง ซึ่งการเข้าร่วมการอบรมดังกล่าว จะต้องเป็นไปตาม
ความสมัครใจของผู้ที่ได้รับคัดเลือก โดยมีเงื่อนไขในการเข้าร่วมการอบรมคัดเลือก ครั้งที่ 2 ดังนี้

1. นักเรียนสามารถเข้าอบรมและเข้าสอบได้เต็มเวลาที่กำหนด
2. หากนักเรียนไม่ปฏิบัติตามระเบียบของการเข้าอบรมและการสอบคัดเลือก จะถูกตัดสิทธิ์การเข้าอบรม
และการสอบคัดเลือก
3. การคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2567 จะพิจารณาตามความสามารถด้านวิซาการและด้านจิตพิสัย โดยผลการตัดสินของคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2567 ถือเป็นที่สิ้นสุด

สื่อจีนประมวลภาพ ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ เสด็จเยือน ‘ม.ปักกิ่ง’ สะท้อนความสัมพันธ์อันดีงามระหว่าง ไทย-จีน ที่มีอย่างยาวนาน

เมื่อวานนี้ (9 เม.ย. 67) รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘Aksornsri Phanishsarn’ กรณี กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จเยือนมหาวิทยาลัยปักกิ่ง โดยระบุว่า…

“กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จเยือนมหาวิทยาลัยปักกิ่ง Peking University, April 2024 🇨🇳 #สื่อจีน นำเสนอข้อมูลและประมวลภาพที่น่าประทับใจ 🇹🇭 #เจ้าหญิงของไทยเยือนจีน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไว้อย่างไรบ้าง 🥰 คลิกชมได้เลยค่ะ https://mp.weixin.qq.com/s/rshJdP0Wem9pxHWv3CTYjA

นอกจากนี้ยังได้โพสต์ข้อความเพิ่มเติมอีกว่า “โดยปกติ ช่วงต้นเดือน เม.ย. (หลังวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เม.ย.) พระเทพฯ จะเสด็จเยือนจีนนะคะ (ยกเว้นช่วงโควิด จีนปิดประเทศ) การเสด็จเยือนจีนช่วงต้น เม.ย. พระเทพฯ ก็จะเสด็จเยือน ม.ปักกิ่งด้วย และม.ปักกิ่งจะเตรียม HBD cake ถวายพระเทพฯ แบบนี้มาโดยตลอดด้วยค่ะ 🥰 นี่คือส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ที่ดีงามอย่างยาวนานระหว่างไทย-จีน 🇹🇭🇨🇳นะคะ”

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 เวลา 23.28 น. ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้เสด็จนิวัตพระนคร แล้วประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และเมื่อถึงงานพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอิสริยยศเมื่อประสูติว่า ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี’ โดยพระนามของพระองค์มาจากพระนามและนามของพระประยูรญาติหลายพระองค์ อันได้แก่

- สร้อยพระนาม ‘สิริ’ มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- สร้อยพระนาม ‘วัฒนา’ มาจากพระนามาภิไธยเดิมของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ สว่างวัฒนา
- พระนาม ‘อุบลรัตน’ มีความหมายว่า บัวแก้ว มาจากนามของหม่อมหลวงบัว กิติยากร

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตรัสเรียกว่า ‘เป้’ อันเป็นคำลดรูปของคำว่า ลาปูเป (ฝรั่งเศส: La Poupée ตุ๊กตา) ส่วนพระราชวงศ์และบุคคลอื่น ๆ จะเรียกพระองค์ว่า ‘ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงใหญ่’ ส่วนพระอนุชาและพระขนิษฐาจะเรียกพระองค์ว่า ‘พี่หญิง’

พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการในด้านการรณรงค์ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดจนเป็นที่ประจักษ์ ทรงให้การช่วยเหลือราษฎร และให้โอกาสผู้พิการ เยาวชน ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่า งๆ อีกทั้งยังทรงแสดงภาพยนตร์ตามบทพระนิพนธ์หลายเรื่อง รวมทั้งทรงเป็นผู้ดำเนินรายการที่เป็นประโยชน์แก่สังคมด้วย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระวันคล้ายวันประสูติ ประชาชนชาวไทยจึงขอน้อมถวายพระพร ขอทรงมีพลานามัยแข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ

เปิด Timeline 'รถไฟไทย' สัญลักษณ์แห่งความเจริญของบ้านเมือง

ส่องความเจริญของ ‘รถไฟไทย’ ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และในอนาคต มีอะไรบ้างมาดูกัน!! ✨🇹🇭

‘รร.ในชุมพร’ ประกาศยกเลิกระเบียบการแต่งกายนักเรียน หลังโดนดรามาสนั่น เหตุห้ามเด็ก ‘กันคิ้ว-แต่งหน้า-ใส่คอนแทคเลนส์-พกมือถือ’ ถ้าเจอจะยึดไม่คืน

(2 เม.ย.67) จากกรณีโลกโซเชียลมีการวิพากษ์วิจารณ์ โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.สวี จ.ชุมพร เผยแพร่กฎระเบียบและเครื่องแบบการแต่งกาย บนเฟซบุ๊กแฟนเพจของโรงเรียน โดยห้ามนักเรียนพกมือถือ-อุปกรณ์แต่งหน้า หากตรวจพบจะถูกยึดและไม่คืนให้ทุกกรณี รวมถึงห้ามกันคิ้ว ห้ามแต่งหน้า ห้ามใส่คอนแทคเลนส์ ซึ่งปรากฏอยู่ในข้อ 11, 12, 14, 15 และ 16 มีรายละเอียดดังนี้

- ข้อ 11 คิ้ว ไม่ถอน ไม่โกน ไม่กัน ไม่เขียนคิ้ว
- ข้อ 12 ใบหน้า ไม่ตกแต่งใบหน้าด้วยเครื่องสำอางทุกชนิด
- ข้อ 14 ห้ามใส่คอนแทคเลนส์ กรณีสายตาสั้นให้ใส่แว่นตา
- ข้อ 15 ห้ามนำอุปกรณ์การใช้โทรศัพท์ทุกชนิดมาโรงเรียน หากตรวจพบทางโรงเรียนจะเก็บอุปกรณ์เหล่านั้นและไม่คืนให้ในทุกกรณี
- ข้อ 16 ห้ามนำอุปกรณ์การแต่งหน้า ทำผม และเครื่องประทินผิวทุกชนิดมาโรงเรียน หากตรวจพบทางโรงเรียนจะเก็บอุปกรณ์เหล่านั้นและไม่คืนให้ในทุกกรณี

หลังจากข้อความนี้ถูกเผยแพร่ออกไป มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้าไปแสดงความคิดเห็นในเพจของโรงเรียนเป็นจำนวนมาก อาธิ เป็นการละเมิดสิทธินักเรียนหรือไม่ กฎดังกล่าวมีความเข้มงวดจนเกินไป ควรปรับเปลี่ยนกฎให้ทันโลกนั้น 

ล่าสุด เว็บไซต์ของโรงเรียนได้ออกประกาศ ยกเลิกระเบียบการแต่งตัวนักเรียน หลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ กรณีห้ามใส่คอนแทคเลนส์-ห้ามนำโทรศัพท์มือถือทุกชนิดมาโรงเรียน

๒ เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะทรงเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาทรงสำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญามหาบัณฑิตจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2529

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย พระองค์ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จนได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญาว่า ‘เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย’ และ ‘วิศิษฏศิลปิน’ ซึ่งต่อมา คณะรัฐมนตรียังมีมติให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็น ‘วันอนุรักษ์มรดกของชาติ’ เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ อาทิ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ก่อนจะขยายออกไปยัง 44 จังหวัดในพื้นที่ทุรกันดาร

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระวันคล้ายวันพระราชสมภพ ประชาชนชาวไทยจึงขอน้อมถวายพระพร ขอทรงมีพลานามัยแข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ

รู้จัก 'น้องไตตั้น' เด็กเก่งผู้สอบติดเตรียมอุดมฯ ด้วยคะแนนลำดับ 2 ของประเทศ มุ่งมั่นขอสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง (ทุนคิง) หวังนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาชาติ

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ 'น้องไตตั้น' เด็กชายปริญ มิตรารัตน์ เด็กเก่งจากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน ที่สามารถสอบติด ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ด้วยคะแนนเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ

โดยวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับน้องไตตั้น อีกหนึ่งเด็กไทยที่ทุกคำตอบมีความคิดไกลเกินวัยเด็ก 14 ปี ผ่านบทสัมภาษณ์นี้กันให้มากขึ้น...

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทุ่มเทของน้องไตตั้น เด็กชายปริญ มิตรารัตน์ ที่มีความขยันศึกษาหมั่นเพียร ทำให้เขาสามารถสอบติด ม.4 ถึง 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์, โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 

แต่สุดท้ายน้องไตตั้น ตัดสินใจเลือกเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เนื่องจาก ม.1-ม.3 เรียนที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ข้าง ๆ กัน สถานที่ใกล้เคียงกันทำให้ไม่ต้องปรับตัวเยอะ และการเลือกเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็เป็นการเปิดโอกาสในการสอบทุนเล่าเรียนหลวง (King’s Scholarship) หรือ ‘ทุนคิง’ ซึ่งเป็นทุนให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ศึกษาในไทยมีโอกาสไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในต่างประเทศได้

น้องไตตั้น เล่าให้ฟังว่า ตอนทราบผลสอบดีใจมาก คุณพ่อคุณแม่ก็ดีใจมากเช่นกัน ส่วนเหตุผลที่ทำให้สามารถสอบได้คะแนนสูงขนาดนี้? น้องไตตั้น บอกว่า "ผมเตรียมสอบทุกวิชามาเป็นอย่างดี ซึ่งวิชาที่ผมน่าจะทำได้ดี คือ คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่บ้านปลูกฝังให้เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล"

เมื่อถามว่าพลาดตรงไหนถึงทำให้ไม่ได้ที่หนึ่ง? น้องไตตั้นตอบว่า "ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ผมทำเต็มที่แล้ว ทุกคนที่มาสอบแข่งขันก็มีความเก่งเหมือนกันไม่ใช่ผมคนเดียว เก่งกันทุกคน ขึ้นอยู่กับจังหวะในวันสอบว่าเราพร้อมมากน้อยแค่ไหน"

เมื่อถามถึงแนวทางในการเตรียมตัวสอบและการใช้ชีวิต? น้องไตตั้น กล่าวว่า "ผมเรียนพิเศษมาเรื่อย ๆ และเริ่มจริงจังตอน ม.2 ซึ่งผมว่าการเตรียมตัวสอบไม่ได้มีวิธีเดียว บางคนชอบเรียนพิเศษก็สามารถเรียนได้ หรือบางคนชอบอ่านหนังสือแล้วฝึกทำโจทย์เองก็ได้ครับ แต่โดยปกติเมื่อเรียนพิเศษเสร็จ ผมก็จะกลับมาทบทวนบทเรียนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งส่วนตัวชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ส่วน Life Style การใช้ชีวิต ผมก็ไม่ได้อ่านหนังสือตลอดเวลา แต่ยังแบ่งเวลาเล่นกีฬา โดยเฉพาะบาสเกตบอล และผ่อนคลายด้วยการดูหนังฟังเพลง และเล่นเกมบ้าง"

เมื่อถามถึงความฝัน? น้องไตตั้น เผยว่า "อยากทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ วิศวกรคอมพิวเตอร์ เพราะชอบศึกษาด้าน Software ชอบเขียนโค้ด และตอนนี้ก็กำลังเข้าค่ายอบรมของ สอวน. (มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา) ค่ายที่ 2 ซึ่งการเข้าค่าย สอวน. เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้สนใจด้านคอมพิวเตอร์มากขึ้น"

น้องไตตั้น เสริมอีกว่า ส่วนอนาคตอันใกล้นี้ ตั้งเป้าหมายว่าอยากเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อต่อยอดทางการศึกษา และสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง (King’s Scholarship) เพื่อไปศึกษาต่อที่ Stanford University มหาวิทยาลัยระดับโลกที่มีชื่อเสียงในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านวิศวกรรม วิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยเมื่อเรียนจบตั้งใจนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาประเทศ"

เมื่อถามว่าอยากฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเรียนเก่ง จะต้องทำอย่างไรบ้าง? น้องไตตั้น เผยว่า "เริ่มแรกต้องตั้งเป้าหมายว่าอยากได้อะไร อยากเรียนที่ไหน อยากได้เกรดเท่าไหร่ และต้องเชื่อมั่นว่าทำได้ และเลือกเส้นทางดูว่า จะทำให้เดินไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างไร"

ท้ายสุด น้องไตตั้น ได้กล่าวขอบคุณ คุณพ่อคุณแม่ ที่ดูแลใส่ใจมาโดยตลอด และยังให้ความรักและกำลังใจในเรื่องการเรียน พร้อมทั้งบอกว่า ถ้าไม่มีท่านทั้งสอง ตนก็คงไม่มีวันนี้...

เปิด 10 ชุดนักเรียนสวยที่สุดในโลก จะมีประเทศไหนบ้าง มาดูกันเลย!! ✨✨

1. เกาหลีใต้ = ผู้หญิงมักจะสวมกระโปรงกับเสื้อเชิ้ต ส่วนผู้ชายจะเป็นกางเกงขายาว เสื้อเชิ้ต ผูกเน็คไทหูกระต่าย ให้ดูลูกคุณ ซึ่งโดยรวมการออกแบบนั้นจะพิถีพิถันและสะดุดตามีสไตล์อยู่เสมอ

2. ไทย = การออกแบบไม่ยุ่งยากจุกจิก กับเนื้อผ้าและสีผ้า มีเพียงแค่เชิ้ตสีขาวกับกระโปรง ก็สร้างความประทับใจได้ไม่ต่างกัน จนเป็นกระแสฮิตที่จีนและเวียดนาม

3. ญี่ปุ่น = การสวมเครื่องแบบนักเรียน เป็นข้อบังคับใน ม.ต้น และ ม.ปลายส่วนใหญ่
โดยผู้ชายจะสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว แจ็คเก็ตสีเข้ม ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อสีขาว แจ็กเก็ตสีเข้ม บวกกับกระโปรงที่มีเน็คไท หรือก็คือชุดทหารเรือ

4. เวียดนาม = ชุดนักเรียนหญิง จะพัฒนามาจากชุดอ่าวหญ่าย ที่เป็นชุดเเต่งกายประจําชาติ ใส่แล้วจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

5. ภูฏาน = จะสวมเครื่องแบบตามชุดประจําชาติของประเทศ

6. อังกฤษ = ปัจจุบันเครื่องแบบนักเรียนของอังกฤษส่วนใหญ่ จะมีสีหลักเป็นสีเขียวเข้ม สื่อถึงความสงบและเอื้อเฟื้อ

7. ฮ่องกง = ฮ่องกงได้สร้างรูปแบบเพิ่มเติม โดยใช้สีฟ้าหรือสีขาวเป็นสีพื้นฐาน โดยมีการผสมเฉดสีการตัดเย็บและการประดับตกแต่งที่แตกต่างกันตามแต่ละโรงเรียน

8. จีน = โรงเรียนส่วนใหญ่ยังคงรักษาเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมเอาไว้ โดยเด็กประถมจะแต่งเครื่องแบบคล้ายทหาร ใส่เสื้อสีขาวกับผ้าพันคอสีแดง ส่วนนักเรียนหญิงระดับมัธยมปลาย อนุญาตให้สวมชุดจีนโบราณได้ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเสื้อเชิ้ตที่มีสไตล์จากชุดกี่เพ้า พร้อมสวมคู่กับกระโปรง

9. มาเลเซีย = เด็กผู้หญิงจะสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว สวมทับด้วยชุดกระโปรงสีฟ้าที่เป็นเอกลักษณ์ เรียกได้ว่าเป็นชุดนักเรียนที่กลายเป็นแฟชันสําหรับนักท่องเที่ยว ฮิตไม่แพ้ชุดนักเรียนไทยเลย ส่วนเด็กผู้ชายมักสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวกับกางเกงสีขาวหรือสีอื่น ๆ

10. ศรีลังกา = เครื่องแบบส่วนใหญ่จะเป็นสีขาว มีเพียงสีน้ำเงินเท่านั้นที่จะมิกซ์เข้ากัน และเด็กผู้หญิงทุกวัยจะสวมเสื้อผ้าที่มีโทนสีขาวเป็นหลัก ให้ดูเรียบง่าย และสะดุดตา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top